LOADING

Type to search

เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ให้กับ ‘ทุกคน’ ผ่านโยบาย ‘Digital Experience Economy’ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ให้กับ ‘ทุกคน’ ผ่านโยบาย ‘Digital Experience Economy’ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
Share

9 ปีที่ชาวกรุงเทพฯ รอคอยได้จบลงแล้ว…

นับเป็นช่วงเวลาอันยาวนานที่ชาวกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งพ่อเมืองของตัวเองไป

จนในที่สุด เมื่อวานนี้ (22 พฤษภาคม 2565) ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ขึ้น และจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ก็ทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ คนล่าสุด ตกเป็นของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ผู้เป็นเจ้าของมีมถือถุงแกงในตำนานที่ไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่ช่วงหนึ่ง

และหากใครติดตามการนับคะแนนอย่างใกล้ชิด คงจะเห็นว่า ชัชชาติได้รับความไว้วางใจจากชาวกรุงเทพฯ อย่างท่วมท้น แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงถึง 1,386,215 คะแนน เรียกได้ว่า ทำสถิติ ‘ออลคิล’ (All Kill) ทุกเขต ‘แลนด์สไลด์’ (Landslide) ทุกพื้นที่ ทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น

ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ชัชชาติเป็นผู้สมัครเพียงไม่กี่คนที่หอบนโยบายเกี่ยวกับคน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจกว่า 200 ข้อ มาทำเป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า www.chadchart.com เพื่อใช้ในการหาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ และเมื่อมีจำนวนนโยบายเยอะขนาดนี้ หลายๆ คน คงเกิดข้อสงสัยอย่างแน่นอนว่า ‘จะทำทันใน 1 วาระ หรือ 4 ปี ได้จริงๆ ใช่ไหม?’

แต่เมื่อลองคลิกเข้าไปอ่านทีละข้ออย่างละเอียด ก็พบว่า นโยบายเหล่านี้ เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนกับเมือง’ พูดง่ายๆ คือมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะผลักดันให้สำเร็จ หรือต่อให้ไม่สำเร็จ ก็คงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพฯ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี

หลังจากที่ผู้เขียนลองเข้าไปอ่านนโยบายในเว็บไซต์เรื่อยๆ ก็ดันไปสะดุดกับคำว่า ‘Digital Experience Economy’ ที่เป็นหนึ่งในนโยบาย เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ดูๆ แล้ว คำนี้ ไม่ใช่คำที่เราจะคุ้นเคยกันสักเท่าไร แล้วมันคือแนวคิดเกี่ยวกับอะไร ทำไมถึงได้เป็นแกนหลักของนโยบายด้านเศรษฐกิจของชัชชาติ?

ความหมายของคำว่า ‘Digital Experience Economy’

ในเว็บไซต์ www.chadchart.com ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘Digital Experience Economy’ เป็น ‘การสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้า’ นั่นหมายถึง เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับลูกค้ามากกว่าที่เคย คือเป็นทั้งเครื่องมือในการเก็บข้อมูล และการสื่อสารทางการตลาดเชิงลึก ผ่านการทำดิจิทัลคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) กับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

หากจะกล่าวว่า นโยบายนี้ เกิดจากการวิเคราะห์ความสามารถของเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ให้ลึกและรอบด้านมากขึ้น ผนวกกับความต้องการในการผลักดันศักยภาพของชาวกรุงเทพฯ จนทำให้เกิดเป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาก็คงจะไม่ผิดนัก

และเมื่อการผลักดันนโยบาย Digital Experience Economy ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สามารถทำได้สำเร็จ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับชาวกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง?

วันนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบในประเด็นนี้ ไปพร้อมๆ กัน

หนุนผู้ประกอบรายเล็กไม่ให้หล่นหายไปกับวิกฤตใหญ่ในประเทศ

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงฝังลึกเป็นเหมือนแผลเป็นที่ยากจะรักษาให้หายดี ในมุมของบริษัทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบแล้วล้มบนฟูก คงไม่รู้สึกถึงความสูญเสียเท่ากับสิ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเผชิญเป็นแน่ จนถึงตอนนี้ ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่สามารถทำให้ธุรกิจของตัวเองฟื้นตัวจากภาวะโคม่าได้ และหากปล่อยไว้นานวันเข้า เราคงได้เห็นข่าวการทยอยปิดกิจการกันอีกเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

การที่ภาครัฐหรือคณะการปกครองท้องถิ่น มีนโยบายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยผู้ประกอบการเช่นนี้ จะทำให้ผู้ประกอบรายย่อยมีพื้นที่ในการทำการตลาดให้แบรนด์ของตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการลดการผูกขาดจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้งการเข้าถึง ‘บิ๊กดาต้า’ (Big Data) และการถือครองส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่มากเกินไป จากการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภค

อย่างที่ทราบกันดีว่า การเข้าถึงบิ๊กดาต้าต้องใช้ต้นทุนมหาศาล ดังนั้น สำหรับธุรกิจเล็กๆ จึงกลายเป็นความสิ้นหวังไปโดยปริยาย แต่การที่กรุงเทพฯ ได้วางระบบในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างครบวงจร จะทำให้ผู้ประกอบรายย่อยมีพื้นที่ในการทำธุรกิจต่อไปได้ และยังทำให้ธุรกิจของทั้งบริษัทใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อยเติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างที่ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบอีกด้วย

ผู้คนเติบโตและมีทักษะที่โลกในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องการ

หากจะกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในข้อนี้ เป็นผลจากข้อก่อนหน้าก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเมื่อกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี จะทำให้เมืองมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนตลาดแรงงานเกิดการขยายตัว ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งกลุ่มวิศวกรผู้ดูแลระบบ และกลุ่มครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์น้ำดี

เมื่อตลาดแรงงานเกิดความเฟื่องฟู ผู้คนก็ต้องอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยอยู่แล้ว และนี่จะกลายเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ฉันจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ ฉันต้องไปต่อ ฉันต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลก เพื่ออนาคตที่ดีของฉัน” และนี่ยังหมายถึง การที่ผู้คนพร้อมจะเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในอนาคต หากมีการส่งเสริมจากนโยบายต่างๆ และการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ผู้คนก็จะมีทักษะเหล่านั้น ติดตัวในทันที

เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนต์หรือแคมเปญน้ำดีอย่างไร้ขีดจำกัด

‘เมื่อกรุงเทพฯ คือเมืองที่มีพร้อมทั้งพื้นที่และระบบที่ดี เมื่อนั้น กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์โดยสมบูรณ์’

จริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว แต่ติดตรงที่มี ‘กำแพง’ หรือข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านั้น อาจจะมาในรูปแบบความไม่พร้อมของเมืองก็เป็นได้

เมื่อเมืองสามารถปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ได้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวก และการประชาสัมพันธ์ ผู้คนก็เหมือนได้ปลดล็อกความสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นคอนเทนต์หรือแคมเปญสนุกๆ ภายในเมืองขึ้นมา ซึ่งดูๆ แล้ว ก็คล้ายกับแนวคิด ‘ความไม่แบ่งแยก’ ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่พอบริษัทให้พื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดอย่างเปิดกว้าง ก็เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนต์น้ำดีที่แหวกแนวออกมาจากคอนเทนต์สไตล์เดิมมากมาย

จากความเปลี่ยนแปลงทั้งสามข้อที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะเป็นตามนี้ หรือไม่เป็นตามนี้ก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับกรุงเทพฯ อย่างไร ความหวังเดียวที่เป็นหมุดหมายใหญ่ที่ชาวกรุงเทพฯ ฝากไว้กับผู้ว่าฯ คนใหม่ คงหนีไม่พ้น การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับ ‘ทุกคน’ จริงๆ เสียที

Sources: https://bit.ly/3G77J9f

https://bit.ly/3MEbYvf

https://bit.ly/3xJlusG

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1