LOADING

Type to search

‘ตอบโจทย์ – ยั่งยืน’ เทรนด์ออกแบบบ้านปี 2023 เพื่อ ‘คนทำงาน’

‘ตอบโจทย์ – ยั่งยืน’ เทรนด์ออกแบบบ้านปี 2023 เพื่อ ‘คนทำงาน’

‘ตอบโจทย์ – ยั่งยืน’ เทรนด์ออกแบบบ้านปี 2023 เพื่อ ‘คนทำงาน’
Share

ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกับกระแส Green และ Sustainable ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และจะกลายเป็นเทรนด์ที่ขยายใหญ่ขึ้นต่อไป

ในแง่ที่อยู่อาศัยก็สอดรับกับกระแสดังกล่าวด้วย เช่น ‘Sustainable Architecture’ หรือ ‘สถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน’ ซึ่งเป็นงานออกแบบที่คำนึงถึงระบบนิเวศ และความยั่งยืนของธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ มีผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและคงอยู่เพื่อมนุษยชาติ รวมถึง ‘Green Architecture’ หรือ ‘สถาปัตยกรรมสีเขียว’ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้อาคารสามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติ และสร้างสมดุลระหว่างการประหยัดพลังงานและการอยู่อาศัย

การออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับกระแสดังกล่าว ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ทิศทางแดด ลม แสง เสียง และอากาศ เพื่อให้บ้านอยู่สบายขึ้น รวมถึงช่วยลดพลังงานที่ต้องใช้ และการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างหรือตกแต่ง เพื่อให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ผู้คนอยู่บ้าน (หรือห้อง) มากขึ้น ทำให้ใส่ใจและเห็นความสำคัญของการตกแต่งหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในแง่ความสวยงามและการใช้ชีวิต

สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อชีวิตการทำงาน เนื่องจากหลายองค์กรปรับเปลี่ยนใช้ระบบ Work from Home หรือทำงานที่บ้าน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตามนโยบายดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้คนจึงใช้เวลาอยู่บ้าน (หรือห้อง) มากขึ้น ทั้งในเวลาส่วนตัวและเวลางาน ที่อยู่อาศัยจึงถูกปรับให้เหมาะสม เพื่อรองรับชีวิตการทำงานกับบ้านมากขึ้นด้วย ตั้งแต่โต๊ะทำงานเล็กๆ มุมทำงาน ห้องทำงานโดยเฉพาะ หรือกระทั่งเปลี่ยนบางส่วนในบ้านเป็นออฟฟิศ (Home office หรือ Home Studio)

แม้ปัจจุบันโลกกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดใหญ่ แต่หลายองค์กรยังคงมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทั้งการสลับเข้าออฟฟิศบ้าง หรือกระทั่งทำงานที่บ้าน 100% ดังนั้น ในแง่การออกแบบหรือตกแต่งที่อยู่อาศัยจึงมีเงื่อนไขดังกล่าวเข้ามาประกอบด้วย ที่นอกเหนือจากความสวยงาม

‘จตุพล หาญโสภา’ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ‘ชาน อาคิเต็ก’ (Jhan Architects) สตูดิโอด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้สูงมักมีห้องหรือพื้นที่ทำงานอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังวิกฤตโควิด – 19 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางหรือน้อยลงมา ก็ต้องการห้องหรือพื้นที่ทำงานไว้ที่บ้านมากขึ้น

พื้นที่ทำงานส่วนตัวที่บ้านกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนยุคปัจจุบันต้องการ ซึ่งมีการออกแบบและการตกแต่งให้ตอบสนองความต้องการด้านการทำงานที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจัดพื้นที่สำหรับเป็นมุมโต๊ะทำงาน หรือกระทั่งเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของบ้านให้เป็น ‘โฮมออฟฟิศ’ อย่างจริงจัง

เทรนด์ ‘รีโนเวท’ (Renovate) ที่อยู่อาศัยเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป และสามารถปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบันได้ ส่วนหนึ่งจะมีการนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาร่วมในการออกแบบด้วย

“ปัจจัยหนึ่งที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการรีโนเวทที่อยู่อาศัย คือ ที่อยู่เดิมอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน การรื้อแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ตอบโจทย์ เนื่องจากบางคนอาจต้องการเก็บรักษาบางอย่างของบ้านหลังเดิมไว้ อาจเป็นทั้งในแง่ของสไตล์ รูปแบบ โครงสร้าง หรือแม้แต่ในแง่ความรู้สึก เช่น อยากรักษาความทรงจำบางอย่างไว้ ดังนั้น การรีโนเวทจึงเป็นทางเลือกที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้” จตุพล หาญโสภา กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ความต้องการของแต่ละคนนั้นหลากหลาย แม้แต่บ้านหลังเดียวกันที่มีผู้อยู่อาศัยหลายคน ก็ต่างมีความต้องการส่วนตัวแตกต่างกันไป ดังนั้น การออกแบบหรือรีโนเวท ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตหรือความต้องการของพวกเขา จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของการออกแบบตกแต่ง”

ด้าน ‘สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญถาวร กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเทรนด์การออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนคนอาจนิยมสไตล์ Minimal ต่อด้วยสไตล์ Luxury เป็นต้น แต่ปัจจุบันคนอิงตามกระแสนิยมที่เป็นแฟชั่นน้อยลง แต่โฟกัสกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนชื่นชอบแตกต่างกันไป จึงอาจเรียกได้ว่า เทรนด์การตกแต่งที่อยู่อาศัยของคนยุคปัจจุบัน จะเน้นไปที่ความหลากหลายจากความชื่นชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยไม่อิงตามสไตล์อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะเป็นไปในแนวทางนี้ในปีหน้าด้วย

โดยสรุป คือ ผู้คนให้ความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นหลัก รวมถึงใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยจึงต้องตอบโจทย์ชีวิตและความยั่งยืนให้ได้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนได้ปรับที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นสถานที่ทำงานด้วย ดังนั้น การออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยในยุคนี้ จึงต้องให้ความสนใจกับเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อ “ตอบโจทย์ความต้องการและความยั่งยืน” ไปพร้อมกัน

Sources:

https://shorturl.asia/4ISHa

https://shorturl.asia/bAov2

คำสัมภาษณ์ จตุพล หาญโสภา สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ชาน อาคิเต็ก (Jhan Architects)

คำสัมภาษณ์ สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญถาวร กรุ๊ป จำกัด

Tags::