LOADING

Type to search

ทำไม Apple อยากถอด ‘TikTok’ ออกจากสโตร์ สนาม ‘วิดีโอสั้น’ จะดันให้ ‘Reels’ และ ‘Shorts’ เป็นเบอร์ 1 ได้ไหม?

ทำไม Apple อยากถอด ‘TikTok’ ออกจากสโตร์ สนาม ‘วิดีโอสั้น’ จะดันให้ ‘Reels’ และ ‘Shorts’ เป็นเบอร์ 1 ได้ไหม?
Share

ถ้าคู่แข่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หายไปจากสนามทางธุรกิจ คุณจะรู้สึกอย่างไร?

หลายๆ คนคงรู้สึกว่า นี่คือโอกาสทองที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองขึ้นมาเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมเสียที หลังจากที่มีคู่แข่งรายใหญ่เป็นเสี้ยนหนามตำใจมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่า การที่คู่แข่งรายใหญ่ที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบครึ่ง จะหายไปจากสนาม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นจริงกับสนาม ‘วิดีโอสั้น’ แล้ว

เพราะวันนี้ (8 กรกฎาคม) เป็นวันเส้นตายที่ ‘เบรนแดน คาร์’ (Brendan Carr) หนึ่งในคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (Federal Communications Commission หรือ FCC) ให้ทาง ‘แอปเปิล’ (Apple) และ ‘อัลฟาเบท’ (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) พิจารณาถอด ‘ติ๊กต็อก’ (TikTok) ออกจากสโตร์ เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการที่พนักงานในจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ได้

การยื่นเรื่องของเบรนแดนคงทำให้แอปเปิลและกูเกิลอยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ได้ไม่น้อย เพราะติ๊กต็อกเป็นแอปฯ ที่ได้รับความนิยมสูงมาก หากถอดออกจากสโตร์ไป ต้องส่งผลกระทบต่อรายได้ของทั้งสองบริษัทแน่นอน แต่จะปล่อยเบลอปัดตกคำร้องไปเลยก็ไม่ได้ เพราะคนที่ยื่นเรื่องเป็นถึงหนึ่งใน FCC ที่ดูแลกิจการสื่อสารภายในประเทศ

แต่การที่หนึ่งใน FCC ออกโรงเองขนาดนี้ ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่จะเป็นผลจากเกมการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ช่วงนี้ดูจะร้อนระอุเป็นพิเศษหรือเปล่า?

การเติบโตของสนามวิดีโอสั้นทำให้ ‘ติ๊กต็อก’ ก้าวสู่การเป็น ‘Hectocorn’ ตัวแรกของโลก

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ยูนิคอร์น’ ที่ใช้ในวงการสตาร์ตอัป (Startup) กันอยู่แล้ว และการที่บริษัทจะเป็นยูนิคอร์นได้ ต้องมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับ ‘ไบท์แดนซ์’ (ByteDance) เจ้าของติ๊กต็อกได้ก้าวข้ามผ่านจุดนั้น และก้าวสู่การเป็น ‘เฮกโตคอร์น’ (Hectocorn) หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวแรกของโลกด้วยมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยจุดเด่นที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเจ้าแรกที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการพัฒนาประสบการณ์การใช้งาน เสริมทัพด้วยลูกเล่นที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้ติ๊กต็อกกลายเป็นแพลตฟอร์มในดวงใจของใครหลายๆ คน โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ติ๊กต็อกขึ้นแท่นเป็นแอปฯ ที่มียอดดาวน์โหลดเป็นอันดับหนึ่งในปี 2021 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่บ้านกัน

แล้วความเติบโตของติ๊กต็อกก็ไปเตะตา และเชื้อเชิญให้กลุ่มบิ๊กเทค (Big Tech) ลงมาเป็นผู้เล่นในสนามนี้ด้วย โดยเฉพาะ ‘เมตา’ (Meta) ที่รู้สึกว่า ติ๊กต็อกเป็นคู่แข่งคนสำคัญของตัวเองก็ไม่รอช้าที่จะเปิดตัว ‘รีลส์’ (Reels) ฟีเจอร์วิดีโอสั้นที่ถอดแบบติ๊กต็อกมาอย่างกับแกะ รวมถึงแพลตฟอร์มวิดีโอสุดเก๋าอย่าง ‘ยูทูบ’ (Youtube) ก็เปิดตัว ‘ชอตส์’ (Shorts) ฟีเจอร์วิดีโอสั้นของตัวเองเช่นกัน

การมีคู่แข่งในสนามเพิ่มขึ้นคงดิสรัปต์การเติบโตของติ๊กต็อกอยู่ไม่น้อย แถมคู่แข่งคนใหม่ยังเป็นบิ๊กเทคที่มีพร้อมทั้งประสบการณ์และเงินทุน อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของติ๊กต็อก จะส่งแรงสั่นสะเทือนต่อการแข่งขันในสนามวิดีโอสั้นอย่างไร?

วันนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาวิเคราะห์ในมิติต่างๆ หากติ๊กต็อกถูกถอดจากสโตร์ในสหรัฐฯ จริงๆ รีลส์และชอตส์จะมีโอกาสขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในสนามวิดีโอสั้นแทนติ๊กต็อกหรือไม่?

ไม่มี ‘Brand Loyalty’ อยู่จริงในสนามวิดีโอสั้น

ด้วยความที่ทั้งสามแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น แสดงผลการเล่นวิดีโอเหมือนกันมาก เมื่อตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไป ก็สามารถใช้แทนกันได้อย่างไม่ติดขัด ทำให้การสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ของแต่ละแพลตฟอร์มเป็นไปได้ยาก

และหากแพลตฟอร์มใดมีปัญหาอย่างที่ติ๊กต็อกกำลังเป็นประเด็นอยู่ ผู้ใช้งานก็อาจจะตัดสินใจย้ายแพลตฟอร์มได้ง่ายกว่าที่คิด อีกทั้งเมตาและยูทูบยังมีฐานผู้ใช้งานเดิมที่แข็งแกร่ง นี่จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้รีลส์และชอตส์สามารถครองสนามวิดีโอสั้นได้

ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานต้องมาเป็นอันดับแรก

ก่อนหน้าที่เบรนแดนจะแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์กับติ๊กต็อกอย่างชัดเจนขนาดนี้ ติ๊กต็อกก็มีประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานในหลายๆ ประเทศที่อาจจะส่งผลต่อภัยความมั่นคงของชาติ จนเคยถูกแบนชั่วคราวมาแล้ว ส่วนเมตาที่ในอดีตเป็นเฟซบุ๊ก ก็เคยมีข่าวฉาวเรื่องการทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลครั้งใหญ่ในปี 2018 ทำให้ชอตส์ของยูทูบดูจะมีภาษีในประเด็นนี้ดีกว่ามาก เพราะยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลผู้ใช้งานออกมาให้เห็นเลย

อัลกอริทึมและฟีเจอร์ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน ‘คอมมูนิตี้’ (Community)

หากพูดถึงฟีเจอร์ของทั้งสามแพลตฟอร์ม ก็ต้องบอกว่า ติ๊กต็อกและรีลส์ถือไพ่เหนือกว่าชอตส์มาก เพราะมีเครื่องมือในการสร้างวิดีโอสั้นที่จบครบมาในแอปฯ อยู่แล้ว ทั้งเอฟเฟกต์ ฟิลเตอร์ และเพลง อีกทั้งติ๊กต็อกยังพัฒนาฟีเจอร์ ‘กรีน-สกรีน’ (Green Screen) มาเอาใจสายครีเอเตอร์ด้วย ทำให้ชอตส์ที่เป็นผู้เล่นน้องใหม่ยังคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อเอาชนะจุดแข็งนี้ให้ได้

ถึงแม้ ภาพของการแข่งขันในสนามวิดีโอสั้น จะยังไม่ชัดเจนว่า ใครที่จะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งอย่างกินขาด เพราะแต่ละแพลตฟอร์มต่างก็มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบเป็นของตัวเอง รวมถึงการที่แอปเปิลและกูเกิลยังไม่ออกมาแสดงท่าทีต่อการยื่นเรื่องของเบรนแดน อาจจะเป็นการสื่อโดยนัยว่า ติ๊กต็อกสามารถแก้เกมได้สำเร็จ และยังคงอยู่ในสนามตามเดิมหรือเปล่า?

Sources: https://cnb.cx/3ysJPS2

https://bit.ly/3NZOgK4

https://bit.ly/3OReY8P

https://bit.ly/3PhxCGR

https://tcrn.ch/3nPwA9k

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like