การเริ่มต้นเป็นนักบริหารจัดการที่ดีต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เรียกว่าเป็น ‘ตัวจริง’ มี ‘ความมั่นใจที่เหมาะสม’ และมี ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ อีกทั้งไม่ลืมทักษะการ ‘สื่อสารที่ดี’ เป็นคุณสมบัติและทักษะเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับตัวของคุณเอง จะช่วยให้เป็นบันไดไปสู่การเป็นนักบริหารจัดการที่ ไม่ว่าคุณจะทำงานระดับตำแหน่งใด
ดังที่กล่าวไป Future Trends ได้นำเสนอไปแล้ว สามารถอ่านเรื่อง “‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ 4 สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเลื่อนตำแหน่ง สู่การเป็นนักบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จ” ได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3JqCpF8
ทั้งนี้ นักบริหารจัดการที่ดีต้องเป็น ‘นักจูงใจ’ ชั้นยอดด้วย ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ตามทำงานที่กำหนดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล โดยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ฟังนั้นจำเป็นจะต้อง
- วางแผน : พิจารณาแนวทางและวิธีการรับมือข้อโต้แย้ง โดยเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงแผนการ
- รู้จักผู้ฟัง : ค้นหาความสนใจและปัญหาที่แท้จริงของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการใดๆ ในการทำงาน
- สร้างอารมณ์เชิงบวก : การกล่าวชมเชยอย่างสุภาพสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ผู้ฟังจะเปิดรับการจูงใจเพิ่มมากขึ้น ถ้าพวกเขาชื่นชอบคุณ
- เลือกช่วงเวลาที่เหมาะ : เอาใจใส่อารมณ์ของผู้ฟังเสมอและคว้าโอกาสทุกครั้งที่มี
- ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ฟัง : ใช้ภาษากายเช่นเดียวกับพวกเขา หากพวกเขาโน้มตัวมาข้างหน้า คุณควรทำเช่นกัน จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสัมพันธ์ทางอารมณ์มากขึ้น
- สิ่งที่ผู้ฟังจะได้? : แสดงให้ผู้ฟังเห็นว่าพวกเขาจะได้รับสิ่งที่ให้ความสนใจมากที่สุด ถ้าเห็นด้วยกับคุณ จงทำให้เชื่อว่าพวกเขากำลังเลือกทางเดินที่ถูกต้อง
- แสดงผลลัพธ์ : ต้องแน่ใจว่าคุณแสดงให้ผู้ฟังเห็นว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบะนอย่างไร
- แจ้งให้ทำงาน : ตั้งคำถามเพื่อชี้นำผู้ฟังไปยังบทสรุป ผู้ฟังมีแนวโน้มเห็นด้วยมากขึ้น ถ้าพวกเขารู้สึกว่า พวกเขาได้เดินทางมาถึงบทสรุปด้วยตนเอง
- แสดงความชัดเจน : แจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ผู้ฟังรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสีย นำเสนอทางออกที่จะช่วยเหลือ และเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง
- ตอบแทน : แจ้งให้ทราบว่าคุณจะทำอะไรให้เป็นการตอบแทน พวกเขาอาจรู้สึกทราบซึ้งกับสิ่งนั้น และมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยมากขึ้น
- แสดงตัวอย่างสนับสนุน : กล่าวถึงมุมมองของคนที่ผู้ฟังจะเชื่อถือ เนื่องจากผู้คนมักคิดหรือทำตามความเชื่อของคนที่พวกเขาเคารพเสมอ
- การพูด : สิ่งที่กล่าวมาจะมีปรสิทธิผลต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญ
สรุป
การสร้างแรงจูงใจ เป็นทักษะและวิธีการสำคัญของนักบริหารจัดการทุกระดับ ทั้งผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือหัวหน้าทีม ที่ต้องบริหารจัดการผู้ตามหรือคนในองค์กรให้สามารถทำงานตามที่คุณกำหนดไว้ได้อย่างราบรื่นและมุ่งสู่จุดหมายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิผล
โดยการเป็นนักจูงใจนั้น จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีเป็นพื้นฐาน จากนั้นต้องรู้จักวางแผนการ ทำความรู้จักผู้ถูกจูงใจ สร้างบรรยากาศอารมณ์เชิงบวก รู้จังหวะเวลา แสดงภาษากายที่เหมาะสม สามารถแสดงผลลัพธ์ สิ่งที่ผู้ฟังจะได้หรือสิ่งที่คุณจะทำให้ รวมถึงแสดงสิ่งสนับสนุนความคิดได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยต้องชัดเจนบอกทั้งด้านดีด้านเสียให้ครบถ้วน
ทั้งหมดดังที่กล่าวไป เป็นหนึ่งในบทความชุดการบริหารจัดการซึ่ง Future Trends ได้สรุปสาระสำคัญจากคำแนะนำของ เอ็มมา เดอ วิตา (Emma De Vita) บรรณาธิการนิตยสาร Management Today มานำเสนอเป็นตอน เพื่อช่วยให้คุณนำไปปรับใช้ในการทำงานบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จและเติบโตในการทำงานต่อไป ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ให้ติดตามอีกหลายตอน โปรดติดตาม
เรียบเรียงโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ ‘ศิลปะการบริหารจัดการ’ (The Management Masterclass) เขียนโดย Emma De Vita แปลโดย ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์ สำนักพิมพ์ Expernetbooks