LOADING

Type to search

ไฟมอด มืดแปดด้าน จะทำยังไงให้บริษัทไปต่อ ลองแนวคิด ‘ไล่ตัวเองออก จ้างตัวเองใหม่’ ของ CEO Logitech ระดับโลก

ไฟมอด มืดแปดด้าน จะทำยังไงให้บริษัทไปต่อ ลองแนวคิด ‘ไล่ตัวเองออก จ้างตัวเองใหม่’ ของ CEO Logitech ระดับโลก
Share

งานที่กองพะเนิน มรสุมปัญหาที่ถาโถมอาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ถ้าบางครั้งคนทำงานทุกตำแหน่งหรือเจ้าของบริษัทที่เป็นหัวเรือใหญ่จะรู้สึกคิดไม่ตก กลุ้มใจกับสารพันปัญหาร้อยแปดพันเก้าปัญหาตรงหน้าที่มองไปไหนก็มืดแปดด้านไปหมด ไอเดียก็หมด ไฟก็หมด ไม่รู้จะเดินไปทิศทางไหนต่อ ครั้นจะให้หยุดไปดื้อๆ เลยก็ไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า บริษัทต้องไปต่อ ชีวิตอีกนับสิบ นับร้อยต้องไปต่อ…

แล้วเราจะก้าวข้ามผ่านปัญหา เดินทางบนเส้นทางอันแสนยาวไกลนี้ต่อได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักแนวคิด ‘ไล่ตัวเองออก จ้างตัวเองใหม่’ ของบริษัทระดับโลกอย่างแบร็กเกน ดาร์เรลล์ (Bracken Darrell) ประธานบริหารโลจิเทค (Logitech) ที่จะช่วยชีวิตบริษัทของคุณกัน!

ในการประชุม Brainstorm Design ที่ผ่านมาของฟอร์จูน (Fortune) แบร็กเกนได้แชร์เรื่องราวการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทว่า หากย้อนกลับไปในวันแรกที่ตนก้าวขึ้นมารับบทบาทนี้ ตอนนั้นโลจิเทคยังคงเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมอยู่

เขาได้ทุ่มเทความตั้งใจทั้งหมดที่มีในการนำเสนอไอเดียต่างๆ เพื่อเปลี่ยนให้บริษัทกลายเป็นบริษัทด้านการออกแบบอย่างเต็มที่ โดยเขาก็เคยโดนบรรดาวิศวกรในบริษัทตอบกลับด้วยถ้อยคำที่ทำร้ายความตั้งใจดีว่า “เขากำลังเป็นคนทำลายบริษัทนี้” เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น คือการเปลี่ยนโลจิเทคให้กลายเป็น ‘บริษัทแฟชั่น’

จากปฏิกิริยาการตอบกลับครั้งดังกล่าว ทำให้ผู้เป็นประธานบริหารอย่างเขาตระหนักได้ว่า ตนกำลังล้มเหลว และสื่อสารผิดพลาดเป็นอย่างมาก ดังนั้น แบร็กเกนจึงตัดสินใจเดินถอยหลังออกมาจากบริษัททันที จากนั้น เขาจึงพยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ไอเดียต่างๆ ที่เคยนำเสนอไปเป็นผลดี ช่วยเพิ่มกำไร พาให้บริษัทเติบโตได้อย่างไร?

ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ย้อนทบทวนการเติบโตที่ผ่านมาจากบริษัทซอฟต์แวร์ เดินทางสู่บริษัทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชั้นนำด้วย โดยแบร็กเกนบอกว่า “ในช่วงหลายปีนี้ เราพยายามเปลี่ยนทิศทางของสินค้า เริ่มคิด เริ่มทำอะไรที่ต่าง และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ทั้งตลาด และทีมวิศวกรที่เชื่อมั่น” โดย 5 ปีก่อนหน้านั้น บริษัทก็ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

เรื่องนี้เองทำให้เขาย้อนกลับมาทบทวนว่า ในอนาคตมีความท้าทายอีกมากให้เผชิญ และเขาเหมาะสมจะอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปหรือไม่? จากนั้น เขาจึงบรรจงเขียนคุณสมบัติที่ผู้ที่เป็นประธานบริหารพึงมีอย่างละเอียดแล้วเอามาเปรียบเทียบว่า ตัวเองมีคุณสมบัติข้อไหนที่ตรงกันบ้าง?

หลังจากนั้น เขาตั้งคำถามกับตัวเองกลับว่า ถ้าสมมติจะต้องจ้างตัวเองจริงๆ จะจ้างหรือไม่? ซึ่งตอนนั้น คำตอบก็ชัดเจนว่า ‘ไม่เป็นอันขาด’

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะค่อนข้างมั่นใจในความรู้ ความสามารถจากการสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมในอดีต แต่เขาก็ได้ตัดสินใจที่จะไล่ตัวเองออกทันที และจะจ้างตัวเองกลับมาใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วย ‘สัญญาฉบับใหม่ และทัศนคติแบบใหม่’

ทั้งนี้ ถึงจะไม่ค่อยต่างจากเท่าไร เพราะสัญญาก็ไม่ต่างจากฉบับเก่านัก แต่ที่น่าแปลกใจคือ เขาพบว่าตัวเองทำงานราวกับเป็นคนใหม่ หนึ่งเดือนให้หลัง ทีมของแบร็กเกนสังเกตว่า เขาได้เปลี่ยนเป็นคนละคนจากเดิมไปมาก

เมื่อได้ผลดีเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจแบ่งบันเรื่องราวทั้งหมดให้กับทีม และมอบการบ้านว่า ในสุดสัปดาห์ที่จะถึง เขาอยากให้ทุกคนไปไล่ตัวเองออกจากตำแหน่งแบบเดียวกัน จากนั้น ให้จ้างตัวเองกลับมาใหม่ในคืนวันอาทิตย์ด้วยสัญญาฉบับใหม่ แต่ยังคงมีรายละเอียดเหมือนเดิม โดยสามารถใส่เงื่อนไข และความรับผิดชอบอื่นที่นอกเหนือจากสัญญาฉบับเดิมได้เช่นกัน

แบร็กเกนทิ้งท้ายแบบติดตลกแกมโหดเพื่อกระตุ้นทีมไว้ว่า “ถ้าพวกเขาไม่ไล่ตัวเองออกแล้วจ้างตัวเองกลับมาใหม่ภายในสุดสัปดาห์นี้ ตนจะเป็นคนไล่พวกเขาออก และไม่จ้างกลับมาทำงานใหม่อีกเลย”

ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า แบร็กเกนเป็นหนึ่งในผู้นำที่ดี และมีประสิทธิภาพคนหนึ่ง เพราะต่อให้เขาจะประสบความสำเร็จมาเพียบ ตำแหน่งใหญ่ เงินเดือนสูงลิ่ว ประสบการณ์ และความเก่งกาจโชกโชนมากแค่ไหน แต่เขากลับไม่สำแดงอิทธิฤทธิ์ วางอำนาจตัวเองเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า ‘มีอีโก้’ กรอบความความคิดให้แคบลงเลยแม้แต่น้อย

และถึงทุกอย่างที่ทำ จะเป็นความทุ่มเท และความตั้งใจดีในเชิงบวกก็ตาม แต่เขากลับอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาวิศวกรที่มีตำแหน่งเล็กกว่า ทั้งที่จริงแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องฟังมากมายขนาดนั้นก็ได้ กล่าวคือ เขาไม่ได้ปล่อยให้ความสำเร็จในอดีตมาบ่อนทำลายความสำเร็จในอนาคต บริหารบริษัทโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ‘เขาเป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดได้เหมือนกับทุกคน และผู้บริหารก็ไม่จำเป็นต้องถูกทุกเรื่อง’ เสมอไป

แนวคิด ‘ไล่ตัวเองออก จ้างตัวเองใหม่’ เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่มีสารตั้งต้นมาจาก ‘ทัศนคติที่ดี’ เพราะแทนที่จะท้อ ล้มเลิก หรือไม่ฟังใครสักคน แต่เขากลับเลือกเปลี่ยนตัวเองใหม่ด้วยการไล่ตัวเองออกแบบทิพย์ๆ และจ้างตัวเองด้วยความคิดแบบใหม่ หรือพูดง่ายๆ คือลงโปรแกรมเครื่องคอมพิวเตอร์ในสมองใหม่ เชื่อว่า ชีวิตการทำงานนั้นนับหนึ่งใหม่ได้ทุกวันนั่นเอง

ถ้าช่วงนี้ไฟในตัวใครกำลังมอด รู้สึกมืดแปดด้านอยู่ ลองนำแนวคิดนี้ปรับใช้ กดปุ่ม Refresh ใหม่ ‘ไล่ตัวฉันคนเก่าออกไป แล้วจ้างตัวฉันคนใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม’ กันดู ไม่แน่หรอกนะ นี่อาจทำให้คุณได้ไอเดียดีๆ มาแก้ปัญหา พาบริษัทให้โตระเบิดสู่รายได้หลักหมื่นล้านแบบโลจิเทคก็เป็นได้…

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยรู้สึกแก้ไม่ตกกับปัญหาไหม ตอนนั้นทำยังไงบ้าง และมีวิธีรับมือเด็ดๆ นอกเหนือจากนี้รึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน

Sources: https://bit.ly/3O6xcCT

https://bit.ly/3n3B4sq

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1