LOADING

Type to search

ชานมก็ขายดี แต่ทำไม Bearhouse ถึงยอมลงทุนทำเพลง ‘เป็นแสน’ ? รู้จัก Music Marketing กลยุทธ์เด็ดที่ Daiso กับ Donki ก็ใช้

ชานมก็ขายดี แต่ทำไม Bearhouse ถึงยอมลงทุนทำเพลง ‘เป็นแสน’ ? รู้จัก Music Marketing กลยุทธ์เด็ดที่ Daiso กับ Donki ก็ใช้
Share

หากใครเป็นติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ และการกิน น่าจะพอรู้จักกับซาร์ต ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และกานต์ อรรถกร รัตนารมย์ เจ้าของช่องแบร์ฮัก (Bearhug) ยูทูบเบอร์อันดับต้นๆ ของประเทศที่มีผู้ติดตามกว่า 3.7 ล้านบัญชีกันบ้าง ที่ปัจจุบันต่อยอดจากความชื่นชอบส่วนตัว และความหลงใหลจากการกินมาเปิดธุรกิจ สร้างแบรนด์ชานมไข่มุกภายใต้โลโก้รูปหมีในชื่อของ ‘แบร์เฮาส์ (BEARHOUSE)’

ซึ่งด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คุณภาพที่ยอดเยี่ยม ไข่มุกสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นโดยเฉพาะ ประกอบกับคอนเซ็ปต์ที่ ‘เรียบง่ายแต่แตกต่าง (Simple but Significant)’ ก็ส่งผลให้ Bearhouse สามารถประสบความสำเร็จ ขายดิบขายดีเป็นอย่างมาก

แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ทั้งที่ชานมก็ดูจะทำกำไรมหาศาลอยู่แล้ว แต่ล่าสุดแบร์เฮาส์ก็ได้ทุ่มเม็ดเงินเพื่อทำเพลงถึงหลักแสนเลยทีเดียว แล้วอะไรคือเหตุผลของเรื่องนี้ วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

ต้องบอกก่อนว่า การทำเพลงในครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำขึ้นมาโดยตามอารมณ์ ไม่มีจุดประสงค์นะคะ แต่ที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งการตลาดของทางร้าน หรือที่เราเรียกว่า ‘การตลาดผ่านบทเพลง (Music Marketing)’ นั่นเองค่ะ

การตลาดผ่านบทเพลงไม่ใช่การตลาดที่สดใหม่อะไร ที่ผ่านมา หลายแบรนด์ และร้านค้าชื่อดังก็เลือกใช้วิธีนี้กันเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นไดโซ (Daiso) ร้านขายของราคา 60 บาท ดองกี้ (Donki) ร้านขายไอเทมสุดฮิตที่อิมพอร์ตมาจากแดนอาทิตย์อุทัย หรือแม้กระทั่งเอ็มเค (MK) ร้านสุกี้หมื่นล้านที่อยู่คู่สังคมไทยมาหลายทศวรรษก็ด้วย

เพราะอย่างที่รู้กันว่า ดนตรีนั้นมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของเรามาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกจรรโลงจิตใจ เปลี่ยนจากอารมณ์เสียให้กลายเป็นอารมณ์ดีเพียงไม่กี่นาทีได้ หรืออย่างที่เราน่าจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า หากฟังเพลงไปด้วย ทำงานไปด้วย จะช่วยกระตุ้นสมอง เพิ่มประสิทธิภาพ และผลผลิตของงานได้มากกว่าเดิม ก่อนหน้านี้ Future Trends เคยพูดถึงเรื่องนี้ ถ้าใครสนใจลองเข้าไปอ่านกันได้นะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://bit.ly/3vIEzs4)

ซึ่งในบริบทนี้แม้ว่าจะไม่ได้นั่งทำงาน เดินซื้อของในร้านก็ตาม แต่ถ้ามีท่วงทำนองที่ฟังแล้วสนุกเพลิดเพลินเปิดคลอไปด้วย บรรยากาศภายในร้านก็ยิ่งดูมีมิติ มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างแน่นอน ดึงดูดให้คนนอกอยากเข้ามา ในขณะเดียวกัน คนในก็อาจจะฟังเพลิน เลือกของไปเรื่อยๆ ไม่อยากเดินออก

รวมไปถึงประเด็นเรื่องความเป็นแบรนด์ ที่เป็นกลไกการสร้างการจดจำได้ดีทีเดียว เพราะท่วงทำนอง จังหวะ สไตล์ของเพลงนั้นก็บ่งบอกได้ถึงภาพลักษณ์ เอกลักษณ์ (Brand Identity) และอารมณ์ที่อยากจะสื่อสาร สอดคล้องกับข้อมูลจากแบรนด์ชาแนล (Brand Channel) ที่ชี้ให้เห็นว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของแบรนด์ที่ใช้เพลงเข้ากับตัวตนของแบรนด์ส่งผลให้เกิดการจดจำได้มากกว่า และจากผลการทดลองของฮุยรีเสิร์ช (HUI Research) พบว่า เพลงที่เข้ากับตัวตนของแบรนด์กระตุ้นให้เกิดยอดขายที่มากขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์

อย่างเวลาเราได้ยินท่อนเนื้อเพลง “ฟาร์มเฮ้าส์สดใหม่ทุกเช้า ฟาร์มเฮ้าส์หอมกรุ่นจากเตา….” จากนั้นท่วงทำนองก็ดังขึ้นในหัวโดยไม่รู้ตัว แถมบางคนนี่ถึงกับร้องต่อได้ถูกต้อง ไม่ต้องเปิดเนื้อ ซึ่งดิฉันมองว่า นี่ก็อาจเป็นอีกสาเหตุของการทุ่มทุนมหาศาลครั้งนี้ด้วย เพราะเวลาที่เราฟังเพลงเดิมวนหลายรอบ ก็อาจจะหลอนติดหู เกิดอาการเอียร์เวิร์ม (Earworm) เอาได้ เผลอฮัมเพลงระหว่างทางกลับบ้านตลอดเวลา หรืออย่างปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลครั้งหนึ่ง ที่เพลง PPAP ที่มีเนื้อร้องวนอยู่แต่คำว่า “Pen, Pineapple, Apple และ Pen” ทำหลายคนหลอนหูไปเป็นเดือน

โดยในกรณีของแบร์เฮาส์ก็อาจจะคล้ายกันตรงที่เนื้อร้องมีแต่คำว่า “Bearhouse” วนไปมาด้วยน้ำเสียงของซาร์ต ผู้ก่อตั้งร้าน และเมื่อบวกกับท่วงทำนองแล้วก็เกิดเป็นกลมกล่อมฟังแล้วเพลินหู ถ้าดื่มไป ฟังไป ก็ฟินน่าดูอยู่เหมือนกัน ช่วยกระตุ้นการรับรู้ (Brand Awareness) ไม่ต้องไปนั่งกรอกหูลูกค้าว่า คุณต้องจำแบรนด์ให้นะ ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่เราต่างรู้ดีกันว่า ใครๆ ก็ไม่ชอบการโดนยัดเยียดด้วยกันทั้งนั้น

นับว่าเป็นการเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดีเยี่ยม แม้จะต้องเสียเม็ดเงินไปบ้าง แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมาก็น่าจะคุ้มค่า เนื่องจากแบรนด์ดูเข้าถึงง่ายขึ้น และเป็นเหมือน ‘คนรู้จักหรือเพื่อนยามยาก’ ของลูกค้ายังไงยังงั้น อีกทั้งในแง่มุมของการตลาด ก็ยิ่งเสริมยอดขายแบบไม่รู้จบ ก่อเกิดเป็นความจงรักภักดีของลูกค้า (Customer Loyalty) ส่งผลให้พวกเขาเหล่านี้จดจำแบรนด์ ติดใจจนต้องขอกลับมาแวะเวียนซื้อชานมไข่มุกซ้ำอีกนับสิบ นับร้อย หรือนับพันแก้วก็เป็นได้…

เพลงเป็นสิ่งที่ขับกล่อมมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอิทธิพลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของเราอย่างมาก ไม่ว่าจะทุกข์ สุข หรือเศร้า การตลาดผ่านบทเพลงจึงเป็นเรื่องที่ใช้แล้วเวิร์คกับทุกยุคทุกสมัย สำหรับใครที่ยังไม่ได้ฟังเพลงของแบร์เฮาส์ ก็ลองเข้าไปฟังกันได้ที่ https://youtu.be/iEIfhBqWN0I นะคะ บอกเลยว่า เพลินมาก ตอนเขียนบทความนี้อยู่ก็เปิดไปด้วยค่ะ ฮ่า

Source: https://bit.ly/3MhOhZe

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1