สำหรับบ้านเรา อาชีพที่ขึ้นชื่อว่า น่ายกย่องเชิดชูคงมีอยู่ไม่กี่อาชีพ แต่แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นอาชีพสุดคลาสสิกอย่าง ‘ชาวนา’ ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ เนื่องจากพวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตอาหารหลักของคนทั้งประเทศ
อีกแง่มุมหนึ่ง ชาวนายังเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความวิริยะอุตสาหะ เพราะต่อให้ต้องผ่านแดด ลม ฝนสักเท่าไร พวกเขาก็ทุ่มเททำงานหนัก หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ซึ่งในโลกของการทำงาน เราสามารถนำวิธีของชาวนามาปรับใช้ เพื่อเก็บเกี่ยวความสำเร็จ และสร้างทีมเวิร์กได้ด้วย
แล้วชาวนาเขามีวิธีคิดอย่างไร เราจะเอามาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
1. ‘เตรียมแรงสนับสนุน’ ให้เหมือน ‘เตรียมดิน’
ถึงเมล็ดข้าวจะปลูกง่าย แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยก็ไร้ค่า ไม่ต่างอะไรกับคนในทีมที่ต่อให้เก่งกาจสักเท่าไร แต่ถ้าหัวหน้าไม่สนับสนุนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการไม่สนใจ ให้คลำวิธีทำกันเอาเอง หรือแม้กระทั่งการใช้ความสามารถพวกเขาอย่างผิดที่ ผิดทาง ความสำเร็จในน้ำบ่อหน้าที่หวังไว้ก็ย่อมไกลเกินเอื้อม
2. ‘ตั้งใจนำทีม’ ให้เหมือน ‘ตั้งใจปลูกเมล็ด’
“หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น” การนำทีมก็เช่นกัน หากไร้การวางแผนหรือวางแผนไม่ดี เมื่อทุกคนไม่เห็นภาพที่ตรงกัน สิ่งต่างๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น เราควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ทำทั้งหมดเพื่ออะไร แท้จริงแล้ว อยากโฟกัสที่ตรงไหนกันแน่?
3. ‘ปล่อยให้โตเอง’ เหมือน ‘เมล็ดข้าว’
อย่างที่เล่าว่า ข้าวนั้นปลูกง่าย แค่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีก็เพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับทีม เวลามอบหมายอะไรไป ก็ไม่ควรเข้าไปกำกับเองทั้งหมด ไว้วางใจกันและกัน หลีกเลี่ยงการ Micromanage คอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เข้าไปช่วยเมื่อพวกเขาร้องขอหรือเท่าที่จำเป็นก็พอ
4. ‘กำจัด Toxic’ ให้เหมือน ‘กำจัดวัชพืช’
วัชพืชคือ ปรสิตที่ชอนไช กัดกินต้นไม้ ใบหญ้า หรือข้าวที่ชาวนาเป็นคนปลูก ซึ่งก็คล้ายกับพฤติกรรมของพนักงานบางคนที่ไม่ดี หรือคนในทีมที่ Toxic ถ้ารู้ตำแหน่งแล้วคือคนไหน? ก็ให้รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก่อนที่พวกเขาจะบั่นทอนประสิทธิภาพของทีมไปมากกว่านี้
5. ‘เก็บทุกเรื่องราวไว้เป็นบทเรียน’ ให้เหมือน ‘ประสบการณ์จากการเก็บเกี่ยวครั้งก่อน’
ไม่มีอะไรได้ดั่งใจไปทุกเรื่อง ขนาดชาวนายังเคยคาดการณ์ผิดพลาด แต่ที่ประสบความสำเร็จได้นั่นก็เพราะเขาเก็บเรื่องราวความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อปรับปรุงการเพาะปลูกครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
อะไรที่พลาดก็ยอมรับ อย่ายึดติดกับสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ลูกน้องไม่ได้ผิดตลอด ในทางกลับกัน หัวหน้าก็ไม่ได้ถูกเสมอ ความผิดพลาดไม่ได้น่ากลัว แต่จริงๆ แล้วเป็นโอกาสที่จะเติบโตเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิมต่างหาก
และนี่คือวิธีการทำงานให้สำเร็จแบบชาวนาที่เรานำมาฝาก ลองนำไปปรับใช้กันดู ไว้ครั้งหน้าถ้ามีอะไรดีๆ น่าสนใจอีก เราจะเอามาฝากอีกอย่างแน่นอน!
Sources: https://bit.ly/3DoVYef