หยุดใช้อารมณ์ทำงานก่อนจะเสียทีมไป ‘Blue Dolphin Rule’ ศาสตร์แห่งการควบคุมอารมณ์ที่หัวหน้าควรรู้
“ไปทำมาใหม่เดี๋ยวนี้!”
“ทำไมยังทำงานพลาดอยู่อีก”
“มันมีปัญหาอะไรหนักหนา ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงจัดการไม่ได้”
คำพูดสุดท็อกซิกที่ต้องมาพร้อมกับน้ำเสียงกระแทกแดกดันจากหัวหน้าอารมณ์ร้ายที่พบเจอได้ทั่วไปในหลายๆ บริษัท การที่ต้องมาทำงานร่วมกับหัวหน้าเจ้าอารมณ์ที่เต็มไปด้วยพลังงานลบรอบตัว ถือเป็นฝันร้ายของชาวออฟฟิศทุกคน เพราะพื้นฐานของมนุษย์ย่อมต้องการอยู่ในที่ที่มีแต่ความสุข และหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความรู้สึกในเชิงลบอยู่แล้ว
เมื่อมองย้อนไปถึงสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนกลายเป็นหัวหน้าอารมณ์ร้ายก็หนีไม่พ้น ‘ความเครียด’ งานวิจัยจาก Gallup และ The American Institute of Stress ชี้ตรงกันว่า ความเครียดเป็นหนึ่งในปัญหาที่คนวัยทำงานต้องรับมือมากที่สุด บางคนสามารถจัดการความเครียดได้ในไม่กี่นาที แต่บางคนต้องใช้เวลาเป็นวันในการทำให้ตัวเองกลับมารู้สึกเป็นปกติ และที่สำคัญความเครียดยังส่งผลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์อีกด้วย
ยิ่งเรารู้สึกเครียดมากเท่าไร อารมณ์ของเราก็ยิ่งอ่อนไหวมากเท่านั้น โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้าที่ต้องรับมือกับความเครียดที่ประเดประดังเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการทำงานกับลูกทีม การประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการรับคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูง
หากหัวหน้าไม่สามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ ความเครียดที่มีจะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอการปลดปล่อย และคนที่มีโอกาสในการรองรับระเบิดเวลาลูกนี้มากที่สุด ก็คือ ‘ลูกทีม’ ที่ทำงานกับหัวหน้าตลอดเวลานั่นเอง
ด้วยเวลาที่ผ่านไปและยุคสมัยที่เปลี่ยนตาม ทำให้ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานเปลี่ยนไป ผู้คนไม่สามารถมองว่า การรองรับอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของหัวหน้าเป็นเรื่องปกติได้ และหากพวกเขาพบเจอทางเลือกที่ดีกว่าก็พร้อมเดินจากไปทันที กว่าหัวหน้าจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหาก็สูญเสียความเป็นทีมไปแล้ว
แล้วหัวหน้าจะมีวิธีการควบคุมและจัดการอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของตัวเองอย่างไร?
เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับศาสตร์แห่งการควบคุมอารมณ์ที่มีชื่อว่า ‘Blue Dolphin Rule’ หรือหลักการในการปรับความคิดของตัวเองให้เป็นเชิงบวก เพื่อให้หัวหน้าและชาวออฟฟิศที่ผ่านมาอ่านบทความนี้ได้ลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเองกันดู
Blue Dolphin Rule คืออะไร?
Blue Dolphin Rule คือหลักการที่พัฒนาขึ้นเพื่อปรับทัศนคติและความคิดของคนเราที่จมปลักคิดแต่สิ่งเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงความคิดเหล่านั้นได้ หรือที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘White Bear Effect’ ภาวะที่ไม่ต้องการคิดแต่ก็หยุดคิดไม่ได้
ดังนั้น ต่อให้เราไม่ต้องการที่จะคิดถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุของความเครียด แต่เพราะปัญหาเหล่านั้นยังตามหลอกหลอนเราอยู่ ทำให้เรายังอยู่ในวังวนของความรู้สึกแย่ๆ และไม่สามารถพาตัวเองออกมาได้
Blue Dolphin Rule เป็นหลักการที่นำไปใช้ได้ง่ายมากๆ เพียงแค่พลิกมุมมองของสิ่งที่เรากำลังติดอยู่ในห้วงความคิดให้ ‘ไปสู่’ จุดหมายที่ดีกว่า เช่น เรากำลังเครียดที่ทีมยังคงทำงานผิดพลาด ก็ให้ลองพลิกมุมมองเป็น “ฉันจะทำให้ทีมหยุดทำงานผิดพลาดด้วยการให้ฟีดแบ็กที่มีประโยชน์” หรือรู้สึกกังวลที่ต้องคุยกับผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับผลงานของทีมที่ไม่สามารถพิชิตเป้าหมายได้ ก็ให้ลองคิดเป็น “ทีมของเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่เป็นไร”
การที่เราพยายามคิดถึงสิ่งที่ดีกว่า คือการทำให้ตัวเองมีความเชื่อมั่นและกล้าพอที่จะก้าวออกมาจากวังวนความคิดและความรู้สึกแย่ๆ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือเราจะค้นพบวิธีการแก้ปัญหาและการจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างชาญฉลาด
3 เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพของ ‘Blue Dolphin Rule’
หลังจากที่ทุกคนเข้าใจวิธีการใช้หลักการ Blue Dolphin Rule และพอเห็นภาพแล้วว่า หลักการนี้ทำงานกับความคิดของเราอย่างไร เราจึงนำเทคนิคการปรับอารมณ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้หลักการนี้มาฝากทุกคนด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่
1. หากอารมณ์ไม่ดี ให้หยุดพักจากงานสักครู่
การหยุดพักจากงานที่อยู่ตรงหน้าสักครู่ แล้วไปทำในสิ่งที่ชอบเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้เราได้ทบทวนความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น และไม่เป็นการเติมความเครียดให้กับตัวเอง อีกทั้งยังทำให้ร่างกายลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่มีผลต่ออารมณ์และสุขภาพของเราด้วย
2. หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงที่อารมณ์ไม่คงที่
ในช่วงที่อารมณ์ไม่คงที่ ทักษะการตัดสินใจอย่างเฉียบคมของเราก็ลดลงไปด้วย หากไม่ต้องการให้ตัวเองอยู่ในวังวนความเครียดตั้งแต่แรก เพราะเสียใจกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็ให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงที่อารมณ์คงที่ หรือหากเป็นเรื่องด่วนที่รอไม่ได้ก็ให้ตัดสินใจด้วยการคิดอย่างรอบคอบแทน
3. รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
การรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง จะทำให้เราระมัดระวังในการสื่อสารกับลูกทีมมากขึ้น หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังอารมณ์ไม่ดี ให้พักการสื่อสารกับทีมก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการส่งพลังงานลบไปที่ทีม และพลอยกระทบกับการทำงานของทีมไปด้วย
ถึงแม้ว่า Blue Dolphin Rule จะเป็นหลักการที่ช่วยปรับความคิดที่ส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้ แต่ประเด็นเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควบคุมได้ยาก หากอยู่ในจุดที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ก็ให้คิดถึงใจเขาใจเราและความรู้สึกของคนฟังให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะสื่อสารออกไป
แล้วทุกคนมีประสบการณ์การรับมือกับหัวหน้าเจ้าอารมณ์ หรือมีวิธีการควบคุมอารมณ์ของตัวเองระหว่างที่กำลังทำงานอย่างไรบ้าง?
Sources: https://bit.ly/3dX0RkL
https://bit.ly/3AOiFYp
https://bit.ly/3AOiJaB