LOADING

Type to search

5 ปีข้างหน้าโลกอาจถึงกาลอวสาน! รู้จัก ‘Ecosia’ เสิร์ชเอนจินที่แค่เสิร์ชก็ช่วยโลกปลูกต้นไม้

5 ปีข้างหน้าโลกอาจถึงกาลอวสาน! รู้จัก ‘Ecosia’ เสิร์ชเอนจินที่แค่เสิร์ชก็ช่วยโลกปลูกต้นไม้
Share

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 เมษายน 2565) หากใครติดตามข่าวสารทางทวิตเตอร์ (Twitter) คงเห็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสทั้งในไทยและต่างประเทศ จนแฮชแท็ก (hashtag) #LetTheEarthBreath ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งอยู่พักใหญ่เลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของแฮชแท็กนี้ มาจากการที่ปีเตอร์ แคลมัส (Peter Kalmus) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) ถูกจับกุม เพราะออกมาประท้วง เพื่อแสดงจุดยืนว่า การที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติให้มีการสร้างโรงงานพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จะทำให้ปัญหา Climate Change ที่เป็นต้นตอของสภาพอากาศแปรปรวนมีความรุนแรงมากขึ้น และจะนำไปสู่การเกิดภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการขาดแคลนอาหาร จนในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งมีชีวิตหลายๆ สายพันธุ์อาจจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

นอกจากนี้ ปีเตอร์ยังได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงเหตุผลที่ต้องออกมาประท้วงว่า “มันถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องแสดงจุดยืน ถึงแม้ว่า จะต้องพบเจอกับความเสี่ยงมากมาย แต่การเสียสละเพื่อความสวยงามของโลกที่ให้ชีวิต และให้ทุกสิ่งอย่างกับเรา เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน”

หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ที่ปีเตอร์ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจลงในโซเชียลมีเดีย (Social Media) ผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างแสดงความไม่พอใจ และออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ในมุมมองต่างๆ ตามความคิดของตัวเอง

บ้างก็ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลช่างเป็นทางเลือกที่คร่ำครึในยุคที่มีพลังงานทางเลือกให้ใช้มากมายเสียจริง

บ้างก็ว่า ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน เพื่อช่วยโลกตั้งแต่ตอนนี้ เราคงได้ตายกันหมดแน่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้ใช้งานรายหนึ่งได้แสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า “ถ้าผู้ประกอบการได้ถือสัมปทานบนดวงอาทิตย์มาตั้งแต่แรก การใช้พลังงานทางเลือกคงเป็นจริงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และนักวิทยาศาสตร์คนนั้น ก็คงไม่ต้องออกมาประท้วงให้ถูกจับเช่นนี้”

จากเหตุการณ์การประท้วงของปีเตอร์ นอกจากจะสร้างแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ให้คนหันมาสนใจปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยังทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิดว่า เมื่อโลกกำลังจะถึงกาลอวสาน เราในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่งจะช่วยต่ออายุให้โลกได้อย่างไรบ้าง?

อย่างแรกคงเป็นวิธีการสุดเบสิกที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ลดการสร้างขยะพลาสติก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่พอมาคิดๆ ดูแล้ว ปริมาณของเสียหรือขยะที่คนหนึ่งคนสร้างมาชั่วชีวิต ก็ไม่อาจเทียบเท่าปริมาณของเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยออกมาในหนึ่งครั้งอยู่ดี

ดังนั้น การแสดงออกของผู้บริโภคถึงความต้องการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะพลังของผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการได้ และหากผู้บริโภคสนับสนุนแต่แบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แบรนด์อื่นๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายรายก็ได้ออกมาแนะนำผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองใช้อยู่ เพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้ไปหาซื้อตามกัน รวมถึงยังมีการแนะนำให้ใช้โปรแกรมค้นหา หรือเสิร์ชเอนจิน (search engine) รักษ์โลกที่มีชื่อว่า ‘อีโคเซีย’ (Ecosia) แทนเสิร์ชเอนจินเดิมที่ใช้อยู่ด้วย

แล้วอีโคเซียมีความพิเศษอย่างไร ทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็น ‘เสิร์ชเอนจินรักษ์โลก’ ?

อีโคเซีย คือเสิร์ชเอนจินสัญชาติเยอรมนี ที่มีภารกิจองค์กรในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ทั่วโลก โดยการเสิร์ชทุกๆ 45 ครั้ง จะเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1 ต้น เสมอ ซึ่งงบประมาณที่ทางบริษัทใช้ในการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะมาจากรายได้ของการเผยแพร่โฆษณานั่นเอง

นอกจากนี้ อีโคเซียยังมีการดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยจะมีการเปิดเผยรายได้ ค่าใช้จ่าย และสถิติการปลูกต้นไม้ในแต่ละเดือน เพื่อแสดงความโปร่งใสในการนำรายได้ไปใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โดยวิธีที่อีโคเซียใช้สำหรับการปลูกต้นไม้ทั่วโลกตามภารกิจองค์กรของตัวเอง ก็คือการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการเกษตรของประเทศนั้นๆ ทำให้การันตีได้ว่า ต้นไม้ที่นำมาปลูกมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี รวมถึงยังช่วยส่งเสริมการจ้างงานให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ซึ่งในไทยเอง อีโคเซียได้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรในภาคใต้ โดยได้ทำการปลูกต้นไม้อย่างกันเกราด่าง จำปา พะยอม และอื่นๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,000 ต้น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา

หลังจากที่ได้ลองใช้งานอีโคเซียจริงๆ ก็พบว่า ใช้งานไม่ยากอย่างที่คิด ความรู้สึกหลังการใช้งานไม่ได้แตกต่างกับเสิร์ชเอนจินเดิมที่เคยใช้อยู่อย่างกูเกิล (Google) หรือยาฮู (Yahoo) เลย ดังนั้น การใช้งานอีโคเซีย จึงถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่อยากช่วยสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการสร้างอาชีพของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน

จริงๆ แล้ว แนวคิดการทำธุรกิจของอีโคเซียให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ ถึงแม้ว่า กว่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา ต้องใช้เวลาไม่รู้กว่ากี่สิบปี แต่มันคงดีกว่าการที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลยอย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3vzhDvp

https://yhoo.it/3EAijVh

Tags::

You Might also Like