LOADING

Type to search

รีวิวหนังสือ ‘Digital Minimalism’ ชีวิตดิจิทัลที่ ‘น้อยแต่มาก’ ไปด้วยคุณค่าและความหมาย

รีวิวหนังสือ ‘Digital Minimalism’ ชีวิตดิจิทัลที่ ‘น้อยแต่มาก’ ไปด้วยคุณค่าและความหมาย
Share

ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มนุษย์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งวิถีชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในโลก รู้ตัวอีกที เราอาจจะกำลังหลงทางอยู่ในฟีดข่าวที่ไม่รู้จะไปทางไหน เพียงแค่กำลังเสพสิ่งที่อัลกอริทึมป้อนให้มา

หลายคนอาจคิดว่าสามารถควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีของตัวเองได้ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ขณะที่มนุษย์กำลังสอนปัญญาประดิษฐ์ว่าต้องคิดและทำอย่างไร มันอาจจะกำลังสอนเรากลับว่า ต้องดูและคิดอะไรเช่นกัน?

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้ายในตัวเอง แต่มันมีศักยภาพในการทำลายได้ เปรียบดั่งมีดที่สามารถสร้างประโยชน์และโทษได้มากมาย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้นำไปทำอะไร แต่มันก็อาจบาดมือเราโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน นั่นหมายถึงเทคโนโลยีอาจทำร้ายเราโดยไม่ได้ตั้งใจ หากเราไม่มีสติในการใช้

หนึ่งในทางออกสำหรับคนยุคดิจิทัล

หนังสือชื่อ ‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ (Digital Minimalism) เขียนโดย คาล นิวพอร์ต (Cal Newport) แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น จากสำนักพิมพ์ broccoli เป็นหนึ่งในทางเลือกของทางออก ซึ่งกล่าวถึงแนวคิด ‘Digital Minimalism’ หรือ ‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ แนวคิดและแนวปฏิบัติที่ชวนให้หันกลับมาตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับเทคโนโลยี โดยให้ค้นหาคุณค่าสูงสุดในชีวิตและหาแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เทคโนโลยีส่งเสริมคุณค่านั้นๆ จะกล่าวว่า เป็นการทวงคืนเจตจำนงในการใช้ชีวิตกับคืนสู่การควบคุมของเราก็ได้

หนังสือได้ชวนตั้งคำถามว่า ขณะที่เรากำลังสร้างปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ เรากำลังสูญเสียอะไรในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในชีวิตจริงอย่างไรบ้างไหม ซึ่งหนังสือไม่ใช่คู่มือการใช้งานเทคโนโลยี แต่เป็นการสอนวิธีป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกเทคโนโลยีใช้งานจนแหลกสลายไปตามๆ กัน

คาล นิวพอร์ต เป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากสหรัฐอเมริกา จะพาเราไปสำรวจสถานการณ์เบื้องลึกในโลกธุรกิจเทคโนโลยีและผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรม ความคิด และจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน และนำเสนอแนวคิดดิจิทัลมินิมัลลิสม์ เพื่อให้เราได้ย้อนกลับมาสำรวจเป้าหมายและคุณค่าของชีวิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการคัดสรรเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ และกำหนดการใช้งานเพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ตามหลักการน้อยคือมาก คือ

“ใช้เทคโนโลยีให้น้อย และเป็นมนุษย์ให้มาก”

‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ คือ?

ดิจิทัลมินิมัลลิสม์ คือ ปรัชญาว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีที่ทำให้คุณใช้เวลาในโลกออนไลน์กับกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่างที่ผ่านการ ‘คัดสรร’ อย่างดี มีประสิทธิภาพสูง และส่งเสริมสิ่งที่มีความหมายต่อคุณ ทั้งยังทำให้คุณละทิ้งกิจกรรมอื่นๆ (ที่ไม่จำเป็น) นอกเหนือจากนี้ได้อย่างมีความสุข

คนที่ยึดถือปรัชญาดิจิทัลมินินมัลลิสม์จะวิเคราะห์ ‘ความคุ้มค่า’ อยู่ตลอด ไม่สนใจเทคโนโลยีตัวใหม่ที่ต่างจากเดิมเพียงเล็กน้อยหรือเพิ่มความสะดวกสบาย ‘ที่ไม่จำเป็น’ แม้กระทั่งเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมสิ่งที่ชาวมินิมัลลิสม์เห็นคุณค่า ก็ต้องผ่านด่านทดสอบ ด้วยการตั้งคำถามว่า “นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณค่าในชีวิตหรือไม่?” หากคำตอบคือ ‘ไม่’ จะหาวิธีใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือไม่ก็หา ‘ตัวเลือกที่ดีกว่า’ มาใช้แทน เป็นต้น

การกลับไปตั้งต้นจากคุณค่าเชิงลึกที่ยึดถือสู่ตัวเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้สามารถเปลี่ยนนวัตกรรมต่างๆ จากที่เคยเป็นแหล่งรวม ‘สิ่งรบกวนความสนใจ’ ให้กลายเป็น ‘เครื่องมือสนับสนุนการใช้ชีวิตที่ดี’ คืนการควบคุมกลับมาที่เรา

ชีวิตในโลกดิจิทัลที่ดีที่สุดเกิดจากการคัดสรรเครื่องมือดิจิทัลที่มีประโยชน์มหาศาล และระวังเป็นพิเศษต่อกิจกรรมที่สร้างคุณค่าได้น้อย (กิจกรรมที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริงๆ) ชาวมินิมัลลิสม์ไม่กลัวพลาดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (เช่น ชาเลนจ์วิดีโอคลิปใหม่ๆ ที่กำลังเป็นกระแส หรือเครื่องมือที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ เป็นต้น) แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือ “การค่อยๆ หายไปของเรื่องใหญ่ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า จะทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ชาวดิจิทัลมินิมัลลิสต์ ‘ไม่ได้ตัดขาด’ จากอุปกรณ์ดิจิทัลโดยสิ้นเชิง แต่ใช้คำถามสำคัญที่ว่า “นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณค่าในเรื่องหนึ่งๆ หรือไม่” มาเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้เทคโนโลยีให้เกิด ‘ประสิทธิภาพสูงสุด’ ด้วยความ ‘ระมัดระวัง’ ขณะที่คนส่วนใหญ่ใช้มือปัดหน้าจออย่างไร้เป้าหมาย!? (ปล่อยให้อัลกอริทึมป้อนให้ทั้งที่เราอาจไม่ได้ต้องการแต่แรก)

ชาวดิจิทัลมินินมัลลิสม์มักตัดฟีเจอร์ ‘ฟุ่มเฟือย’ ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เหลือเพียง ‘การใช้งานที่จำเป็น’ จริงๆ เพียงไม่กี่อย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนชีวิตโดยไม่จำเป็น โดยมีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้

sophomore-slump 3

หลักการดิจิทัลมินิมัลลิสม์ 3 ประการ

1. ความรุงรังมีราคาแพง

การใช้เวลาและสมาธิหมกหมุ่นกับอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และบริการดิจิทัลต่างๆ มากเกินไป จะสร้างข้อเสียโดยรวมที่อาจกลบผลประโยชน์ที่จะได้จากอุปกรณ์แต่ละชนิด

2. ประสิทธิภาพสูงสุดคือสิ่งสำคัญ

การตัดสินใจว่าเทคโนโลยีชนิดใดส่งเสริมสิ่งที่เราให้คุณค่านั้น เป็นแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น เราต้องคิดอย่างรอบครอบว่า จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไรจึงจะสามารถดึงประโยชน์สูงสุดออกมาได้เต็มที่

3. ความตั้งใจสร้างความพึงพอใจ

ชาวดิจิทัลมินิมัลลิสม์ได้รับความพึงพอใจอย่างมากจากความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างตั้งใจ ที่มาของความพึงพอใจนี้เป็นอิสระจากการตัดสสินใจที่เลือกในแต่ละครั้ง และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ปรัชญามินิมัลลิสม์มีความหมายอย่างมหาศาลต่อผู้ที่นำปรัชญานี้ไปปฏิบัติ

นำไปปรับใช้

สรุปคือ ให้เลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ เท่าที่ ‘จำเป็น’ และที่สร้าง ‘คุณค่า’ ที่เราต้องการเท่านั้น แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี แต่เตือนให้เราคิดให้ดีและใช้ให้เป็นอย่างรู้เท่าทันและมีความสุข การปรับใช้ในเบื้องต้นที่แนะนำคือ ลดการใช้ที่ไม่จำเป็นหรือที่ไร้จุดมุ่งหมาย เช่น ไถดูวิดีโอสั้นอย่างไรจุดหมาย เปลี่ยนเป็นดูวิดีโอสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเรา หรือดูภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจ (และความบันเทิง) เป็นต้น นั่นคือการกำหนดเป้าหมายหรือสิ่งที่เราต้องการก่อนที่จะใช้มัน

ในการทำงานปัจจุบันหลายองค์กรใช้การสื่อสารกันระหว่างทีมด้วยแอปพลิเคชันแชทต่างๆ นั่นอาจเป็นความจำเป็นที่เราต้องใช้ แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้อย่างพอดี เราอาจปิดการแจ้งเตือนในบางเวลาหรือบางโอกาส เพราะลดสิ่งรบกวนที่ไม่จำเป็นออกไป และมีช่องทางด่วนสำหรับคนที่ต้องการติดต่อไว้ เช่น การโทรเข้าเบอร์โดยตรง เป็นต้น

แม้กระทั่งอีเมลเกี่ยวกับงาน อาจเปลี่ยนจากดูทุกครั้งที่มีแจ้งเตือนอีเมลเข้าใหม่ เป็นเข้าไปดูเป็นระยะตามที่เรากำหนด เช่น สามครั้งต่อวัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องอาศัยการปรับส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับชีวิต งาน เพื่อนร่วมงาน และองค์กรด้วย

หนังสือ ‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ ยังมีตัวอย่างที่เป็นแนวทางปฏิบัติและสร้างแรงบันดาลใจที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเองได้ ท้ายที่สุดเราอาจไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมดจนกลายเป็นหนึ่งในชาวดิจิทัลมินิมัลลิสม์ แต่คุณสามารถใช้เทคโนโลยีโดยไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์หรือความหมายในชีวิตให้น้อยลงได้จากแนวคิดดังกล่าว และสามารถใช้มันเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน คุณต้องหาวิธีการให้เจอ และมันอาจอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นได้

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ (Digital Minimalism) เขียนโดย Cal Newport แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น สำนักพิมพ์ broccoli

Tags::

You Might also Like