หลังจากที่เรื่องราวการเข้าซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นมหากาพย์ในวงการธุรกิจและเทคโนโลยีมาร่วม 4 เดือน ในที่สุด จุดจบ (ที่จบไม่จริง) ของเรื่องนี้ได้เดินทางมาถึงแล้ว เพราะเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9 กรกฎาคม) สื่อทุกสำนักต่างรายงานข่าวว่า มัสก์ตัดสินใจสละรังนกน้อยสีฟ้า และล้มดีลการเข้าซื้อที่มีมูลค่าสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การที่มีข่าวออกมาว่า มัสก์ล้มดีลในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวสารในวงการเทคโนโลยีสักเท่าไร เพราะที่ผ่านมา มัสก์ประวิงเวลาการเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์มาตลอด โดยอ้างว่า ทวิตเตอร์ไม่สามารถจัดการกับบัญชีผู้ใช้งานที่เข้าข่ายเป็น ‘แอคหลุม’ หรือ ‘สแปม’ ได้อย่างเด็ดขาด และเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจล้มดีลกับทวิตเตอร์ด้วย
ซึ่งเหตุผลที่มัสก์ล้มดีล ค่อนข้างขัดกับวัตถุประสงค์แรกที่เขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ โดยเขาตั้งใจที่จะเข้ามากำจัดปัญหาแอคหลุม เพื่อสร้างพื้นที่ในการพูดคุยแบบ ‘free speech’ อยู่แล้ว ทำให้หลายคนรู้สึกว่า การที่ล้มดีลเอาดื้อๆ ด้วยเหตุผลเช่นนี้ไม่ค่อยเมกเซนส์สักเท่าไร และเริ่มตั้งข้อสังเกตในมุมมองอื่นๆ ว่า นี่อาจจะเป็นเกมกลยุทธ์ของ ‘ยอดนักปั่น’ ในตำนานที่มีเหยื่อเป็นนกน้อยสีฟ้าที่ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมหรือเปล่า?
ย้อนรอยมหากาพย์ ‘ทวิตเตอร์’ VS ‘อีลอน มัสก์’
เดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของมหากาพย์ระหว่างทวิตเตอร์กับมัสก์ เมื่อมัสก์ได้เข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 9.2 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในทันที จนมีแต่คนจับตามองว่า มัสก์จะเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์หรือเปล่า?
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อมัสก์ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการให้กับบอร์ดบริหารทวิตเตอร์ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตีเป็นเงินไทยราว 1.5 ล้านล้านบาท และความหอมหวานของดีลนี้ก็ทำให้บอร์ดบริหารฯ รับข้อเสนอมาในที่สุด แต่แล้วทุกอย่างก็กลับตาลปัตรไปหมด เมื่อมัสก์เกิดล้มดีลขึ้นมาดื้อๆ เสียอย่างนั้น
ถอดบทเรียนสาเหตุการล้มดีลของ ‘อีลอน มัสก์’
หากจะมองว่า การล้มดีลในครั้งนี้ เป็นเรื่องของเกมกลยุทธ์เพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะในปีนี้ มีวิกฤตใหญ่ของโลกที่ดิสรัปต์การทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีมากมาย ทั้งเงินเฟ้อที่ยังคงดีดตัวสูง จนบีบให้เศรษฐกิจใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบายซีโร่ โควิด (Zero COVID) ของจีนที่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน (Supply Chain) และกระบวนการผลิต
เราจึงชวนทุกคนมาร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุการล้มดีลของมัสก์ใน 2 มุมมองที่ต่างกัน ดังนี้
1. ผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
มัสก์เป็นหนึ่งในนักธุรกิจไม่กี่คนที่ออกมาพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างตรงไปตรงมา เพราะเทสลา (Tesla) ธุรกิจหลักของเขาได้รับผลกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นยอดการสั่งซื้อลดลง เพราะคนไม่มีกำลังซื้อเท่าเดิม ต้องขึ้นราคารถยนต์ เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ และอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อธุรกิจหลักของตัวเองยังเต็มไปด้วยปัญหาขนาดนี้ การจะเข้ามาดูแลธุรกิจใหม่ในช่วงนี้ คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่ รวมถึงในยามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) ยังคงขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต้านความรุนแรงของเงินเฟ้อ ยิ่งทำให้การระดมทุนในอุตสาหกรรมเทคฯ ยากขึ้น เพราะนักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่มั่นคงกว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้
แต่เมื่อดูจากรายชื่อของนักลงทุนที่เป็นกองหนุนในการเข้าซื้อทวิตเตอร์ของมัสก์ จะพบว่า ปัญหาเรื่องเงินทุนไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย เพราะเป็นนักลงทุนเบอร์ใหญ่ของโลกที่พร้อมสนับสนุนดีลนี้อยู่แล้ว เช่น แลร์รี เอลลิสัน ผู้ร่วมก่อตั้งออราเคิล (Oracle) ฉางเผิง จ้าว (Changpeng Zhao) ผู้ก่อตั้งไบแนนซ์ (Binance) เป็นต้น
ดังนั้น การล้มดีลในครั้งนี้ ทำให้หลายๆ คนเริ่มหันไปให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการปั่นหุ้นที่มีฉากหน้าเป็นข้ออ้างจากปัญหาแอคหลุมหรือเปล่า?
2. เกมกลยุทธ์การปั่นหุ้นแบบ ‘Pump & Dump’ สไตล์ ‘อีลอน มัสก์’
เมื่อพูดชื่อของมัสก์ขึ้นมา หลายๆ คนต้องนึกถึงเขาในบทบาทของ ‘ยอดนักปั่น’ ชื่อดังอย่างแน่นอน ถามว่า การปั่นของมัสก์สร้างความวุ่นวายได้มากขนาดไหน?
หากใครเป็นนักลงทุนในวงการคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อยู่แล้ว ต้องเคยได้ยินมหากาพย์การปั่นราคา ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) จนร่วงยับ ก่อนจะหันไปหนุน ‘โดชคอยน์’ (Dogecoin) จนมีราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสิ่งที่มัสก์ทำกับบิตคอยน์ เข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า ‘Pump & Dump’ หรือการปั่นราคาหุ้นให้สูงแล้วทุบให้แตกสลาย หลังจากที่เห็นว่า แรงซื้อในตลาดใกล้หมดลง
แต่มัสก์ก็ออกมาพูดถึงการกระทำของตัวเองว่า “I might pump, but I don’t dump.” (ผมอาจจะปั่นราคาจริง แต่ไม่ได้ทุบมันนะ) รวมถึงจอร์แดน เบลฟอร์ต (Jordan Belfort) นักลงทุนที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นมานานก็แสดงความเห็นว่า “ผมว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การปั่นของมัสก์ แต่อยู่ที่นักลงทุนรายย่อยเชื่อถือคำพูดมัสก์ แล้วทำให้เกิดการ Pump & Dump ในตลาดมากกว่า”
และเมื่อเปรียบเทียบกรณีการปั่นราคาบิตคอยน์กับการล้มดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์ พบว่า มีจุดร่วมที่คล้ายกันอยู่ กล่าวคือการที่มัสก์ประกาศเข้าซื้อทวิตเตอร์ ทำให้ราคาหุ้นของทวิตเตอร์พุ่งสูง แต่เมื่อเขาประกาศล้มดีล ราคาหุ้นของทวิตเตอร์กลับดิ่งลงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ราคาหุ้นของเทสลากลับปรับตัวสูงขึ้นราว 3 เปอร์เซ็นต์อย่างมีนัยสำคัญ
อนาคตของ ‘ทวิตเตอร์’ หลังไร้เงาเจ้าของคนใหม่ที่ชื่อ ‘อีลอน มัสก์’
ถึงแม้ว่า มหากาพย์การเข้าซื้อกิจการจะจบลง แต่นั่นเป็นเพียงภาคแรกเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ มหากาพย์บทใหม่ที่ร้อนแรงกว่าเดิมได้ถูกเปิดฉากขึ้นแล้ว โดยบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ยืนยันว่า จะทำการฟ้องมัสก์อย่างแน่นอน ฐานทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย และมัสก์อาจจะต้องจ่ายค่าปรับมูลค่ามหาศาล รวมถึงถูกศาลสั่งบังคับให้ซื้อทวิตเตอร์ด้วย
แต่กว่าจะถึงวันที่คดีความสิ้นสุดลง ทวิตเตอร์คงต้องเผชิญกับมรสุมหลายๆ อย่าง ไม่ต่างจากบริษัทบิ๊กเทค (Big Tech) รายอื่นๆ ทั้งการขาดเงินทุนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความน่าเชื่อถือที่ลดลงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงการปลดพนักงานในบริษัทด้วย ซึ่งล่าสุดทวิตเตอร์ก็ได้ปลดพนักงานฝ่ายสรรหาบุคคลราว 100 คนแล้ว
จากกรณีศึกษาการล้มดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์ของมัสก์ สะท้อนภาพการแข่งขันทางธุรกิจอย่างชัดเจน เมื่อมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ก็ต้องมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ อยู่ที่ว่าใครจะเดินเกมได้เหนือกว่ากัน รวมถึงอนาคตของมหากาพย์ภาคที่สองระหว่างทวิตเตอร์และมัสก์จะจบลงอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป
แล้วทุกคนคิดว่า การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของชายที่ชื่อ ‘อีลอน มัสก์’ เป็นเกมกลยุทธ์การปั่นหุ้น หรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝงมาตั้งแต่ต้นหรือไม่?
Sources: https://bloom.bg/3Rmps1F
https://bloom.bg/3OZXgjl
https://bloom.bg/3yvulg9
https://fxn.ws/3IwDkT6
https://cnn.it/3uCH7Iy
https://bit.ly/3O0VUnc