LOADING

Type to search

จากนิยายน้ำเน่าสุดคลาสสิก สู่การเป็นซีรีส์สะท้อนสังคม ‘Bridgerton’ ซีรีส์น้ำดี กับแนวคิดเพื่อสังคมของ ‘Netflix’

จากนิยายน้ำเน่าสุดคลาสสิก สู่การเป็นซีรีส์สะท้อนสังคม ‘Bridgerton’ ซีรีส์น้ำดี กับแนวคิดเพื่อสังคมของ ‘Netflix’
Share

วันนี้ เราอยากชวนทุกคนมาพูดคุยเกี่ยวกับซีรีส์ที่ดีกันสักหน่อย

ทุกคนคิดว่า ‘ซีรีส์ที่ดี’ คือซีรีส์แบบไหน?

หากคุณมีคำตอบอยู่แล้ว ขอให้เก็บไว้ในใจก่อน แต่หากคุณยังไม่มีคำตอบ เราอยากชวนคุณมาอ่านบทความนี้ เพื่อร่วมหาคำตอบของคำว่า ‘ซีรีส์ที่ดี’ ไปพร้อมๆ กัน

ในอดีต มีคำกล่าวสุดคลาสสิกในวงการสื่อที่บอกว่า สื่อต้องเลือกว่า จะทำหน้าที่เป็น ‘กระจก’ หรือ ‘โคมไฟ’ ให้สังคม ถ้าเลือกเป็นกระจก สื่อต้องทำหน้าที่ในการสะท้อนสังคม ถ้าเลือกเป็นโคมไฟ สื่อก็ต้องทำหน้าที่ในการชี้นำสังคมแทน

แต่เมื่อดูในมุมของซีรีส์ เรากลับพบว่า ซีรีส์ทำหน้าที่เป็นทั้งกระจกและโคมไฟในเวลาเดียวกัน กล่าวคือเนื้อหาของซีรีส์ เกิดจากการหยิบยกประเด็นทางสังคมมาสะท้อนให้เห็นภาพปัญหาชัดขึ้น และสิ่งที่ตัวละครตัดสินใจทำในสถานการณ์ต่างๆ ก็คือการชี้นำสังคมนั่นเอง

#เมื่อผู้ชมถามหาซีรีส์ที่ดีกว่าที่มีอยู่ผู้ผลิตก็ต้องผลิตมันออกมา
ด้วยกระแสความต้องการซีรีส์ดีๆ จากผู้ชมในยุคนี้ ทำให้บริษัทสตรีมมิง (streaming) และผู้ผลิตสื่อระดับโลกอย่าง ‘เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)’ ที่มีพันธกิจองค์กรว่า ‘To Entertain The World’ หรือ ‘สร้างความเพลิดเพลินให้กับคนทั้งโลก’ ก็ไม่รอช้าที่จะปรับตัวเป็นผู้ผลิตสื่อเพื่อสังคม โดยเน็ตฟลิกซ์มุ่งมั่นที่จะผลิตสื่อที่ทั้งสนุก และมีประโยชน์กับคนทั่วทุกมุมโลก เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมอย่างแท้จริง

ซึ่งการที่เน็ตฟลิกซ์ฟังเสียงของผู้ชม และทำสื่อดีๆ ออกมา นับว่าสอดคล้องกับ ‘ESG’ แนวคิดการทำธุรกิจที่กำลังมาแรงในขณะนี้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวตั้ง

หลังจากที่ผู้เขียนได้ดูซีรีส์ที่เน็ตฟลิกซ์ผลิตมาหลายต่อหลายเรื่อง ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่า น่าสนใจมาก เพราะฉากหน้าของซีรีส์นั้นให้ความรู้สึกเป็น ‘ละครน้ำเน่า’ ซะเหลือเกิน แต่เมื่อลองเปิดใจกดเข้าไปดู กลับพบว่า ในซีรีส์ ได้สอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้มากมาย จนผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะต้องมาเล่าสู่กันฟัง (แบบไม่สปอยล์) โดยซีรีส์เรื่องนี้มีชื่อว่า ‘บริดเจอร์ตัน (Bridgerton)’ หรือ ‘วังวนรัก เกมไฮโซ’ นั่นเอง

บริดเจอร์ตัน คือซีรีส์แนวพีเรียดที่สร้างจากนิยายของ จูเลีย ควินน์ (Julia Quinn) ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการจับคู่แต่งงาน ฉบับไฮโซอังกฤษยุครีเจนซี (Regency) หรือราวๆ ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งฟังดูแล้ว ก็ไม่น่าจะต่างกับพล็อตละครน้ำเน่าที่เราคุ้นเคยกันเท่าไรนัก

แต่ด้วยความที่ตอนนี้ มันคือยุคของศตวรรษที่ 21 แล้ว จะให้ผู้ชมมาจมปลักกับเนื้อหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้ เน็ตฟลิกซ์จึงพลิกความน้ำเน่าของนิยายสุดคลาสสิกเรื่องนี้ แล้วใส่การเล่าเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมลงไปถึง 3 ประเด็น จะมีประเด็นอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ตีแผ่กรอบทางสังคมที่บิดเบี้ยว
กรอบทางสังคมในยุครีเจนซีนั้น เข้มงวดมาก ความรักต่างชนชั้นถือเป็นเรื่องผิดบาป การที่ผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ด้วยกันสองต่อสองถือเป็นเรื่องฉาวโฉว่ ผู้หญิงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะในอนาคต พวกเธอก็เป็นแค่ ‘ภรรยา’ ที่ต้องเชื่อฟังสามีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่แล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องประกอบอาชีพอะไร

โดยในซีรีส์ก็มีตัวละครหัวขบถที่เบื่อหน่ายกับชีวิตที่ถูกฉาบด้วยหน้ากากทางสังคมอย่าง ‘เอโลอีส’ คอยตั้งคำถามว่า กรอบทางสังคมเช่นนี้ มันเหมาะสมแล้วหรือ? และเธอยังทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ เกิดการตั้งคำถามตามด้วยว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อกำจัดความบิดเบี้ยวเหล่านี้?

2. ผู้หญิงนั้นไร้ค่า เมื่อไม่ได้แต่งงาน
‘การแต่งงาน’ ถือเป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ โดยในซีรีส์ เราจะเห็นเหล่าแม่ๆ เอาลูกสาวมาเร่ขายตามงานเลี้ยงเต้นรำต่างๆ ไม่ต่างกับการซื้อผักซื้อปลาในตลาด จนมีคำเรียกการกระทำแบบนี้ว่า ‘ตลาดงานแต่ง (Marriage Mart)’

ซึ่งตัวละครที่สะท้อนประเด็นนี้ ได้ชัดเจนที่สุด คือ ‘ดาฟนี’ นางเอกของเรื่อง เธอมีความกดดันเกี่ยวกับการแต่งงาน และการตามหาเจ้าบ่าวของตัวเองมากๆ เพราะหากหญิงใด ไม่ได้รับคำสู่ขอเพื่อหมั้นหมาย เธอจะกลายเป็น ‘คนไร้ค่า’ ทันที

สิ่งนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ทำไมคุณค่าความเป็นคนถึงต้องวัดที่การแต่งงาน ในเมื่อคนทุกคนมีค่าความเป็นคนเหมือนๆ กัน และก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวคิดเช่นนี้ ยังคงฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

3. ความสามารถของนักแสดง ‘ชาวผิวดำ’ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักแสดง ‘ชาวผิวขาว’
ถึงแม้ว่า ตัวละครดั้งเดิมในนิยาย จะล้วนแต่เป็นชาวลอนดอนผิวขาว แต่ในซีรีส์ ก็ได้มีการดัดแปลงให้ตัวละครบางตัวเป็นชาวผิวดำ ซึ่งหนึ่งในคือ ‘ไซมอน’ ท่านดยุกผู้เป็นพระเอกของเรื่องนั่นเอง

แน่นอนว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และแสดงความคิดเห็นในทางตรงข้ามว่า นี่คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ซีรีส์เรื่องนี้กำลังทำให้เกิดความสับสนว่า เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่

แต่เน็ตฟลิกซ์ก็หาได้แคร์ไม่ และยังเดินหน้าผลักดันนักแสดงชาวผิวดำต่อไป เพราะเน็ตฟลิกซ์มองว่า การสร้างพื้นที่แสดงความสามารถให้กับนักแสดงชาวผิวดำ ตามแนวคิดความไม่แบ่งแยก เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

บริดเจอร์ตัน เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสื่อที่มีแนวคิดเพื่อสังคมของเน็ตฟลิกซ์ โดยในอนาคต เน็ตฟลิกซ์ได้วางแผนที่จะผลิตสื่อดีๆ และส่งเสริมความหลากหลายมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งเราก็หวังว่า สื่อเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น

Sources: https://bit.ly/3jYZ1zz  

https://bit.ly/3JWLuTP

https://bit.ly/3rHsxhA

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1