LOADING

Type to search

อยู่มา 65 ปี และมีรายได้มากถึง 800 ล้านบาท ‘ข้าวตังเจ้าสัว’ แบรนด์ของกินเล่นที่ไอดอลเกาหลีแนะนำ

อยู่มา 65 ปี และมีรายได้มากถึง 800 ล้านบาท ‘ข้าวตังเจ้าสัว’ แบรนด์ของกินเล่นที่ไอดอลเกาหลีแนะนำ
Share

ความกรุบกรอบของแผ่นข้าวสีเหลืองทอง
รสชาติหมูหยองที่เข้มข้นถึงใจ
ผสมผสานกันอย่างลงตัว
อยู่ในความทรงจำไม่เสื่อมคลาย

หากพูดถึงของทานเล่นยอดนิยมในไทย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘ข้าวตังหมูหยอง’ ไอคอนิกของความทานเพลินที่ได้ลองลิ้มชิมรสคำแรกก็จะมีคำต่อๆ ไปตามมา เปิดห่อทานทีไร ก็หมดในคราวเดียวทุกที

เมื่อพูดถึงข้าวตังหมูหยอง ชื่อของ ‘เจ้าสัว’ จะตามมาโดยอัตโนมัติ ด้วยความที่แบรนด์ดำเนินธุรกิจมาแล้วเกือบ 65 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอจะเป็นความทรงจำและความผูกพันของใครหลายๆ คน

ความทรงจำในวัยเด็กกับข้าวตังเจ้าสัว จะมาในรูปแบบของฝากที่ญาติผู้ใหญ่ซื้อฝากกัน ยิ่งใครไปท่องเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) ก็ต้องซื้อกลับมากันคนละถุงสองถุงใหญ่ เพราะเป็นหนึ่งในของฝากที่เลื่องชื่อลือชา และยังเป็นสิ่งที่เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี เหมาะกับการเป็นของฝากในครอบครัว หรือบางครอบครัวก็เป็นของทานเล่นประจำบ้านที่คุณแม่จะซื้อตุนไว้ไม่ขาดเลยด้วยซ้ำ

จวบจนเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ ข้าวตังเจ้าสัวก็ยังเป็นของทานเล่นที่หลายคนมีติดบ้าน เพราะหาซื้อได้ง่าย และมีวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

มิหนำซ้ำ ความนิยมของข้าวตังเจ้าสัวก็ดูจะเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อมินนี่-ณิชา ยนตรรักษ์ หนึ่งในสมาชิกวง (G)I-dle ให้สัมภาษณ์กับ ELLE KOREA ว่า “ข้าวตังเจ้าสัวเป็นสิ่งที่ต้องซื้อทุกครั้งเวลาที่กลับไทย อีกทั้งยังเป็นของทานเล่นที่เหล่าสมาชิกโปรดปราน”

และกระแสไวรัลจากการที่ ‘ยองแจ’ (Youngjae) สมาชิกวงก็อตเซเวน (GOT7) ซื้อข้าวตังเจ้าสัวเป็นของฝากให้กับแขกรับเชิญในรายการวิทยุของเขา ก็ทำให้แบรนด์เจ้าสัวเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

แล้ว ‘เจ้าสัว’ ทำให้ของทานเล่นในความทรงจำอย่าง ‘ข้าวตังหมูหยอง’ ครองใจผู้คนมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

จาก ‘เตียหงี่เฮียง’ ร้านแปรรูปเนื้อหมู สู่ ‘เจ้าสัว’ ของทานเล่นที่หลายคนโปรดปราน

หากพูดถึงของดีโคราช ผู้เฒ่าผู้แก่หลายๆ คนก็จะยังคงนึกถึง ‘เตียหงี่เฮียง’ อยู่เสมอ

หลังจากที่ ‘เพิ่ม โมรินทร์’ (แซ่เตีย) ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครราชสีมา เขาก็เริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจ จนพบว่า ผู้คนในพื้นที่นิยมเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้เขาเริ่มจุดประกายความคิด และตัดสินใจเปิดร้าน ‘เตียหงี่เฮียง’ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมูอย่างกุนเชียง หมูหยอง และหมูแผ่น

ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตในจังหวัดนครราชสีมาเรื่อยมา จนเกิดการขยับขยายเป็น ‘ห้างหุ้นส่วน จำกัด เตีย หงี่ เฮียง’ ในปี พ.ศ. 2516 และกระจายสินค้าไปตามสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด เพื่อผลักดันให้สินค้าเป็นของฝากขึ้นชื่อ ที่ใครแวะเวียนผ่านไปผ่านมาต้องซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านให้ได้ และการเป็นร้านของฝากก็เป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวแบรนด์มาจนถึงปัจจุบันด้วย

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 ‘ข้าวตังหมูหยอง’ สินค้าซิกเนเจอร์ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการรีแบรนด์ (Rebranding) เป็น ‘เจ้าสัว’ ที่ง่ายต่อการจดจำมากขึ้น และยังคงบุกตลาดการเป็นร้านของฝากรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันร้านเจ้าสัวมีสาขาทั่วประเทศทั้งที่เป็นแฟรนไชส์ และร้านที่จำหน่ายในปั๊มน้ำมันมากกว่า 90 แห่ง

แต่การทำธุรกิจย่อมมีอุปสรรคเข้ามาทดสอบ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของร้านของฝาก ทำให้เจ้าสัวได้รับผลกระทบอย่างหนัก และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน เจ้าสัวดำเนินธุรกิจมาถึงรุ่นที่สาม และมี ‘ณภัทร โมรินทร์’ เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารงาน ซึ่งเธอก็ตัดสินใจที่จะปรับจุดยืนของแบรนด์ครั้งใหญ่ ด้วยการลบภาพสินค้าของฝากแล้วเปลี่ยนให้เป็นสินค้าในชีวิตประจำวันแทน พร้อมทั้งบุกตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) อย่างจริงจัง เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น

บทเรียนธุรกิจจาก ‘เจ้าสัว’ สู่การเป็นบทเรียนชีวิตนอกตำรา

นอกจากแนวทางการบริหารงานของเจ้าสัวจะน่าสนใจในแง่มุมของธุรกิจแล้ว ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจในการพัฒนาตัวเองด้วย เราได้สรุปออกมาเป็น Key Takeaway มาฝากทุกคนด้วยกันทั้งหมด 2 ข้อ ดังนี้

1. แสวงหา ‘โอกาส’ ใน ‘วิกฤต’

การแสวงหาโอกาสในวิกฤตของเจ้าสัวโดดเด่นมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งร้านเตียหงี่เฮียงแล้ว เพราะความไม่คุ้นเคยในพื้นที่ถือเป็นวิกฤตสำหรับการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่เพิ่มก็ไม่ยอมแพ้ เขาพยายามมองหาโอกาสกับศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนอยู่เสมอ จนประสบความสำเร็จและวางรากฐานการทำธุรกิจที่แข็งแกร่งมาจนถึงรุ่นลูกหลาน

ซึ่งแนวทางการบริหารงานในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนี้ หลังจากที่ธุรกิจต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่อย่างโควิค-19 ทีมผู้บริหารก็ไม่ยอมแพ้ และพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป จนเกิดเป็นแผนธุรกิจแบบใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

2. เปิดใจรับสิ่งใหม่ และปรับตัวให้ทันกระแส

การดำรงอยู่ของธุรกิจ ก็เหมือนกับการพัฒนาทักษะของคน ยิ่งในยุคที่เวลาหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยรู้เมื่อวานก็อาจจะใช้ไม่ได้ในวันนี้แล้ว

การที่เจ้าสัวพยายามปรับจุดยืนของแบรนด์ และสร้างการรับรู้ต่อลูกค้าด้วยภาพลักษณ์ใหม่ ถือเป็นการปรับตัวที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการบุกตลาดของทานเล่นที่ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้เป็นอย่างดี และหากแบรนด์ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิม การขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นคงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

บทเรียนธุรกิจของเจ้าสัว ทำให้ตระหนักได้ว่า ทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามา ล้วนแต่เป็นบททดสอบที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เมื่อรู้จักนำมาใช้เป็นบทเรียนชีวิต ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3RNmhQ9

https://bit.ly/3UcdqJA

https://bit.ly/3Ueo16G

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1