‘Identity Theft’ ภัยร้ายจากอินเตอร์เน็ตที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว

Share

เมื่อกลางดึกของวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์บทแพลตฟอร์ม ‘X’ ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ‘การปลอมเป็นคนอื่น’ 

ต้นเรื่องมาจากที่ผู้ใช้งานบัญชีหนึ่งออกมาโพสข้อความและรูปภาพการยอมรับผิด จากการนำรูปภาพและเรื่องราวของคนอื่นมาเป็นของตนเอง เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ใช้ชีวิตให้รู้สึกว่าเป็นคนอื่น อีกทั้งยังสร้างบัญชีขึ้นมากว่า 18 บัญชีเพื่อพูดคุยกับตัวเอง 

ทางต้นเรื่องได้ออกมาเปิดเผยเหตุผลของการกระทำเพียงเพราะ “อยากจะมีชีวิตที่ได้เป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยดัง อยากมีเพื่อนและสังคมที่ดี” 

ทำให้ผู้ใช้งานในแพลตฟอร์ม X หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ทาง Future Trends อยากจะมาแนะนำภัยร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากอินเตอร์เน็ตโดยที่พวกเราไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้ตัวเลย มันมีชื่อเรียกว่า ‘Identity Theft’ หรือ ‘การโจรกรรมตัวตน’

[ ‘Identity Theft’ การโจรกรรมตัวตน ภัยเงียบจากโลกอินเตอร์เน็ต ]

การโจรกรรมตัวตน เกิดจากการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ข้อมูลส่วนตัวในที่นี้หมายถึง ข้อมูลที่สามารถระบุความเป็นคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประชาชนที่อาจจะเผลอเผยแพร่โดยไม่ได้ตั้งใจ ชื่อจริงนามสกุลจริง เบอร์โทรศัพท์ แม้แต่คนที่คุณรู้จักเองก็ตาม ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการโจรกรรมได้

การนำข้อมูลไปใช้หลังจากที่โจรกรรมแล้ว ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการหลอกลวง พบได้มากในกรณีของการทำสินเชื่อเงิน บัตรเครดิต บัญชีม้า แต่ความอันตรายที่แท้จริงคือ ‘การรู้ตัวที่ช้าเกินไป’ เหยื่อหลายรายรู้ตัวว่ากำลังถูกโจรกรรมช้าเกินไป ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้แล้ว ตามข้อมูลของ FTC มีคนตกเป็นเหยื่อของการโจรกรรมตัวตนทุกๆ 14 วินาที!

เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากหากไม่ระวังตัวให้มากพอ เราได้ทำการหยิบยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกามาให้ได้เรียนรู้กันว่าการโจรกรรมตัวตนสามารถสร้างความเดือดร้อนให้กับเหยื่อได้มากขนาดไหนกัน?

[ David Matthew Read กรณีศึกษาจากนักแสดง ‘Demi Moore’ ]

กรณีศึกษานี้เกิดขึ้นในปี 2018 โดย เดวิด แมทธิว รีด วัย 35 ปี และ มาร์ค ฮิกลีย์ วัย 37 ปี ซึ่งปลอมตัวเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของ เดมี มัวร์ นักแสดงดังจากฮอลลีวูด โดยอ้างกับทาง American Express ว่ามัวร์ทำบัตรเครดิตที่มีวงเงินไม่จำกัดหาย และต้องการที่จะออกบัตรใหม่ 

การโจรกรรมข้อมูลในกรณีนี้ รีด ได้รับหมายเลขประกันสังคมและข้อมูลประจำตัวอื่นๆ ของมัวร์ มาจากอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงใช้ข้อมูลนี้ติดต่อไปยัง American Express แจ้งว่ามัวร์ ทำบัตรสูญหาย โดยสวมรอยเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของเธอ

บัตรใบใหม่ได้ถูกส่งมาที่ศูนย์ FedEx ในซานตาโมนิกา รีดเตรียมป้ายประจำตัวให้ดูเหมือนว่าเขาเป็นตัวแทนมาจากนักแสดงฮอลลีวูดรายนี้ เพื่อรับบัตรเครดิตใบใหม่แทนเธอ

จากนั้น รีชใช้เวลากว่า 5 สัปดาห์ในการรูดบัตรที่ไร้ข้อจำกัดทางวงเงินนี้ไปทั่วนิวยอร์ก จากรายงานพบว่าเงินถูกใช้ไปมากกว่า 169,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 6,100,000 บาท) ก่อนที่สิ่งของที่ซื้อมาเหล่านั้นจะถูกขายต่อเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด 

ช่วงเวลาที่ รีชใช้เงินของนักแสดงสาว ฮิกลีย์ก็ร่วมวงการโจรกรรมในครั้งนี้ด้วย ท้ายที่สุดของเรื่องราวทั้งคู่ถูกจับได้เพราะ รีดใช้บัตรเครดิตของมัวร์ร่วมกับบัตรเครดิตของตัวเองเพื่อชำระหนี้สินส่วนตัว ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพการใช้บัตรเครดิตที่ถูกขโมยมาได้ในนอร์ดสตรอม

หลังจากถูกจับทั้งคู่ก็โดนลงโทษทางกฎหมาย โดยฮิกลีย์ถูกตัดสินให้ต้องอยู่ในบ้านกึ่งวิถี 14 เดือน และต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 52,670 ดอลล่าร์ (ประมาณ 1,900,000 บาท) ทางด้านของ รีด เขาถูกตั้งข้อหาใช้ข้อมูลของบุคคลอื่น ต้องโทษจำคุกหลายปี (ไม่มีระบุจำนวนปีที่ได้รับโทษ) ในเรือนจำกลาง

ในกรณีนี้จะเห็นได้ถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อถูกโจรกรรมตัวตน อันเนื่องมาจากข้อมูลส่วนตัวที่หลุดรอดออกไปในอินเตอร์เน็ต

[ กรณีศึกษาถึงกระแสในประเทศไทย ]

ถึงแม้ว่ากรณีของประเทศไทยที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้รุนแรง หรือ ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าสูงเท่ากับกรณีของเดมี มัวร์ แต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่าถ้าเจ้าของข้อมูลไม่ได้ทำการสืบจนรู้ความจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่? 

ก็ยังนับว่าเป็นโชคดีที่กรณีของประเทศไทยไม่ได้เกิดความรุนแรงอย่างกรณีเดมี มัวร์ และเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตตระหนักรู้ถึงความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการถูก ‘โจรกรรมตัวตน’ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำไป

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Sources: https://www.phonexia.com/blog/the-4-biggest-identity-theft-frauds-in-modern-history/

https://x.com/thisisellexlie/status/1717552381548962059?s=20