Type to search

BDI ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชนจังหวัดภูเก็ต ชู 3 แพลตฟอร์ม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยี BIG DATA และ AI วางโรดแมปสู่การเป็นเมืองต้นแบบ ด้านความยั่งยืนในทุกมิติ พร้อมเปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล และเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573

December 09, 2024 By Pakanut Tariyawong

 สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงทิศทางการดำเนินงานและความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วางยุทธศาสตร์ ชู 3 แพลตฟอร์มร่วมบูรณาการพัฒนาเมืองภูเก็ตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link) และ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform) พร้อมประกาศเดินหน้าขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อวางโรดแมป ผลักดันจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนในทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งนี้ในงานแถลงทิศทางการดำเนินงานและความร่วมมือของ BDI ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติจากนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนจากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สาขาภาคใต้ตอนบน ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ขับเคลื่อนจังหวัดอย่างมีทิศทาง

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า งานแถลงข่าววันนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ต ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การนำ Big Data มาใช้เพื่อวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ทั้งนี้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมล้วนให้ความร่วมมือกันอย่างสามัคคี สะท้อนถึงความพร้อมในการร่วมใจกันที่อยากจะเห็นพื้นที่ของตนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน

รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของ BDI คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับจังหวัดภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางอันมีชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากจะนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศซึ่งก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ปริมาณการใช้รถ ใช้ถนนเพื่อเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ  ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการของจำนวนนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาขยะอันเนื่องมาจากการบริโภคของคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ แต่ละกิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป และจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ

ตามที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่และผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัด BDI จึงได้จัดตั้งโครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Envi Link ได้ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต และ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จัดทำ “โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ก่อนจะขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป

ภายใต้โครงการดังกล่าว BDI ได้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยตอบคำถามด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศของพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ประมวลผลข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลสำคัญต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ อันได้แก่ ปริมาณการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งในส่วนของปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนี้เอง ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างง่าย ผ่านการใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาพัฒนาโมเดลจำแนกประเภทยานพาหนะกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่น รถบรรทุก รถกระบะ ฯลฯ ออกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งได้แก่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั่วไป แล้วนับจำนวนรถแต่ละประเภทที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ก่อนจะประมาณการให้กลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วคำนวณให้เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์อันเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมอื่น ๆ และถูกนำเสนอผ่านแดชบอร์ดแสดงผลข้อมูลซึ่งช่วยให้เห็นคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน ช่วยให้หน่วยงานและคนในพื้นที่สามารถเห็นแนวโน้ม และทิศทางการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมต่อไป

ภายใต้โครงการนี้ ยังได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้นับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตย่านเมืองเก่า เพื่อใช้ประมาณการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ในช่วงเวลา และวันที่แตกต่างกัน อันจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีแผนต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานในแง่มุมต่างๆ สำหรับพื้นที่เพิ่มเติม โดยได้มีการทำงานร่วมกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (Phuket City Development Co., Ltd.: PKCD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในบริการสำคัญของบริษัท ได้แก่ การให้บริการ Smart Bus EV แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในย่านพื้นที่เมืองเก่า ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรและลดมลพิษทางอากาศตัวเมือง โดย BDI ได้นำข้อมูลภาพ CCTV และข้อมูล GPS บนรถบัส มาใช้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารของแต่ละจุดจอดตามช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะการวางตำแหน่งจุดจอดรถ หรือ ตารางเดินรถ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากโครงการ Envi Link ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญแล้ว BDI ยังได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยว โดยมีการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ Travel Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลท่องเที่ยวให้ถึงกันผ่าน www.travellink.go.th จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อขยายขีดความสามารถและการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวมากกว่า 150 แดชบอร์ด ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังครอบคลุมอีกกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ Travel Link นั้น BDI ได้รวบรวมข้อมูลของการเดินทาง การพักแรม การใช้จ่าย และกระแสจากสื่อโซเชียล มาทำการวิเคราะห์ให้ทราบถึงการแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว จำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน สถิติผู้โดยสารผ่านสนามบิน และยังมีการแสดงผลสถิติผ่านอินโฟกราฟิก ที่อัปเดตรายวันและรายเดือน ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของข้อมูลได้ง่ายขึ้น สามารถช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิด Sustainable Tourism สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคเอกชนที่ร่วมใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Travel Link มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ เช่น การนำข้อมูลการท่องเที่ยวจากโครงการ Travel Link ที่กำหนดนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) ให้กับประเทศจีน และประเทศคาซัคสถาน ทั้งนี้จากนโยบายฟรีวีซ่าทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปี 2023 โดยมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท 

ในด้านการสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะของจังหวัดภูเก็ตนั้น BDI ได้ร่วมมือกับ สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต ผ่านโครงการแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart Data Analytics Platform เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลกลาง และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนงานที่ตอบรับกับนโยบายของจังหวัด โดยโครงการฯ จะรวบรวม เชื่อมโยง จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของเมืองได้อย่างทันท่วงที พร้อมนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกได้ออกแบบพิมพ์เขียวและสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคลาวด์ พร้อมอบรมและสาธิตการใช้งานคราวด์และแดชบอร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้บริการและวางแผนการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“ทิศทางการดำเงินงานของ BDI ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะยกระดับขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้กว้างยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับและตอบโจทย์กับการใช้งานในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” รศ. ดร.ธีรณี กล่าว

ร่วมเปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล

 รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ BDI ร่วมงานเปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยได้รับเกียรติจากนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้นำองค์กรเอกชนเข้าร่วมงานดังกล่าว

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีเปิดว่า รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพและรับผิดชอบ ซึ่งเรียกกันว่า Responsible Tourism โดยให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จในปี พ.ศ.2593 ดังนั้น การนำสองยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลมาปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้โครงการ Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเมืองท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ทั้งแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และหมุดหมายของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และแนวทางที่ภูเก็ตได้ดำเนินการจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อทำให้ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต กลายเป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้บรรลุผลได้ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน

ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการเติบโตของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีการฟื้นตัวที่ดีมาก และดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่การเติบโตเศรษฐกิจของภูเก็ตจะกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าคือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงแนวโน้มแรงกดดันจากนานาประเทศที่เริ่มตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ภูเก็ตจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังตามมา

ขณะที่นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการออกแบบพื้นที่นำร่อง เพื่อนำมาศึกษาหาข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหาวิธีการในการลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 30% ใน 3 ปี ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีระบบอัจฉริยะในการนับจำนวนยานพาหนะรอบย่านเมืองเก่า เพื่อให้สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะ รวมถึงดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพน้ำ จากสํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 และข้อมูลขยะจากเทศบาลนครภูเก็ต ทำให้ผู้บริหารเมืองจะมองเห็นปริมาณขยะ ปริมาณคน และปริมาณยานพาหนะแบบ Near Real-Time เพื่อการจัดการที่เหมาะสม รวมถึงมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้จัดซื้อเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ และติดตั้งในเขตย่านเมืองเก่า ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่นำไปฝังกลบลงได้อย่างน้อยวันละ 400 กิโลกรัม พร้อมประกาศสนับสนุนภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการประชุมท่องเที่ยวยั่งยืนโลกในปี พ.ศ.2569 

ด้าน รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ทาง BDI ได้ดำเนินการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นปี 2567 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน 30% ภายในระยะเวลา 3 ปี ผ่านการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data และ AI เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลภาพ บริเวณถนนคนเดินภูเก็ต หลาดใหญ่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบด้วย ปริมาณการใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า คุณภาพของน้ำ คุณภาพอากาศ และปริมาณขยะ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในย่านเมืองเก่า และนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประมาณการความหนาแน่นจำนวนคนและการใช้ยานพาหนะ ผ่านกล้อง CCTV เพื่อประมาณจำนวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยานพาหนะประเภทต่างๆ เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมการใช้ยานพาหนะร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในพื้นที่ และนำเสนอผลผ่านรูปแบบแดชบอร์ด เพื่อรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม โดยรายงานความคืบหน้าของข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน 

สำหรับโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ประกอบไปด้วย การบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในชุมชนย่านภูเก็ตเมืองเก่าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมือง โดยมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้สนับสนุนถุงแยกขยะจำนวน 4 สี คือ สีฟ้า สำหรับขยะที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการกำจัดโดยเตาเผาขยะ สีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ ที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดด้วยเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ สีเหลือง สำหรับขยะที่สามารถนำไปแปรรูปได้ และสีชมพู สำหรับไขมันในถังดักไขมัน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่เพื่อการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป โดยมีการวางแนวทางในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2573 เป็นพื้นที่แรกในประเทศไทย