เมื่อก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีม ผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้นำ มีหลายสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นยิ่งขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยความกดดันและความท้าทาย ผู้ที่เพิ่งรับตำแหน่งจำเป็นต้องมีตัวช่วย เป็นคำแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างไม่ยากนัก
ต่อไปนี้ คือคำแนะนำของ เอ็มมา เดอ วิตา (Emma De Vita) บรรณาธิการนิตยสาร Management Today นิตยสารรายสัปดาห์และเว็บไซต์ธุรกิจชั้นนำของสหราชอาณาจักร โดยส่วนแรกที่ต้องรู้จะเกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคุณ’ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่านิยมส่วนบุคคบและทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นนักบริหารจัดการที่ดี ดังต่อไปนี้
อย่างที่รู้ ไม่มีใครเกิดมาเป็นนักบริหารจัดการตั้งแต่แรก การจะสามารถทำได้นั้นต้องเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งคุณจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวกับตัวคุณไปด้วย
เป็นตัวจริง
คุณต้องตระหนักกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ที่จะทำทุกอย่างได้อย่างถูกต้องทั้งหมดตลอดเวลา อย่ากลัวที่จะเป็นตัวเอง ทีมงานจะยอมรับในตัวคุณมากขึ้น เมื่อพวกเขาพบว่า คุณมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพวกเขา เช่นกัน พวกเขาจะหมดความเชื่อถือในตัวคุณ ถ้าเห็นว่าคุณพยายามสร้างตัวคุณเองให้เป็นคนอื่น
คุณต้องเป็น ‘ตัวจริง’ (Authenticity) ของตัวคุณเอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตระหนักในตนเองในระดับที่มากพอที่คุณ่จะรู้ว่า อะไรคือ จุดแข็ง และจะสามารถใช้จุดแข็งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร อะไรคือ จุดอ่อน และจะสามารถเปิดเผยจุดอ่อนได้อย่างชาญฉลาดอย่างไร หรือจะแก้ไขได้อย่างไร
วิธีการเป็นตัวจริง
- ‘นำเสนอความแตกต่างของคุณ’ การเป็นตัวจริงไม่ใช่แค่รู้จักตนเอง แต่หมายรวมถึงวิธีการที่สื่อสารความเป็นตัวเองดังกล่าวไปยังผู้อื่นด้วย
- ‘ไม่ลืมรากของตนเอง’ รู้ว่าตัวเองมีที่มาที่ไปอย่างไร สิ่งที่ทำให้คุณคิดและเป็นนั้น เป็นผลกระทบมาจากอะไร
- ‘ฉีกกฎ’ ให้คุณหาหนทางหรือวิธีการของคุณเอง ไม่ใช่วิธีตามหลักสูตรหรือคำแนะนำของคนดัง (อาจนำหลายอย่างที่คุณได้เรียนรู้มาสร้างเป็นแนวทางของคุณ)
- ‘กล้านอกกรอบ’ ต้องฝึกปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยที่คงความเป็นตัวเองเอาไว้
- ‘รักษาคำพูด’ คุณจะไม่มีวันได้รับความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง หากไม่ทำตามสิ่งที่ตนเองกล่าวได้
มีความมั่นใจระดับที่เหมาะสม
การเป็นตัวจริงต้องอาศัยความกล้า คุณจะต้องมีความมั่นใจในตัวเองที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ลองตรวจสอบตัวเองว่าคุณ ‘มั่นใจในตัวเองน้อยเกินไป’ หรือไม่ หากมีลักษณะดังต่อไปนี้
- เชื่อว่าคนทุกคนฉลาดมากกว่าตนเอง
- ชอบกระซิบมากกว่าพูดเสียงดัง
- เลี่ยงการสบตาระหว่างพูดคุย
- พยายามรับผิดชอบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- เชื่อว่าความเห็นของตนไม่มีความหมาย
- ไม่รู้ว่าตนมีความสามารถด้านใดเพิ่มขึ้น
วิธีการที่ต้องแก้ไขคือ
- แสดงท่าทางของความมั่นใจ
- เพิ่มระดับเสียงพูดให้ดังขึ้น
- สบตาระหว่างพูดและหยุดเมื่อจบประโยค
- เลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่แน่ชัด เช่น บางที อาจจะ น่าจะ ให้เป็นคำเชิงบวกเช่น แน่นอน จะต้อง เป็นต้น
- ตรวจสอบความสามารถของตัวคุณ
- เมื่อรับมือกับสถานการณ์ที่น่าหวั่นใจได้สำเร็จ ให้กล่าวชมตัวเองและจำเป็นประสบการณ์
- จำไว้ว่า คนที่มีความมั่นใจสูงก็รู้สึกหวั่นใจได้ในบางกรณีเป็นเรื่องปกติ
ลองตรวจสอบตัวเองว่าคุณ ‘มั่นใจในตัวเองมากเกินไป’ หรือไม่ หากมีลักษณะดังต่อไปนี้
- เชื่อว่าคุณฉลาดกว่าทุกคน
- วางท่าทางแสดงอำนาจในที่ทำงาน
- เชื่อความรู้สึกตนเองตลอดเวลา
- ชอบฟังเสียงของตัวเอง
- คิดเสมอว่าคนอื่นสนใจในตัวคุณ
- ไม่ฟังเสียงผู้อื่น
- ไม่พลาดโอกาสที่จะเป็นจุดสนใจหรือจุดเด่น
- อ้างว่าความาคิดเห็นเชิงลบเป็นคำโจมตีของคู่แข่งเพียงเท่านั้น
วิธีการที่ต้องแก้ไขคือ
- ปรับภาษาที่ใช้ให้นุ่มนวลลงรับฟังอย่างตั้งใจ
- ไม่ขัดจังหวะ
- หยุดก่อนจะพูดอะไร คิดก่อนพูด
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือสนับสนุนสิ่งที่คุณคิด
- ลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- ยอมรับความผิดพลาดของตน
- ยิ้มแย้มเพื่อให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย
มีความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ คือ สัญลักษณ์ที่เป็นภาพรวมทั้งหมดของทักษะระหว่างบุคคลและการตอบสนองที่ก่อให้เกิดเป็นบุคลิกภาพของคน บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะแสดงออกซึ่งความห่วงใย ความละเอียดอ่อน พร้อมกับมีความตระหนักในตนเอง และสามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในโลกที่เต็มไปด้วยแรงกดดันและก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้นได้
ทั้งนี้ สามารถดูเรื่องความฉลาดทางอารมณ์อย่างละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ 5 ข้อ ‘ผู้นำที่ดีต้องมี’ที่ลิงก์นี้
เป็นนักสื่อสารที่ดี
ในการเป็นนักบริหารจัดการคือการทำให้ผู้อื่นทำสิ่งต่างๆ ให้กับคุณ ซึ่งย่อมไม่มีทางทำได้สำเร็จ หากไม่มีการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งการเป็นนักบริหารจัดการที่ดีนั้น จะมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการส่งข้อความให้ผู้อื่นด้วยการลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน
การติดต่อสื่อสารเป็นกระบวนการสองทาง แต่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการฟังน้อยเกินไป ทั้งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการฟังอย่างมาก
การรักษาบทสนทนาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพูดหรือส่งสาร แต่ทักษะในการฟัง รวมถึงการสนทนาแบบตัวต่อตัวกลับน้อยลง ต่อไปนี้คือ 10 วิธี ที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น
- หาเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการพูดคุย
- เปิดใจให้กว้าง
- เอาใจใส่อย่างเต็มที่
- ไม่ขัดจังหวะผู้อื่น
- ถามความหมายของสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
- พิจารณาภาษากาย
- เก็บความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้
- ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้อื่นมีความรู้สึกอย่างไร
- ทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา
- กล่าวทวนสิ่งที่คุณได้ฟัง
ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดีจะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วยการค้นหาความสนใจร่วม ทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษ ค้นหาเสน่ห์ของพวกเขา และแสดงความเป็นตัวคุณร่วมกันไปด้วยในการสนทนาแต่ละครั้ง
สรุป
ในการเริ่มต้นเป็นนักบริหารจัดการที่ดีนั้น ต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เรียกว่าเป็น ‘ตัวจริง’ ไม่เสแสร้งหรือแสดงว่าเป็นคนอื่นเพื่อให้ได้รับความยอมรับและเชื่อถือจากคนอื่นๆจากนั้นต้องเป็นคนที่มี ‘ความมั่นใจที่เหมาะสม’ มากพอที่จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่มากหรือน้อยเกินไป
ไม่ลืมที่จะมี ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการตระหนักรู้ในตนเอง ความคุมอารมณ์ความรู้สึกตนเอง เข้าอกเข้าในผู้อื่น และมีแรงจูงใจที่ดี รวมถึงเป็นคนที่มีการ ‘สื่อสารที่ดี’ โดยเฉพาะการฟังที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติและทักษะเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับตัวของคุณเอง จะช่วยให้เป็นบันไดไปสู่การเป็นนักบริหารจัดการที่ ไม่ว่าคุณจะทำงานระดับตำแหน่งใด
ทั้งหมดดังที่กล่าวไป เป็นตอนแรกของบทความชุดการบริหารจัดการซึ่ง Future Trends ได้สรุปสาระสำคัญจากคำแนะนำของ เอ็มมา เดอ วิตา (Emma De Vita) บรรณาธิการนิตยสาร Management Today มานำเสนอเป็นตอนๆ จะช่วยให้คุณนำไปปรับใช้ในการทำงานบริหารจัดการเพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จและเติบโตในการทำงานต่อไป ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ให้ติดตามอีกหลายตอน โปรดติดตาม
เรียบเรียงโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ ‘ศิลปะการบริหารจัดการ’ (The Management Masterclass) เขียนโดย Emma De Vita แปลโดย ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์ สำนักพิมพ์ Expernetbooks