อยู่คู่คนไทยมา 49 ปี มีจุดเริ่มต้นจากลูกจ้างที่กลัวตกงาน 3 บทเรียนปั้นแบรนด์ให้แตกต่างของ ‘สามแม่ครัว’

Share

“สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ”

วาทกรรมคู่บุญของมนุษย์เงินเดือน ผู้เฝ้ารอตัวเลขที่มีค่าเท่ากับค่าตอบแทนประจำเดือนปรากฏในบัญชีอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่จะได้ทำในสิ่งที่ใจปรารถนา ต้องการจะซื้อหรือทานอะไรก็ไม่มีข้อจำกัดมาขวางกั้น เพราะกว่าจะถึงวันเงินเดือนออกต้องห้ามใจตัวเองไว้ไม่รู้กี่ครั้ง

เมื่อพูดถึงช่วงสิ้นเดือน หลายๆ คนต้องนึกถึงอาหารที่ถูกนิยามให้เป็นไอคอนิกของช่วงเวลานี้อย่างแน่นอน

“ถ้าไม่นึกถึง ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ เป็นอันดับแรก ก็ต้องนึกถึง ‘ปลากระป๋อง’ เป็นอันดับสอง”

แต่ต่อให้ไม่ใช่ช่วงสิ้นเดือน ปลากระป๋องก็เป็นอาหารที่หลายบ้านกักตุนไว้ เพราะนอกจากจะเก็บได้นานแล้ว ยังสามารถรังสรรค์เป็นเมนูได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด รสชาติของปลากระป๋องก็สามารถผสมผสานได้อย่างลงตัว

ถึงแม้ปลากระป๋องจะเป็นสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวและพบเห็นได้ทั่วไป แต่เบื้องหลังการแข่งขันของธุรกิจกลุ่มนี้กลับดุเดือดกว่าที่คิด และแบรนด์ที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้เป็นอันดับหนึ่ง ก็คือแบรนด์ที่โดดเด่นด้วยแคแรกเตอร์ผู้หญิง 3 คนอย่าง ‘สามแม่ครัว’ นั่นเอง

ปัจจุบัน สามแม่ครัวดำเนินธุรกิจมาแล้วเกือบ 50 ปี ถึงจะไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวาเท่ากับสินค้าในกลุ่มธุรกิจประเภทอื่น แต่ก็ยังครองความเป็นเจ้าตลาดมาได้อย่างยาวนาน และมีรายได้ต่อปีหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว

เราไม่ได้ตั้งใจมาพูดถึงความสำเร็จของ ‘สามแม่ครัว’ เจ้าตลาดปลากระป๋องไทยเพียงอย่างเดียว แต่แนวคิดการทำธุรกิจและการปั้นแบรนด์ของผู้บริหารมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง

แล้วเบื้องหลังการปั้นแบรนด์ ‘สามแม่ครัว’ เป็นอย่างไร? Future Trends จะพาทุกคนไปทำความรู้จักแบรนด์นี้ให้มากขึ้น

Image by jcomp on Freepik

‘สามแม่ครัว’ ธุรกิจที่เกิดจาก ‘Passion’

การเป็นเจ้านายตัวเอง หรือการมีธุรกิจส่วนตัวคงเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน และก็เป็นความใฝ่ฝันของ ‘สุวัฒน์ อุดมบัณฑิตกุล’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สามแม่ครัวด้วย

สุวัฒน์เริ่มต้นธุรกิจด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ไม่ต้องการถูกเลิกจ้าง’ และ ‘ไม่ต้องการที่จะแก่ตายไปเฉยๆ’ เขาและเพื่อนอีก 5 คน ตัดสินใจลาออกจากงาน และหันมาทำธุรกิจของตัวเองด้วยการขายปลากระป๋องแบบลองผิดลองถูก

ช่วงแรกของการทำธุรกิจไม่มีอะไรง่าย รายได้ก็มีเพียงคนละนิดคนละหน่อย ยิ่งการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่กลุ่มผู้ก่อตั้งก็ไม่ยอมแพ้ และพยายามหากลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถเร่ไปขายตามคอนเสิร์ต การให้ลูกค้านำฉลากมาชิงโชคแลกของรางวัล หรือแม้แต่โปรโมชัน ‘ลด แลก แจก แถม’ ที่ใช้กันทั่วไปก็ตาม

กลยุทธ์ทุกอย่างดำเนินไปด้วย ‘แพชชัน’ (Passion) หรือความต้องการในการทำธุรกิจอย่างแรงกล้า ซึ่งลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจและเริ่มเปิดใจซื้อสินค้า จนเกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักนับแต่นั้นเป็นต้นมา

หากวันนั้นสุวัฒน์ไม่ได้ตัดสินใจตามความเชื่อของตัวเอง และเลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นพนักงานบริษัทต่อไป ธุรกิจจากแพชชันอย่าง ‘สามแม่ครัว’ คงไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

3 บทเรียนปั้นแบรนด์ให้แตกต่างของ ‘สามแม่ครัว’

เคลต มาสก์ (Clate Mask) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Keap ซอฟต์แวร์ด้านการขายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ได้สรุป 3 องค์ประกอบสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจไว้บนเว็บไซต์ Entrepreneur อย่างน่าสนใจ

และจากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสามแม่ครัว ก็พบว่า จริงๆ แล้วเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์มีการผสมผสานระหว่าง 3 องค์ประกอบนี้เช่นกัน

แล้ว 3 องค์ประกอบที่กล่าวถึงมีอะไรบ้าง? เราสรุปออกมาเป็น Key Takeaway ให้แล้ว

Image on tops.co.th

1. Passion : แรงขับเคลื่อนสำคัญในการทำธุรกิจ

‘แพชชัน’ หรือความต้องการในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผลักดันเจ้าของธุรกิจในวันที่ท้อ หรือหลงลืมความตั้งใจแรกของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะการทำธุรกิจย่อมต้องเจอกับอุปสรรคที่ทำให้หวั่นไหว จนตัดสินใจยอมแพ้ได้เสมอ

อีกทั้งแพชชันยังทำให้เจ้าของธุรกิจมองเห็นโอกาสของแบรนด์อยู่เสมอ อย่างการที่สุวัฒน์พยายามเอาชนะใจลูกค้าในช่วงก่อร่างสร้างแบรนด์อย่างไม่ย่อท้อ และพยายามมองหาลู่ทางใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ของตัวเองอยู่เสมอ

2. Freedom : อิสรภาพจะนำมาซึ่งความสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นอิสรภาพทางความคิด เวลา หรือเงิน ก็ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโต การจำกัดความคิดของตัวเองอยู่ในกรอบ หรือไม่ได้ให้เวลากับการทำธุรกิจอย่างเต็มที่ จะส่งผลกระทบไปถึงการกำหนดทิศทางของแบรนด์ในอนาคตด้วย

ซึ่งช่วงแรกของการทำธุรกิจ สุวัฒน์ให้เวลากับการปั้นแบรนด์อย่างเต็มที่ และพยายามไม่ปิดกั้นความคิดในการทำการตลาด จนเกิดเป็นวิธีการสื่อสารที่เข้าถึงคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

3. Impact : สร้างการเป็นที่จดจำในใจของผู้คน

ด้วยความที่สินค้าของสามแม่ครัวเป็นอาหารแปรรูป และอาหารก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตอยู่แล้ว ทำให้ตัวสินค้าสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้คนได้ไม่ยาก แต่การจะเป็นที่จดจำนั้นยากกว่า เพราะมีคู่แข่งมากมายรายล้อมอยู่รอบตัว

หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการจดจำที่น่าสนใจ ก็คือคำว่า ‘สามแม่ครัว’ ที่เป็นชื่อของแบรนด์นั่นเอง เดิมทีสุวัฒน์ตั้งใจที่จะใช้ชื่อว่า ‘แม่ครัว’ อย่างเดียว แต่เลือกที่จะเติมคำว่า ‘สาม’ เข้าไปด้วย เพราะน่าจะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความอร่อยได้มากกว่า ซึ่งผลทางจิตวิทยาก็ทำได้สำเร็จ และกลายเป็นชื่อแบรนด์ที่ติดหูมาจนถึงทุกวันนี้

และบทเรียนความสำเร็จของสามแม่ครัวน่าจะตอบคำถามในใจใครหลายๆ คนเกี่ยวกับ ‘แพชชัน’ ของชีวิตได้เป็นอย่างดี

Sources: https://bit.ly/3fxIYtB

https://bit.ly/3rhOYsX

https://bit.ly/3LSVkbG