จากข่าวลือล่าสุดสำหรับการเปิดตัว iPhone15 ที่มีแนวโน้มว่าจะหันมาใช้ USB-C เป็นการเชื่อมต่อแบบใหม่นับจากรุ่นนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ ในวันที่ 12 นี้น่าจะเห็นคำตอบไปพร้อมๆ กัน
การเดินทางอันยาวนานของ Universal Serial Bus (USB) เกิดขึ้นในปี 1990 จาก USB 1.0 ผ่านการเวลา มาจนถึง USB-C ล่าสุดที่เราคุ้นตา เทคโนโลยีนี้ใหม่ได้รับการปรับปรุงทั้งในด้านความเร็ว การจ่ายพลังงาน
การออกแบบ USB-C ไม่ใช่มาตรฐาน USB ใหม่ในแง่ของความเร็วในการส่งข้อมูลหรือพลังงาน แต่สิ่งที่ทำให้มันโดนเด่นจนเป็นมาจรฐานใหม่เกิดจากรูปทรงตัวเชื่อมต่อที่รองรับมาตรฐาน USB ต่างๆ
การกำเนิดของ USB-C จึงเป็นเสมือนเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการออกแบบตัวเชื่อมต่อ เป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนตัวของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไปสู่ความเข้ากันได้ และให้ประสิทธิภาพในระดับสากลในอนาคต
[การเชื่อมต่อแบบพลิกกลับได้สองทางคือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ]
สิ่งที่น่าหงุดหงิดใจของใครหลายคนคงเป็นเรื่องของช่องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ มีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันมากมาย คุณคงไม่ต้องการช่องเสียบ USB-A (ขนาด Flashdrive) บนสมาร์ทโฟนที่ทันสมัยของคุณ เพราะมันใหญ่เกินไป แต่ USB-C ที่มีขนาดเล็กและรับ – ส่งข้อมูลได้สองทาง ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะกับอุปกรณ์ทุกประเภท ตั้งแต่พีซีและแท็บเล็ต ไปจนถึงกล้องและโทรศัพท์
เลยทำให้ใช้สายเคเบิลเพียงประเภทเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับอุปกรณ์ทั้งหมดของคุณ
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าปวดหัวสำหรับขั้วต่อ USB รุ่นเก่าคือมันพอดีเพียงด้านเดียวเท่านั้น สารภาพว่าคงไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ๆ คลำเราหาด้านที่ถูกต้องขณะเสียบสาย USB แบบเก่า และพลิกกลับเพื่อลองวิธีอื่น แต่กลับพบว่าเอ้า ครั้งแรกก็ถูกแล้วนิ และ USB-C ก็ขจัดความรำคาญนี้ด้วยการพลิกกลับด้านได้
[หน้าตาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน]
แม้หน้าตาของ USB Type-C จะมองผ่านๆ มีความคล้ายกัน แต่ถ้ามองลึกลงไป มีความต่างกันในแต่ละรุ่นอยู่ ดังนี้
USB Type-C มาตรฐาน โอนถ่ายข้อมูลได้เร็วสูงสุดถึง 20Gbps และรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าในจำนวนที่ทางผู้ผลิตเลือก ปัจจุบันนิยมใช้ในสมาร์ตโฟนและแท็ปเล็ต
USB Type-C PD หรืออีกชื่อคือ Power Delivery ถ่ายโอนข้อมูลได้เหมือนพอร์ต USB-C ทั่วไป แต่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า และสามารถรองรับกำลังไฟสูงสุดถึง 100วัตต์ โดยสังเกตุง่ายๆ ว่าจะมีสัญลักษณ์ PD อยู่ที่ตัวของสายหรือกล่องอุปกรณ์
USB TYPE-C DP หรืออีกชื่อคือ Display Port เป็นพอร์ตเสริมคุณสมบัติการรองรับสัญญาณภาพ ส่วนมากจะอยู่ Notebook รุ่นใหม่ๆ โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์อักษรตัว DP บริเวณช่องเชื่อมต่อที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์นี้รองรับการต่อจอภาพได้ แต่ว่า หากสายไม่รองรับการส่งสัญญาณภาพก็ไม่สามารถใช้งานได้
Thunderbolt ชื่อนี้อาจพอคุ้นหูหลายคนอยู่บ้าง ด้วยรูปทรงและหน้าตาคล้ายกันกับ USB-C เรียกได้ว่ามาพร้อมความสามารถครอบจักรวาล โดยปัจจุบัน Thunderbolt 4 จะมาพร้อมคุณสมบัติทั้งรับถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 40 Gbps, ชาร์จไฟด้วยกำลังไฟสูงสุด 100วัตต์ และส่งสัญญาณภาพต่อจอระดับ 4K ได้มากถึง 2 จอ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแล็ปท็อปที่มีสัญลักษณ์สายฟ้า พบเห็นได้บน MacBook, iMac
[ความเป็นสากลส่งผลสู่ความเปลี่ยนแปลง]
ข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมา คือการผลักดันของสหภาพยุโรป (EU) ไปสู่การนำตัวเชื่อมต่อ USB-Type C มาใช้ ซึ่งปัจจุบันกฎระเบียบของสหภาพยุโรปกำหนดให้บริษัทต่างๆ เช่น Apple ใช้ USB Type-C ไว้ในอุปกรณ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงคีย์บอร์ด
ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ตราบใดที่สามารถชาร์จด้วยสายได้ อุปกรณ์เหล่านี้ต้องรองรับการถ่ายโอนข้อมูล USB มาตรฐานและ USB Power Delivery (PD)
เป้าหมายหลักเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ การบรรลุประสบการณ์การชาร์จที่ลื่นไหลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ และเพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของสาธารณรัฐเช็ก เน้นย้ำถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปจะมีที่ชาร์จ 3 อัน แต่มักใช้เพียง 2 อันเท่านั้น
แม้จะเกิดการตั้งคำถามว่าการผลักดัน USB-C จะสามารถลดของเสียได้ แต่อาจขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือไม่ หรือกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีอื่นๆ จากสหภาพยุโรปในอนาคตอาจมีอิทธิพลต่อแนวโน้มเทคโนโลยีทั่วโลกและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฏหมายนี้เป็นผลดีที่มากกว่ากับผู้บริโภค
หลังจากนี้ เทคโนโลยีของการเชื่อมต่อจะไปในทิศทางไหน หรือเราจะเห็นอะไรเพิ่มเติมอีกในอนาคต ยุคต่อไปจะเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย 100% หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าหาคำตอบไปพร้อมกัน
====
Sources:
https://www.zdnet.com/article/apples-lightning-to-usb-c-switch-what-iphone-owners-need-to-know/
https://veryfrank.medium.com/one-usb-c-connector-to-rule-them-all-8ee9a328c733