Type to search

3 กุญแจสำคัญสำหรับผู้นำยุคใหม่  เพื่อการบริหารทีมที่มีความหลากหลายให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

June 17, 2024 By Pakanut Tariyawong

ถ้าพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคนี้ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องถูกหยิบยกมาคือเรื่อง DE&I หรือ ‘ความหลากหลาย’ (Diversity) ‘ความเท่าเทียม’ (Equity) และ ‘การหลอมรวมความแตกต่าง’ (Inclusive) 3 คำนี้เป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบัน ในโลกที่ซับซ้อน การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป และการจะนำพาองค์กรก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ได้ จำเป็นจะต้องอาศัยมุมมองและความสามารถที่หลากหลาย 

ความหลากหลายที่ว่าอาจเป็นไปได้ตั้งแต่ความหลากหลายทางเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งวิธีคิด การรวมเอาคนจากแบล็คกราวน์ที่แตกต่างมาไว้ด้วยกันจะช่วยให้องค์กรได้เห็นทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น นำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้น ในรายงานการจาก Cloverpop ระบุว่า ทีมที่มีสมาชิกแตกต่างกันในด้านเพศ อายุ และเชื้อชาติ จะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น 87% เมื่อเทียบกับการตัดสินใจคนเดียว 

ความหลากหลายนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีในการทำงาน แต่การบริหารความแตกต่างกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งผู้คนที่มีความต่างต้องมาทำงานร่วมกัน ‘การสร้าง Collaboration ในทีม’ จึงเป็นโจทย์สำคัญขององค์กรยุคนี้ และคนเป็นคีย์แมนในการจัดการเรื่องนี้ก็คือ ‘ผู้นำ’ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีม ผู้จัดการ หรือกระทั่งผู้บริหารระดับสูง ผู้นำล้วนมีผลมากในการหลอมรวมความแตกต่าง ให้ทีมทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

การจะตอบโจทย์นี้ได้ ต้องทำอย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องโฟกัสบ้าง วันนี้ Future Trends สรุปมาให้เป็น 3 คีย์หลักเพื่อการบริหารความแตกต่างสำหรับผู้นำยุคใหม่  

1.  เอาใจใส่ในความหลากหลาย (Empathizes with Diversity)

อันดับแรกควรตระหนักไว้เสมอว่า ผู้คนที่มาจากหลายแบ็กกราวด์ย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะได้ออกแบบการทำงานและซับพอร์ตพวกเขาได้อย่างเหมาะสม การเป็นผู้นำจึงต้อง ‘เอาใจใส่’ ในความหลากหลาย ด้วยการเปิดใจและพร้อมที่จะทำความเข้าใจคนในทีมหรือในองค์กรอยู่เสมอ เพื่อจะได้เข้าใจมุมมอง ความคิด หรือกระทั่งวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

2. สร้างความเชื่อมั่นและเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้อื่น (Instills Trust and Courage) 

การทำให้ทีมเชื่อมั่นเป็นภารกิจสำคัญของผู้นำทุกคน ยิ่งในทีมที่มีความหลากหลายอาจมีอคติต่อความต่างหรือการไม่ยอมรับความเห็นเกิดขึ้นได้ ในสถานการณ์แบบนี้ผู้นำจำเป็นต้องทำให้ทีมเชื่อมั่นว่า ความแตกต่างของทุกคนจะช่วยนำพาทีมไปสู่เป้าหมายได้ และขณะเดียวกันก็ควรเสริมสร้างความมั่นใจกับสมาชิก ให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองคือส่วนผสมที่สำคัญของทีม 

3. เสริมสร้างการเป็นเจ้าของงาน (Enhances Ownership) 

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญ เมื่อรวมเอาผู้คนที่มีความหลากหลายมาไว้ด้วยกัน สิ่งที่ผู้นำควรทำคือสร้างการมีส่วนร่วมในงาน เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของสมาชิกในทีมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำได้โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสบายใจที่จะแสดงไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง 

เมื่อต้องบริหารทีมที่มีความหลากหลาย ลองใช้ 3 กุญแจสำคัญนี้เป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบการทำงานของคุณ และเพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นเราขอพาไปดูตัวอย่างจาก ‘บีไอจี’ ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) ที่ส่งเสริมผู้นำให้โอบรับความหลากหลายได้อย่างลงตัว 

บีไอจีเป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนเรื่องความหลากหลาย โดยได้ปลูกฝังแนวทางการทำงานแบบ DIB ให้กับผู้นำ เพื่อถ่ายทอดไปยังพนักงานทุกคน ‘DIB’ ย่อมาจาก 3 คำ ได้แก่

D-Diversity: การส่งเสริมความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะ มุมมองและประสบการณ์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของแต่ละบุคคล

I-Inclusion: การถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ได้รับการเคารพซึ่งกันและกัน และทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กรได้อย่างเต็มที่

B-Belonging: การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนกล้าแสดงศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง กล้าแสดงออกทางความคิด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และมีส่วนร่วมกับทีม โดยรับรู้ว่าความคิดของตนนั้นมีคุณค่าต่อองค์กร

หลักการ DIB เป็นสิ่งที่ผู้นำในบีไอจีใช้ในการทำงานร่วมกับในทีมและองค์กร ซึ่งจะเห็นได้ว่าใจความของ แนวทางนี้ ไม่ได้ไกลจาก 3 เรื่องสำคัญในการบริหารความแตกต่างที่ได้เล่าไป สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำยุคใหม่ต้องให้ความสนใจอย่างรอไม่ได้ เพื่อให้องค์กรรับมือได้กับความท้าทายของโลก

การบริหารความหลากหลายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากผู้นำทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันภายใต้โจทย์นี้ แน่นอนว่าจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า  ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับไหน คุณล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายภายในองค์กร

Source: