ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเห็นข่าวการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการในการขนส่งสินค้าของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ รัฐวิสาหกิจที่อยู่คู่คนไทยมาเกือบ 140 ปี ถ้าเทียบเป็นขวบปีของครอบครัวหนึ่ง ก็คงเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคคุณทวดมาสู่ยุคเหลนเจนแซด (Gen-Z) เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการของไปรษณีย์ไทย เป็นการปรับครั้งแรกในรอบ 18 ปี (สามารถเช็กอัตราค่าบริการที่เปลี่ยนแปลงได้ที่ https://bit.ly/3QkWWMH) ส่วนสาเหตุที่มีการปรับขึ้นราคาก็หนีไม่พ้นภาวะทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งสื่อหลายสำนักยังไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทขนส่งในไทย จนพบว่า ในปี 2021 ไปรษณีย์ไทยขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ทำให้คาดเดาได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุของการปรับขึ้นราคาอาจจะเป็นผลจากการขาดทุนสะสมของไปรษณีย์ไทยด้วย
แล้วเส้นทางธุรกิจของรัฐวิสาหกิจไทยอายุรุ่นราวคราวคุณทวดเดินทางมาถึงจุดที่ขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาทได้อย่างไร? และที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยปรับตัวสู้กับคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่างไรบ้าง? เราจะพาไปไล่เรียงพร้อมๆ กัน
ธุรกิจขนส่งไทยแข่งกันดุเดือดใน ‘น่านน้ำสีแดง’ ที่เชี่ยวกราก
หลายๆ คนคงเคยได้ยินกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดที่แบ่งออกเป็นน่านน้ำ 4 สี 4 สาย (Ocean Strategy) ซึ่งในบทความนี้ เราคงไม่ได้มาไล่เรียงว่า ความหมายของน่านน้ำแต่ละสายเป็นอย่างไร แต่เราจะพูดถึง ‘น่านน้ำสีแดง’ (Red Ocean) ที่เป็นภาพสะท้อนการแข่งขันธุรกิจขนส่งไทยได้ดีที่สุด
น่านน้ำสีแดง หมายถึงสภาพของตลาดที่ผู้เล่นทำธุรกิจแบบเดียวกันทุกอย่าง และหนทางที่จะทำให้เป็นผู้ชนะได้ คือต้องตัด ‘ราคา’ ให้มากที่สุด เกมการตัดราคา โปรโมชันแบบเหมาจ่าย จึงมีให้เห็นได้ทั่วไป อย่างเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) ที่มีโปรโมชันค่าส่งเริ่มต้น 19 บาท หรือแฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ที่มีโปรโมชันลดค่าส่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกพื้นที่ทั่วไทย
ความร้อนแรงของคู่แข่งหน้าใหม่ เข้ามาดิสรัปต์การทำธุรกิจของไปรษณีย์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากที่เคยเป็นรายใหญ่ของธุรกิจขนส่งไทย เรียกได้ว่า มีความผูกขาดตลาดและทุกพื้นที่ทั่วไทยก็ไม่ปาน กลับต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่ต่างจากการที่ผู้ใหญ่วัย ‘เบบี้ บูมเมอร์’ (Baby Boomer) ต้องพยายามเข้าใจลูกหลาน ‘เจนแซด’ เลยแม้แต่น้อย
การปรับตัวของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ : ปรับตัวแล้วแต่ยังดีไม่พอ?
ถึงแม้ หลายๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ จะรู้สึกว่า การขาดทุนของไปรษณีย์เกิดจากการที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกในปัจจุบันหรือเปล่า?
คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’
เพราะย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อน ไปรษณีย์ไทยทราบดีว่า ตัวเองกำลังถูกดิสรัปต์จากคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงที่มีพร้อมทั้งเงินทุน ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวเป็น ‘ไปรษณีย์ไทย 4.0’ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ มากขึ้น เช่น บริการ Prompt Post ฝากส่งสิ่งของออนไลน์ผ่านระบบ EMS เครื่องรับ-คัดแยกพัสดุอัตโนมัติ การพัฒนา Wallet Post และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่การปรับตัวด้วยเทคโนโลยีของไปรษณีย์ไทยไม่ได้มีเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก เพราะความเป็นองค์กรใหญ่ที่มีลำดับขั้น (Hierarchy) ในการบริหารงานอย่างชัดเจน ทำให้การเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่รวดเร็วอย่างใจนึกแน่นอน อีกทั้ง ‘รัฐพล ภักดีภูมิ’ ผู้บริหารระดับสูงของไปรษณีไทยยังเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Marketeer ในปี 2019 ด้วยว่า “จุดอ่อนของไปรษณีย์ไทย คือเรื่องเทคโนโลยีจริงๆ”
อนาคตของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ต่อจากนี้
จริงๆ แล้ว ภาพในอนาคตของไปรษณีย์ยังคงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ความเปลี่ยนแปลงของรัฐวิสาหกิจอายุรุ่นราวคราวคุณทวดท่ามกลางยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นับเป็นสิ่งที่ท้าทายการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงอยู่ไม่น้อย แต่เราจะลองวิเคราะห์อนาคตการปรับตัวของไปรษณีย์ไทยที่เป็นไปได้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1. เวลาบีบให้ปรับตัวตามยุคสมัยอยู่ดี : กรณีศึกษาการล่มสลายของ ‘โกดัก’ (Kodak)
หากพูดถึงการล่มสลายของ ‘โกดัก’ ค่ายกล้องฟิล์มยักษ์ใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการถูกดิสรัปต์ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บทความจาก Harvard Business Review สรุปไว้ว่า การล่มสลายของโกดัก เกิดจาก ‘การขาดวิสัยทัศน์’ และ ‘ทะนงในความสำเร็จของตัวเอง’ จึงไม่ได้มีการวางแผนเพื่อรับมืออย่างเหมาะสม จนในที่สุดก็ถูกเขี่ยทิ้งจากสายตาผู้บริโภคไป
แต่จุดที่แตกต่างกันระหว่างโกดักกับไปรษณีย์ไทย ก็คือไปรษณีย์ทราบดีว่า ตัวเองกำลังถูกดิสรัปต์จากคู่แข่งหน้าใหม่ ทำให้ไปรษณีย์เริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านไปตามเวลา เพียงแต่เราต้องจับตาดูต่อไปว่า กลยุทธ์ที่ไปรษณีย์ใช้ในการปรับตัว จะทำให้สามารถยืนหนึ่งในธุรกิจขนส่งไทยได้อย่างขาดลอยหรือเปล่า?
2. ขาดทุนเท่าไรก็ขาดไป แต่จุดแข็งเรื่อง ‘พื้นที่’ ใครก็สู้ไม่ได้
อย่างที่กล่าวตอนต้นว่า ในปี 2021 ไปรษณีย์ไทยขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท และเป็นตัวเลขที่ต้องแบกรับในปี 2022 ด้วย ทำให้หลายๆ คนคงคิดว่า ขาดทุนมากขนาดนี้ ธุรกิจจะยังไปรอดจริงๆ เหรอ?
สถานการณ์ของไปรษณีย์ไทยในตอนนี้ ชวนให้นึกถึงการบรรยายหัวข้อ ‘World Economic Outlook’ โดย ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ จากงาน ‘CTC 2022’ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งที่รวิศกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ขาดทุนไม่น่ากลัวเท่าขาดกระแสเงินสด (cash flow)” ทำให้ปัจจัยในการอยู่รอดของธุรกิจไม่ได้ขึ้นกับการขาดทุนเป็นสำคัญ
และหากนับรวมว่า รายได้จากค่าบริการก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเงินสด ความเชื่อมั่นของลูกค้ากับความเก๋าเกมด้านพื้นที่ คงทำให้ไปรษณีย์ไทยชนะคู่แข่งหลายๆ รายอยู่ดี เพราะความเห็นจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ (Twitter) รายหนึ่งบอกว่า “สิ่งที่เจ้าอื่นๆ ยังสู้ไปรษณีย์ไทยไม่ได้ ก็คือต่อให้จะจ่าหน้าซองผิด หรือบ้านจะอยู่ลึกสุดกู่แค่ไหน บุรุษไปรษณีย์ก็ไปส่งของได้อย่างถูกต้องทุกครั้ง”
สุดท้ายคงอยู่ที่การวางกลยุทธ์ของไปรษณีย์ไทยแล้วว่า จะเอาชนะคู่แข่งด้วยจุดแข็งที่มีได้อย่างไร?
3. รีแบรนด์เป็น ‘ธุรกิจที่มีหัวใจ’ (Heartful Business) สไตล์ธุรกิจเก่าแก่ของ ‘ญี่ปุ่น’
ถ้าจุดอ่อนของไปรษณีย์ไทยคือ ‘เทคโนโลยี’ ก็ต้องใช้จุดแข็งอย่าง ‘ความใกล้ชิด’ เข้าสู้
เมื่อจุดแข็งของไปรษณีย์ไทย คือความเก๋าเกมและความชำนาญในพื้นที่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะมีความใกล้ชิดกับผู้คนอยู่แล้ว
จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยมี ทำให้นึกถึงการบรรยายหัวข้อ ‘ธุรกิจ…ก็มีหัวใจ Heartful Business’ โดย ‘กฤตินี พงษ์ธนเลิศ’ (เกตุวดี Marumura) จากงาน ‘TedxChulalongkornU’ เมื่อ 2 ปีก่อน กฤตินีได้ถอดความสำเร็จของธุรกิจเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีในญี่ปุ่นว่า ธุรกิจเหล่านั้นใช้หัวใจนำ และผลิตสินค้าจากเสียงของลูกค้าจริงๆ จนกลายเป็นที่รักของทุกคน
ดังนั้น หากในอนาคต ไปรษณีย์ไทยจะเข้าสู้คู่แข่งด้วยกลยุทธ์ความใกล้ชิด และการเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
สุดท้ายแล้ว อนาคตในสนามธุรกิจของไปรษณีย์ไทยคงอยู่ที่การตัดสินใจเดินเกมกลยุทธ์ของตัวเองว่า จะทำให้องค์กรของตัวเองเป็นดิจิทัล 100 เปอร์เซ็นต์เลยหรือไม่? หรือจะดึงจุดแข็งของตัวเองมาพัฒนาอย่างไร? เราคงต้องจับตาดูกลยุทธของรัฐวิสาหกิจอายุรุ่นราวคราวคุณทวดแห่งนี้ต่อไป
แล้วทุกคนคิดว่า อนาคตของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ในวันที่ขนส่งยังคงอยู่ในน่านน้ำสีแดงจะเป็นอย่างไร?
Sources: https://bit.ly/3z9vvy4
https://bit.ly/3bcE9Em
https://bit.ly/3voCaU4
https://bit.ly/3zDyosD
https://bit.ly/3Qlk2CT
https://bit.ly/3PLi6mX