LOADING

Type to search

แบ่งปันอนาคตที่วาดฝันไว้ เพื่อให้ทีมมองเป้าหมายร่วมกันชัดเจนขึ้น

แบ่งปันอนาคตที่วาดฝันไว้ เพื่อให้ทีมมองเป้าหมายร่วมกันชัดเจนขึ้น
Share

เป้าหมายเป็นสิ่งที่ต้องมีในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นได้ในหลายรูปแบบและหลายระดับตั้งแต่เป้าหมายระดับองค์กร แผนก ทีม หรือแม้แต่เป้าหมายของแต่ละวิชาชีพที่สอดคล้องกับค่านิยมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพนั้นๆ

แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่การไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นความสำคัญของเป้าหมายจะเกิดขึ้นในความคิดของคนในองค์กร อาจเกิดจากการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการอธิบายหรือทำความเข้าใจร่วมกันมากพอ

ซึซุกิ โยะชิยุกิ (Suzuki Yoshiyuki) ประธานกรรมการบริหารบริษัท COACH A ผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมโค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แนะนำ 3 วิธี ที่จะช่วยให้คุณแบ่งปัน อธิบาย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ ให้คนในทีมหรือองค์กรได้เห็นและเข้าใจ ดังต่อไปนี้

เจาะลึกถึงเป้าหมาย

ปกติในการทำงานก็เพื่อบรรลุ ‘เป้าหมาย’ ที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจหมายถึง ยอดขายที่สูงขึ้น ฐานลูกค้าที่มากขึ้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการชนะคู่แข่งในตลาด เป็นต้น

แน่นอนว่าในการทำธุรกิจย่อมหวังผลประกอบการที่เป็นกำไร แต่สำหรับคนทำงานอาจเกิดคำถามตามมาว่า บรรลุเป้าหมายแล้วยังไง? จึงจำเป็นต้องเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดของเป้าหมายในแง่มุมต่างๆ โดยทำความเข้าใจร่วมกัน

อาจเป็นการอธิบายให้เห็นว่า นอกจากผลประกอบการที่ดีขึ้นแล้ว สังคมจะได้อะไร พนักงานจะได้อะไร สอดคล้องกับค่านิยมหรือหลักการอย่างไร เช่น เป้าหมายคือการเป็นสำนักข่าวอันดับหนึ่ง (วัดจากยอดผู้ชม) เมื่อบรรุเป้าหมายแล้วสิ่งที่สื่อสารไปยังสังคมจะมีพลังมากขึ้น (เสียงดัง) ทำให้สามารถเสนอสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานก็มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น และเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนที่ดีควรทำด้วยเช่นกัน เป็นต้น

“เจาะลึกถึงรายละเอียดของ ‘เป้าหมาย’ ให้มากที่สุด”

อนาคตที่วาดฝันไว้

แต่ละคนต่างมีภาพของอนาคตที่วาดไว้ในเรื่องต่างๆ ทั้งการงาน ความรัก ครอบครัว หรือสังคม ให้ลองถามภาพแห่งอนาคตเหล่านั้นกับสมาชิกในทีม โดยเฉพาะเรื่องงานหรือสังคม และลองถามตัวคนเองด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้นำในสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาจมองภาพอนาคตไว้ว่า จะต้องทำให้หนังสือวิทยาศาสตร์ของสำนักพิมพ์เป็นที่แพร่หลายในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ เป็นหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดทุกที่ในประเทศ รวมถึงคาดหวังว่า จะสามารถยกระดับความรู้ ความคิดของผู้คนในสังคมได้ ผ่านเนื้อหาในหนังสือ เป็นต้น

อาจมีคนในทีมคิดเหมือนกัน แบ่งปันสิ่งเหล่านี้กับคนในทีมและนำมาผสมผสานเป็นภาพวากอนาคตของทีมที่มีร่วมกัน หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรด้วยยิ่งจะทำให้เห็นว่า ทั้งองค์กรและคนทำงานมีเป้าหมายร่วมกัน

“ถามถึงภาพอนาคตที่คาดหวัง แบ่งปัน และผสมผสานเข้าด้วยกัน”

อธิบายว่าทำไม

เป็นเรื่องปกติที่คนในองค์กรจะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ในการทำงานบางอย่าง แม้แต่เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ จึงจำเป็นต้องอธิบายว่า ทำไม ต้องทำหรือต้องเป็นอย่างนั้น

ตัวอย่างเช่น เป้าหมายที่ต้องการให้ได้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี เพราะจะทำให้บริษัทรอดพ้นจากการขาดทุนในปีนี้ได้พอดี หรือ ต้องส่งนักข่าวไปลงพื้นที่ทำข่าวการเมืองในการประชุมสภา เพราะเป็นสิ่งที่คนในประเทศจำเป็นต้องรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นหูเป็นตาของประชาชนว่าเหล่าผู้แทนทำอะไรอย่างไรกันบ้าง (ช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ผู้คนในประเทศ) เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องอธิบายให้เห็นว่า ‘ทำไม’ ต้องเป็นเช่นนั้น จึงจะสามารถเข้าใจร่วมกันและมุ่งไปสู่เป้าหมายบางอย่างร่วมกันได้

“อธิบายว่า ‘ทำไม’ ให้เห็นภาพ”

สรุป

เมื่อในทีมหรือในองค์กรมีปัญหาเรื่องการมองเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าจะต้อง ‘เจาะลึกถึงเป้าหมาย’ โดยแจกแจงรายละเอียดให้มากที่สุดเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจร่วมกัน

จากนั้นแบ่งปันภาพ อนาคตที่วาดฝันไว้ ว่าแต่ละคนคาดหวังที่จะให้เป็นแบบไหน และพยายามผสมผสานภาพแต่ละคนให้เป็นภาพของทีมหรือองค์กร

อย่าลืมที่จะ อธิบายว่าทำไม ต้องทำหรือต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ กิจกรรม หรือแนวคิดใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เห็นและเข้าใจว่าทำไม

จะทำให้ทีมหรือองค์กรเห็นภาพว่า เป้าหมาย คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไปทำไม

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล


Source: หนังสือ ‘Super Coaching ช่วยทีมขยายศักยภาพ สร้างสุดยอดผลลัพธ์’ เขียนโดย Suzuki Yoshiyuki แปลโดย วิธารณี จงสถิตวัฒนา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks

Tags::

You Might also Like