LOADING

Type to search

ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้น แนะนำ 5 เครื่องมือหา ‘Insights’ ที่ดีและฟรีจาก ‘Google’

ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้น แนะนำ 5 เครื่องมือหา ‘Insights’ ที่ดีและฟรีจาก ‘Google’

ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้น แนะนำ 5 เครื่องมือหา ‘Insights’ ที่ดีและฟรีจาก ‘Google’
Share

“ปัจจุบันยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น”

ข้อมูลจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เราทำความเข้าใจพฤติกรรมหรือสถานการณ์บางอย่างของกลุ่มเป้าหมายเรา ซึ่งในโลกมีเครื่องมือทรงพลังหลายตัวที่เราสามารถเริ่มต้นใช้งานได้ฟรี ได้ทั้งงานธุรกิจระดับ SME ไปจนถึงบริษัท Enterprise ขนาดใหญ่

เมื่อเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาไว้ในมือ จะสร้างความได้เปรียบคนที่ไม่มีข้อมูล รวมถึงสร้างโอกาสที่เราจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าของเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการทำการตลาดอย่างมาก หากเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น นั่นอาจหมายถึงยอดขายหรือกำไรที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ผมขอแนะนำเครื่องมือของ “Google” ที่จะช่วยให้เรานำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ หา “insights” เพื่อช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจของเราให้ดีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรีของ Google

1. ดูว่าคนค้นหาคำว่าอะไรบ้างใน Google Trends

สำหรับค้นหาดูข้อมูลได้ฟรี คนค้นหาคำว่าอะไรกันบ้างใน Google Search ซึ่งจากรายงานของ Hubspot มีคนพิมพ์ค้นหาใน Google Search ประมาณ 63,000 ครั้งต่อวินาที คิดเป็น 5.2 พันล้านครั้งในหนึ่งวัน

Google สรุปข้อมูลเหล่านี้ (queries) และเปิดให้คนทั่วไปใช้งาน เรียกว่า เป็นเครื่องมือฟรีด้าน Big Data ที่เข้าใช้งานได้เลยผ่านเว็บไซต์

ตัวอย่างนี้ เราลองใส่ keywords สองคำคือ “BLACKPINK” และ “MILLI” ตัวเลขบนแกนตั้ง จะถูกปรับเป็น 0-100 โดยตัวเลข 100 คือ วันที่มีคนค้นหา keywords นั้นๆ เยอะที่สุด

เราสามารถเลือก setting ประเทศที่เราต้องการ ช่วงเวลาที่เราต้องการดึงข้อมูลย้อนหลังได้ถึงปี 2004 และสามารถ export ข้อมูลออกมาเป็นไฟล์ excel, csv เพื่อนำไปใช้งานอื่นๆ ได้ด้วย

ข้อดีของ Google Trends คือ เราสามารถเปรียบเทียบได้มากสุด 5 กลุ่ม keywords ในแถบ Add comparison ด้านบน และสามารถดูข้อมูลแยกเป็นภาคหรือจังหวัดในประเทศไทยได้

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น Related Queries ก็ช่วยบอกว่า เมื่อคนไทยค้นหาคำว่า “BLACKPINK” เขาอยากรู้เรื่องอะไรอีกบ้าง เช่น เพลง Pink Venom, Shutdown หรือรองเท้าแตะช้างดาวสีชมพูดำ ซึ่งสามารถนำไปใช้หา insights เพื่อทำการตลาดหรือต่อยอดอื่นๆ ต่อไปได้

2. วิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ของเราฟรีด้วย Google Analytics

เครื่องมือตัวที่สองคือ Google Analytics (GA) ถ้าเรามีเว็บไซต์และต้องการวัดผล performance ของเว็บไซต์ หรือแคมเปญการตลาดที่เราเล่นผ่าน social media ต่างๆ การใช้งาน GA จะช่วยเราวัดผลพวกนี้ได้ และใช้งานฟรีอีกด้วย (ไม่ต้องเสียเงินเหมือนเครื่องมือ enterprise อื่นๆ อย่าง Adobe Analytics)

ข้อมูลที่เราสามารถเห็นได้ใน GA เช่น

  • จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • เวลาเฉลี่ยที่ user เข้ามาดูเว็บไซต์ของเรา
  • หน้า page ไหนที่มีคนเข้าชมเยอะหรือน้อย
  • วิเคราะห์ user journey บนเว็บ
  • วิเคราะห์ funnel บนเว็บไซต์ที่มีฟีเจอร์ e-commerce ดูได้ครบทุก metrics ตั้งแต่ add-to-cart ไปจนถึง conversion และรายได้หรือรายได้เฉลี่ยต่อหนึ่งใบเสร็จ (order)

หน้า reports หรือรายงานของ GA จะแบ่งหลักๆ เป็น Acquisition, Engagement, Monetization, Retention ดูข้อมูลคนเข้าเว็บไซต์ของเราได้แบบ realtime

ถ้าเราใครอยากทำสาย marketing analytics สามารถต่อ GA ไปที่ Google BigQuery หรือ Google Data Studio เพื่อทำ custom report / dashboard ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปีหน้า GA เวอร์ชันเก่าหรือที่เราเรียกกันว่า Universal Analytics จะปิดให้บริการแล้ว อย่าลืมย้ายไปใช้เวอร์ชันใหม่หรือ GA4 กันด้วยนะครับ ฟีเจอร์ใหม่ดีๆ เพียบ

3. เว็บไซต์เราอยู่อันดับที่เท่าไรใน Google Search

เครื่องมือทรงพลังของ Google อีกหนึ่งตัวที่ search analyst หรือ SEO specialist ทุกคนต้องใช้เป็นคือ Google Search Console ไว้ใช้วัดผล organic traffic ที่วิ่งมาที่เว็บไซต์ของเรา

มาลองดูความหมายเบื้องต้นของ SEO กันก่อน

SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization เป็นการจัดการเนื้อหา โครงสร้างเว็บไซต์ และประสบการณ์ใช้งานบนเว็บไซต์ของเราให้เหมาะสม เพื่อที่จะช่วยเพิ่มอันดับของเว็บไซต์เราในหน้า search engine result pages (SERPs)

ยิ่งคนเห็นเว็บไซต์เราเยอะขึ้น ก็มีโอกาสกดเข้ามาชมเยอะขึ้น และมีโอกาสช่วยเพิ่มยอดขาย หรือ conversion ได้ในอนาคต ดังนั้น การทำ SEO จึงเป็นเรื่องสำคัญมากของการทำธุรกิจในปัจจุบัน

Google Search Console (GSC) จะวัดผลเว็บไซต์เราในเชิง organic คือ เป็น traffic ที่เกิดจากการทำ SEO แบบธรรมชาติ ไม่ใช่การซื้อโฆษณาหรือ google ads นักการตลาดนิยมใช้ GSC คู่กับ GA4 เพื่อวัดผลเว็บไซต์แบบ 360 องศา ครบทุกมิติทั้ง organic + paid traffic

สำหรับผู้เริ่มต้น ข้อมูลหลักๆ ที่เราควรดูจะมีอยู่ 4 ตัว ตามที่แสดงในรูปด้านบนคือ clicks, impressions, average CTR (click through rate) และ average position หรืออันดับในหน้า SERPs ยิ่งต่ำยิ่งดี (เข้าใกล้เลข 1 แปลว่า หน้าเว็บไซต์เราอยู่อันดับบนๆ)

4. ศึกษา keywords ที่คนไทยค้นหาใน Google

นักการตลาดใช้ Google Keyword Planner เพื่อประเมิณว่า keywords ที่เราสนใจมีปริมาณการค้นหา (search volume) ใน Google เท่าไร และ keywords อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถดูเทรนด์ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ว่า เป็นอย่างไร รวมถึงการแข่งขันของ keywords นั้นๆ ในกรณีที่เราต้องการจะซื้อโฆษณา bid แข่งกับ advertisers เจ้าอื่นๆ

ข้อมูลที่แสดงใน keyword planner มีประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะกับการซื้อ google ads เท่านั้น แต่รวมไปถึงนักการตลาดสาย content หรือ inbound marketing ที่อยากทำ keyword research ค้นหาเรื่องหรือ topic สำหรับขยายผลไปเขียนเนื้อหาใหม่ๆ ที่คนไทยกำลังสนใจ

เรื่องไหนกำลังมาแรงหรือกำลังเป็นกระแสเราอาจจะเห็นได้จากคอลัมน์ avg. monthly searches ถ้าเรามีการซื้อ ads ใน Google ด้วยคอลัมน์นี้จะเห็นเป็น trend line เล็กๆ ย้อนหลัง 2-3 เดือน

Keywords ที่กำลังเป็น trend มีปริมาณการค้นหาในระดับที่เหมาะสม ราคา bid ไม่แพงมาก และการแข่งขันไม่สูง อาจจะเป็น keyword ที่เราควรหยิบไปใช้งาน สร้าง content ใหม่ๆ ได้เลย

5. ดึงข้อมูลข่าวและข้อมูลประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต

เครื่องมือฟรีตัวสุดท้ายคือ Google Alerts สำหรับดึงข่าวสารและข้อมูล PR ประชาสัมพันธ์ต่างๆจากเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต

โดย Google จะไปสแกนหาข่าวตาม keywords ที่เราตั้งค่าไว้ และเลือกภาษาที่เราต้องการ เช่น ดึงเฉพาะข่าว “Samsung” ภาษาไทย ส่งตรงเข้า gmail ของเราทุกวัน

ตัวอย่าง ข่าวที่ดึงมาจากอินเตอร์เน็ต เราอยากจะเก็บข้อมูลในตลาดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในไทย ดูว่าใครมีข่าว PR ในอินเตอร์เน็ตมากหรือน้อยกว่ากัน เก็บข้อมูลเป็นรายวัน

เราสามารถนับจำนวนข่าว PR ต่างๆแบ่งตาม keywords ที่เราเลือกไว้ก็ได้ เช่น จำนวนเว็บไซต์หรือข่าวที่เขียนถึง Samsung เปรียบเทียบกับ Apple iPhone และแบรนด์อื่นๆ

ถ้าช่วงไหนคนเขียนข่าวถึงแบรนด์เราเยอะ ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีกับแบรนด์ แต่ต้องแยกให้ได้ระหว่าง organic และ paid PR ด้วยนะครับ

เห็นไหมว่า เครื่องมือเหล่านี้ ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อพัฒนาต่อยอดไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ต่อไปได้ ที่สำคัญยังเป็นเครื่องมือที่ดีและเริ่มต้นใช้ได้ฟรี ในแง่ธุรกิจจึงสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ เพื่อนๆ ลองเข้าไปใช้ดูครับ

Tags::

You Might also Like