เราทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน ‘Frugality’ เทรนด์ยอมเงินเดือนน้อยลงแลกกับเวลาชีวิตที่มากขึ้น

Share

“ผิดไหม ถ้าฉันไม่ได้อยากเป็นหัวหน้า”
“ผิดไหม ถ้าฉันจะไม่มี Growth Mindset”
“ผิดไหม ถ้าฉันอยากทำงานเท่าเดิม เงินเดือนเท่าเดิมไปตลอด”

ในโลกของการทำงาน ความก้าวหน้านับเป็นหมุดหมายคลาสสิกที่หลายๆ คนต่างอยากไปให้ถึง แต่หากจับมนุษย์เงินเดือนทั้งออฟฟิศหลายสิบ หลายร้อยชีวิตมานั่งเรียงกันแล้วถามว่า นี่ใช่เป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของคุณรึเปล่า? ก็น่าจะต้องมีบางคนตอบว่า ไม่ใช่ ไม่ได้อยากเป็นซูเปอร์สตาร์เบอร์ 1 หรือ Top Performance อยู่แน่ๆ

แม้ความก้าวหน้าจะหอมหวานสักเท่าไร แต่พูดกันตามตรงแล้ว หลายๆ คนที่กำลังอยู่ในจุดนั้นหรือเคยผ่านมาแล้วก็คงรู้เป็นอย่างดีว่า ทุกเส้นทางในถนนแห่งความก้าวหน้านี้ก็ล้วนแต่มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลา ความเหนื่อย หรือแม้กระทั่งการเสียสละที่มากขึ้นก็เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บางคนยอมใช้ชีวิตอย่างเจียมตัว ทำงานน้อยๆ ได้เงินเดือนน้อยๆ หรือที่เรียกว่า ‘ทำตัวตามเทรนด์ Frugality’

Frugality คือคำศัพท์เทรนด์การทำงานใหม่ที่ถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูต่อจาก Quiet Quitting และ Quiet Firing ซึ่งหมายถึงการที่พนักงานบางคนมองว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต การทุ่มเททำงานหนักไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะลึกๆ แล้ว อาจจะทำลายสุขภาพกาย และจิตใจ

พวกเขาขอเลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง ยอมได้รับเงินเดือนที่น้อยลงแลกกับการมีเวลาชีวิตส่วนตัวที่มากขึ้น คนเหล่านี้เปลี่ยนลำดับความสำคัญให้คุณภาพชีวิตเป็นอย่างแรก แม้จะต้อง Trade-off กับการยอมใช้จ่ายที่น้อยลง การใช้ชีวิตที่ประหยัดขึ้น และการทิ้งกิจกรรมที่ไม่จำเป็น อย่างเช่น การกินบุฟเฟ่ต์ทุกวันศุกร์หลังเลิกงาน การซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆ ก็ตาม

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก (Bloomberg) อธิบายว่า จริงๆ แล้ว Frugality เป็นเทรนด์ที่มีต้นตอต่อมาจากปรากฏการณ์ The Great Resignation เพราะการระบาดครั้งใหญ่ส่งผลให้ทัศนคติการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไป ความเหนื่อยหน่าย ภาวะหมดไฟถาโถมจนทำให้มนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คนเริ่มมองหา Work-Life Balance การทำงานที่ควบคู่ไปกับชีวิตที่ดีกันมากขึ้น

ผลการศึกษาหนึ่งของเฟล็กซ์จ็อบส (FlexJobs) เว็บไซต์หางานจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า เกือบ 2 ใน 3 บอกว่ายอมลดค่าจ้างเพื่อปรับปรุง Work-Life Balance

สอดคล้องกับประธานบริหารของซาโนฟี่ (Sanofi) ที่พูดถึงประเด็นนี้ในบทความเรื่อง ‘Gen Z isn’t looking for a ‘dream job. Here’s what they want instead’ บนเว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) ไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้ คน Gen Z ไม่ได้มองหางานในฝันอีกต่อไป แต่เริ่มให้คุณค่ากับ Work-Life Balance ตั้งคำถามถึงสถานะ และมองหาสิ่งเติมเต็มกับคุณค่าในตัวเองกัน

มารี เครสปิน (Marie Crespin) มนุษย์ออฟฟิศสาวชาวฝรั่งเศสวัย 31 ปี เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของการลาออกจากงานด้านทรัพยากรบุคคลว่า สมัยก่อน ตนเคยได้เงินเดือน 2,300 ยูโร แต่ตลอดเวลาที่ทำงานนี้กลับรู้สึกเครียดมาก มารีตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานด้านการออกแบบเว็บไซต์แทน โดยยอมที่จะลดเงินเดือนลงไปอยู่ที่ 1,600 ยูโร แลกกับการทำงานที่น้อยลง จากเดิมอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลายเป็น 20-25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มารีเสริมว่า “งานไม่ควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต การมีอิสระในสิ่งที่ทำคือความหรูหราที่แท้จริงต่างหาก”

Image by wayhomestudio on Freepik

นอกจากนี้ เซลีน มาร์ตี (Celine Marty) แต่งหนังสือ Working Less to Live Better และนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส (French University Sciences) ยังอธิบายด้วยว่า “การระบาดใหญ่ทำให้หลายๆ คนตระหนักว่า งานไม่ใช่ทุกอย่าง และไม่ใช่ทั้งหมด บางคนสามารถใช้เงินน้อยลง จ่ายน้อยลง และไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อสนุกกับชีวิตสะดวกสบายเสมอไปก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ถึงความสุขยังคงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ และไม่มีทางล่วงรู้อนาคตได้เลยว่า อนาคตจะเป็นยังไง หน้าที่การงานจะทอดทิ้งเราวันไหน? แต่ถึงที่สุดแล้ว การจะทำตามเทรนด์ทำงานแบบพอเพียง Slow Life ทำนองนี้ก็อาจจะใช้ได้แค่กับบางคนเท่านั้น เพราะทุกคนต่างก็มีภาระหนี้สิน ครอบครัว คนข้างหลังที่ต้องดูแลด้วย

เอาเป็นว่า ตราบใดที่งานเสร็จ ส่งได้ตามกำหนด ไม่ว่าเราจะ Work-Life Balance หรือ Work-Life Integration ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ความพึงพอใจ ความสุขของคนเราต่างกัน สำหรับบางคน ความสำเร็จคือการได้เลื่อนขั้นในตำแหน่งใหญ่ๆ ใช้ชีวิตทุ่มเทไปกับการทำงาน ในขณะที่ความสำเร็จของบางคนกลับกลายเป็นเรื่องแสนเรียบง่าย แค่ได้เลิกงานตรงเวลา กลับบ้านไปนอนดูหนัง เล่นกับสุนัข รายล้อมไปด้วยคนที่รัก เอาเงินที่ได้จากการทำงานไปใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยทำตามเทรนด์ Frugality ไหม เป็นยังไงบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bloom.bg/3DzYyyN

https://bit.ly/3Um3rBl

https://bit.ly/3UePgOJ