LOADING

Type to search

เปลี่ยนเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แต่เปลี่ยนวิธีได้! ‘Benjamin Franklin Effect’ เทคนิคเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร
Share

1 วัน มี 24 ชั่วโมง เราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือพูดง่ายๆ ว่า 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตเราใช้ไปกับการทำงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์ของการทำงานจึงเป็นอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้เงินเดือนที่ใช้เลี้ยงปากท้อง

ถ้าเราเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ที่น่ารัก ก็จะทำให้อยากตื่นไปทำงานทุกวัน ส่งผลให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานไม่ถูกชะตา หรือไม่กินเส้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เวลาที่ต้องมาทำโปรเจกต์ร่วมกันก็อาจกลายเป็นมลพิษทางจิตใจ และกระทบกระทั่งจนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

แล้วต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบ จะทำยังไงให้ราบรื่น? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Benjamin Franklin Effect’ เทคนิคเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรกัน

Benjamin Franklin Effect คืออะไร?

benjamin-franklin-effect 1

Benjamin Franklin Effect คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ใช้อธิบายการผูกมิตรกับผู้อื่น โดยมีที่มาจากเรื่องเล่าของรัฐบุรุษก้องโลกชาวอเมริกันอย่าง ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) ซึ่งในอดีต เขาเคยต้องร่วมงานกับศัตรูที่ไม่ชอบเขา และมักจะมีความเห็นที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อรู้แบบนี้ เขาก็เลยใช้วิธีการขอยืมหนังสือหายากจากศัตรู และแน่นอนว่า ศัตรูก็ส่งให้ จากนั้น ในสัปดาห์ถัดมา แฟรงคลินจึงส่งคืนพร้อมข้อความขอบคุณสุดซึ้ง โดยภายหลัง ศัตรูคนนั้นก็ได้กลายเป็นมิตรที่ดีต่อเขา และเป็นเพื่อนกันไปจนวันตาย

Benjamin Franklin Effect มีกลไกอย่างไร ทำไมถึงเปลี่ยนศัตรูได้สำเร็จ?

แท้จริงแล้ว กลไกที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้คือ ‘ภาวะการรับรู้ความไม่ลงรอยกันของปัญญา (Cognitive Dissonance)’ เกิดความย้อนแย้งภายในตัวเองว่า แม้ลึกๆ จะไม่ชอบหน้าอีกฝ่าย แต่ก็เต็มใจช่วยเหลือ หรือพูดง่ายๆ ว่า การกระทำนั้นสวนทางกับความคิด ความเชื่อ เมื่อรู้สึกอึดอัด สมองก็เลยเริ่มลดอคติลง และมองเห็นมุมดีๆ ของอีกฝ่ายมากขึ้น

เราจะนำ Benjamin Franklin Effect ไปปรับใช้อย่างไร?

benjamin-franklin-effect 2

แบร์รี ดาฟเรต (Barry Davret) นักเขียนบนเว็บไซต์มีเดียม (Medium) แนะนำการประยุกต์ใช้ Benjamin Franklin Effect กับชีวิตการทำงานเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. ทำความเข้าใจ และขอความช่วยเหลือศัตรูคนนั้น

อันดับแรก เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า คนคนนั้นเป็นใคร ชอบ และไม่ชอบเรื่องไหน มีเป้าหมายอะไร? เพื่อหาแนวทางเข้าหาหรือจูนกัน เช่น แฟรงคลินรู้ว่าศัตรูชอบอ่านหนังสือ เลยใช้หนังสือเป็นบันได เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่า ศัตรูชอบเที่ยว ก็อาจลองเข้าหาด้วยการขอความช่วยเหลือให้แนะนำที่เที่ยวให้ก็ได้

2. ลองขอบคุณแบบ ‘แซนด์วิช’

จริงๆ แล้ว การขอความช่วยเหลือนั้นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายชอบเรามากขึ้น มิหนำซ้ำอาจทำให้เกิดความไม่พอใจตามมา ฉะนั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว ก็ควรขอบคุณด้วยความจริงใจ แสดงให้พวกเขาเห็นว่า มันมีความหมาย และมีค่ากับเรามากเพียงใด?

โดยหลักการในการขอบคุณก็คล้ายกับขนมปังที่ประกบแซนด์วิช 2 ชั้น หรือการขอบคุณพวกเขา 2 ครั้ง เช่น การขอบคุณศัตรูในตอนต้น ต่อด้วยการบรรยายถึงความรู้สึกที่ได้รับ จากนั้น จึงปิดด้วยความซาบซึ้งในความช่วยเหลือ และคำขอบคุณอีกครั้ง

ในชีวิตจริง เวลาเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ เราไม่อาจกดปุ่มเปลี่ยนเหมือนการเปลี่ยนสินค้าหรือขอคืนเงินในเว็บไซต์ออนไลน์ได้ทันที แถมกดปฏิเสธไม่เอาก็ไม่ได้ด้วย ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนมุมมอง หาทางปรับจูนร่วมกัน เพื่อให้ทั้งเรา และเขาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

Sources: https://bit.ly/3WjxpG7

https://bit.ly/3CXWBel

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1