ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ จะต้องถูกแผดเผา
คำเตือนจาก ‘สี จิ้นผิง’ (Xi Jinping) ประธานาธิบดีของจีน ถึง ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีเป็นพันธมิตรต่อไต้หวัน ดินแดนไม้เบื่อไม้เมาที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กับจีนมาอย่างยาวนาน
แต่แล้วความอ่อนไหวระหว่างจีนกับไต้หวันถูกจุดชนวนให้คุกรุ่นมากขึ้น จากการเดินทางเยือนไต้หวันของ ‘แนนซี เพโลซี’ (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จนทำให้จีนต้องงัด ‘นโยบายจีนเดียว’ (One China Policy) ขึ้นมาตอกย้ำว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามความคิดตัวเอง
การที่จีนงัดนโยบายจีนเดียวขึ้นมาตอกย้ำ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเป็นเหมือนการคืนชีพ ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) แบบกลายๆ เพราะมีการโต้เถียงระหว่างชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทยบนโลกออนไลน์อย่างเผ็ดร้อน เกี่ยวกับความเป็นประเทศของไต้หวัน และประเด็นอื่นๆ ที่ถูกลากมาเกี่ยวโยงกัน
นอกจากการโต้เถียงและคีย์เวิร์ดไม่กี่คำที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ จะเวียนผ่านมาให้เห็นบนหน้าไทม์ไลน์บ่อยๆ ยังมีความเห็นอีกส่วนที่พูดถึงการเยือนไต้หวันของเพโลซีว่า มีนัยอื่นแอบแฝง ไม่ใช่แค่การกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตแต่อย่างใด ซึ่งนัยที่ว่าก็คือ ผลประโยชน์จาก ‘ชิป’ สินค้าเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของไต้หวัน
‘ชิป’ ของไต้หวันมีดีอย่างไร? ทำไมใครๆ ก็ต้องการ?
ถึงแม้ว่า ภาพจำที่คนส่วนใหญ่มีต่อจีน จะเกี่ยวกับการเป็นมหาอำนาจทางฝั่งตะวันออกที่มีพร้อมทั้งพื้นที่อันกว้างใหญ่ ผู้คนจำนวนมาก นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ และอำนาจทางการทหาร ซึ่งดูจะได้เปรียบกว่าไต้หวันที่มีพื้นที่เป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ในทุกด้าน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไต้หวันนำหน้าไปไกล และจีนต้องการไล่ตามให้ทัน ก็คืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือการผลิตชิปนั่นเอง
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน รัฐบาลไต้หวันต้องการสร้างอุตสาหกรรมที่จะเป็นรากฐานใหม่ของประเทศ และทำให้ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ อยู่ในสายตาชาวโลก จึงเริ่มก่อตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) ก่อนจะพัฒนาเป็น Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) บริษัทผลิตชิปของประเทศภายใต้การนำของมอร์ริส ชาง (Morris Chang)
ข้อมูลจาก TrendForce ระบุว่า ในปี 2021 ไต้หวันถือครองส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมชิปมากถึง 63 เปอร์เซ็นต์ และเป็น TSMC เพียงบริษัทเดียวถึง 54 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือจำนวนชิปกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันล้วนผลิตมาจากไต้หวันทั้งสิ้น
และหากจะพูดถึงความนิยมที่ใครๆ ก็ต้องการใช้ชิปจากไต้หวัน คงต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิป โดย ITRI ร่วมทุนกับ ‘ฟิลิปส์’ (Philips) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ทำให้ไต้หวันได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตั้งแต่ตอนนั้น อีกทั้งการวางตัวเป็นบริษัทผู้รับผลิตชิปที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ TSMC มีโอกาสผลิตชิปหลากหลายรูปแบบ จนเกิดเป็นการสั่งสมองค์ความรู้ และพัฒนาเป็นรากฐานการผลิตชิปที่แข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้
ในอนาคต ‘ชิป’ จะมีค่ายิ่งกว่าทอง!
การที่จะบอกว่า ชิปเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าทองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงเลยสักนิด เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันล้วนแต่มีชิปเป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งสิ้น กล่าวคือชีวิตที่แสนจะทันสมัยในยุคดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องมี ‘ชิป’ เป็นตัวนำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ต้องยอมรับว่า ในอดีตชิปเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ที่หลายคนอาจจะมองข้ามความสำคัญไป จนเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ปัญหาชิปขาดแคลนเริ่มเข้ามาใกล้ตัว และส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะกับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ คนเห็นความสำคัญของชิปมากขึ้น
ดีลอยต์ (Deloitte) บริษัทตรวจสอบและให้คำปรึกษาทางการเงินระดับโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมชิปจะเติบโตจากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ และสามารถสร้างรายได้มากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไร เพราะเทคโนโลยีช่างล้ำหน้าไปไกล ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) แสนฉลาด และบล็อกเชน (Blockchain) สารพัดประโยชน์ ทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้แสดงผลสิ่งเหล่านี้ ต้องได้รับการอัปเกรดด้วยชิปที่ทรงพลัง
สองขั้วมหาอำนาจจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกอย่างจีนและสหรัฐฯ ทราบดีกว่าใครว่า ในปัจจุบัน อำนาจและการอยู่ในสายตาชาวโลก ไม่ได้ขึ้นกับอำนาจทางทหารและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นหนึ่งปัจจัยในการฟาดฟันเพื่อแย่งชิงความเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ทำให้ชิปที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีทั้งปวงอาจกลายเป็นเครื่องมือก่อสงครามระดับโลก และไต้หวันที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ก็ถูกลากให้มามีเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
อุตสาหกรรม ‘ชิป’ ถูกแขวนไว้กับความร้อนแรงทางการเมือง
“Everything is politics.” (ทุกสิ่งคือการเมือง) – โทมัส แมนน์ (Thomas Mann)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชิงความเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ก็หนีไม่พ้นที่อุตสาหกรรมชิปจะถูกแขวนไว้กับประเด็นทางการเมืองด้วย แม้แต่จุดเริ่มต้นในการวางรากฐานอุตสาหกรรมชิปของไต้หวันก็มาจากประเด็นทางการเมืองเช่นกัน
หากมองว่า อุตสาหกรรมชิปที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นเกมชนิดหนึ่ง คงต้องบอกว่า สหรัฐฯ อาจจะมีแต้มต่อเหนือจีน เพราะไต้หวันถือเป็นพันธมิตรทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งการมาเยือนไต้หวันของเพโลซีก็ยิ่งตอกย้ำประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง TSMC ก็ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปที่สหรัฐฯ แล้วด้วย ทำให้สหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมชิปมากกว่าเดิม
แล้วหากเกมการแย่งชิงชิปมาถึงจุดที่รุนแรง จนจีนต้องงัดการใช้อำนาจทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามากดดัน เพื่อทำลายแต้มต่อของสหรัฐฯ อุตสาหกรรมชิปจะเป็นอย่างไรต่อไป?
คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ในตอนนี้ แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์กันว่า อุตสาหกรรมชิปอาจจะต้องหยุดชะงัก และนำมาซึ่งความเสียหายทางซัพพลายเชน (Supply Chain) ในแบบที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างแน่นอน
แต่ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีนกับสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศต่างมีความบอบช้ำด้วยกันทั้งคู่ โดยสหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน ส่วนจีนต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดจากการเบี้ยวหนี้จนมีตัวเลขหนี้เสียพุ่งสูง
ดังนั้น หากเกมการแย่งชิงชิประหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาถึงจุดที่รุนแรงในเร็วๆ นี้ นอกจากที่เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมชิปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ในจุดที่อันตราย ไม่ต่างกับการที่ถูกแขวนไว้บนเส้นด้ายบางๆ แล้ว สองขั้วมหาอำนาจที่ตัดสินใจเล่นกับไฟในขณะที่ตัวเองยังไม่สามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้ ก็อาจจะถูกเผาไหม้ไปพร้อมๆ กัน แค่เพราะต้องการชิปชิ้นเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว
แล้วทุกคนคิดว่า อนาคตของอุตสาหกรรมชิปที่ถูกแขวนไว้กับความร้อนแรงทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป?
Sources: https://bbc.in/3BEEXfX
https://bbc.in/3BIPeaL
https://reut.rs/3SszvTn
https://bit.ly/3QqWBYR
https://bit.ly/3buXalo
https://bit.ly/3zYzsY4
https://bit.ly/3zvJzSZ