ทำไปวันๆ ไม่ Upskill ไม่เปลี่ยนแปลง ระวังเข้าตำรา ‘ทฤษฎีกบต้ม’ ตายช้าๆ โดยไม่รู้ตัว

Share

เรื่องกบๆ เป็นเรื่องที่เรามักพบเจอในชีวิตประจำวันกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกบที่ชอบแอบเข้ามาในบ้านตอนฝนตก หรือแม้กระทั่ง Eat that frog สุดยอดเทคนิคการทำงานที่ทำให้ทั้งวันไม่ยากอีกต่อไปของไบรอัน เทรซี (Brian Tracy) นักพูด และนักเขียนชื่อดังด้านการพัฒนาตัวเอง

แต่นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว กบก็ยังถูกนำไปใช้กับทฤษฎีคลาสสิกอย่าง The Boiled Frog Theory และสามารถเปรียบเทียบได้กับเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องบางคน หรือองค์กรบางแห่งที่ทำงานไปวันๆ แบบ ‘เช้าชาม เย็นชาม’ จนอาจตายอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัวได้ด้วย

The Boiled Frog Theory คืออะไร เอามาใช้ในโลกการทำงาน และแง่มุมอื่นยังไง ถ้าเราไม่อยากกลายเป็นกบต้ม แต่อยากเป็นกบรอด จะรับมือด้วยวิธีไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

The Boiled Frog Theory คืออะไร?

Source: https://www.fikrikadim.com/2022/08/28/boiled-frog-syndrome/#gsc.tab=0

The Boiled Frog Theory หรือทฤษฎีต้มกบถูกเสนอในปี 1993 โดยทิชยันต์ เชอร์แมน (Tichyand Sherman) นักวิชาการชาวไอริช โดยเขาได้ทำการแบ่งหม้อออกเป็น 2 ใบ ใบแรก ตั้งน้ำให้เดือดแล้วโยนกบลงไป ส่วนใบที่สอง ตั้งเป็นอุณหภูมิปกติแล้วโยนกบลงไปเช่นกัน จากนั้น ก็ค่อยๆ ปรับอุณหภูมิให้อุ่นจนน้ำเดือดในที่สุด

ผลปรากฏว่า เมื่อเจอกับความร้อน ตามสัญชาตญาณของสัตว์เลือดเย็น กบในหม้อแรกก็รีบกระโดดออกทันที ในขณะที่กบในหม้อที่สอง ต่อให้น้ำที่กำลังแช่อยู่จะเดือดเรื่อยๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตก็ตาม แต่มันก็เลือกที่จะอยู่นิ่งๆ ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ และแน่นอนว่า กว่ากบตัวนั้นจะรู้ตัวก็ถูกต้มจนสุก ตายคาหม้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

The Boiled Frog Theory เอาไปใช้กับชีวิตการทำงาน และการบริหารทีมได้ยังไง?

หากเรามาไล่เรียงกันแบบละเอียด จริงๆ แล้ว สถานการณ์ดังกล่าวก็เปรียบได้กับเพื่อนร่วมงานลูกน้องบางคน หรือองค์กรบางแห่งที่ยึดติดวิธีการเดิมๆ ที่ได้ผล นิ่งนอนใจ ทำงานไปวันๆ ไม่ขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ มาเติมใส่สมอง ไม่ Upskill Reskill ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง

ทีนี้ พอเจอวิกฤตเข้า อย่างเช่น โควิด-19 หรือธุรกิจอื่นที่คืบคลานเข้ามา Disrupt ก็เลยไม่แปลกที่จะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา ไม่ต่างจากกบที่เหลือแต่วิญญาณคาหม้อ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่อยากทำให้ตัวเอง ลูกน้อง หรือองค์กรกลายเป็นกบที่ถูกต้ม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ควรหมั่นเรียนรู้ กลับมาทบทวนวิธีการทำงานอยู่บ่อยๆ ลองเปลี่ยนจากการทำงานแบบ Waterfall ที่มีพิธีรีตองเยอะ เป็นการทำงานแบบ Agile เพื่อความคล่องตัวแทน

รวมไปถึงควรอัปเดตเวอร์ชันความรู้ที่มีอยู่ผ่านการท้าทายตัวเองด้วย ‘การตั้งคำถามกับความคิด และความเชื่อ’ ไปพร้อมๆ กัน ทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว หรือถ้ามีน้ำในแก้วเยอะแล้ว ก็ควรเททิ้งแล้วเติมลงไปใหม่เป็นประจำ

เหมือนกับที่โยดา (Yoda) ตัวละครในภาพยนตร์สตาร์วอร์ (Star Wars) เคยกล่าวไว้ว่า “You must unlearn what you have learned.” คุณต้องหมั่นเรียนรู้ใหม่ในสิ่งที่เคยเรียนรู้ด้วย

The Boiled Frog Theory ในแง่มุมอื่นเป็นอย่างไร?

Image by kuritafsheen77 on Freepik

อันที่จริง ทฤษฎีนี้ไม่ได้ใช้แค่กับโลกการทำงานเท่านั้น แต่ก็มีหลายๆ คนเอาไปเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ไม่ยอมปรับตัว และบางคนที่มีวิธีคิดการใช้ชีวิต ‘แค่วันนี้’ ด้วย อย่างเช่น โกดัก (Kodak) ที่ครึ่งหนึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการกล้อง แต่เพราะการยึดติดแต่กล้องฟิล์มแบบเดิมๆ ไม่เปิดใจลงทุนกับกล้องดิจิทัล ทำให้เมื่อรู้ตัวอีกที พอจะเปลี่ยนไปทำกล้องดิจิทัลบ้างก็ตามคู่แข่งไม่ทันซะแล้ว ด้วยเหตุนี้ เลยทำให้ทุกวันนี้โกดักเป็นเพียงแค่ตำนานที่เหลือไว้แต่ชื่อนั่นเอง

หรืออย่างสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นเหมือนน้ำที่ร้อน ค่าครองชีพที่พุ่งสูง เศรษฐกิจที่นับวันก็ยิ่งถอยหลังลงคลอง แต่บางคนก็กลับเลือกใช้ชีวิตแบบไม่ถอย ฝากความหวังไว้กับออฟฟิศ หรืองานที่ทำ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแบบเดือนชนเดือนเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เก็บเงินฉุกเฉินเผื่อในอนาคต ซึ่งพอเกิดการ Layoff ก็พลอยทำให้ช็อกน้ำ และลำบากกว่าคนอื่นๆ

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ อยากเป็น ‘กบรอด’ แบบหม้อแรก หรือ ‘กบที่ถูกต้มยำทำแกง’ แบบหม้อที่สอง มีคนใกล้ตัวที่เข้าตำราทฤษฎีนี้ไหม เป็นยังไงบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3CtqIL2

https://bit.ly/3Cv9PQc

https://bit.ly/3ydLbkl

https://bit.ly/3M8SXBN

https://bit.ly/3Sv9bHK