1 วัน มี 24 ชั่วโมง เราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือพูดง่ายๆ ว่า 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตเราใช้ไปกับการทำงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์ของการทำงานจึงเป็นอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้เงินเดือนที่ใช้เลี้ยงปากท้อง
ถ้าเราเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ที่น่ารัก ก็จะทำให้อยากตื่นไปทำงานทุกวัน ส่งผลให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานไม่ถูกชะตา หรือไม่กินเส้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เวลาที่ต้องมาทำโปรเจกต์ร่วมกันก็อาจกลายเป็นมลพิษทางจิตใจ และกระทบกระทั่งจนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
แล้วต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบ จะทำยังไงให้ราบรื่น? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Benjamin Franklin Effect’ เทคนิคเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรกัน
Benjamin Franklin Effect คืออะไร?
Benjamin Franklin Effect คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ใช้อธิบายการผูกมิตรกับผู้อื่น โดยมีที่มาจากเรื่องเล่าของรัฐบุรุษก้องโลกชาวอเมริกันอย่าง ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) ซึ่งในอดีต เขาเคยต้องร่วมงานกับศัตรูที่ไม่ชอบเขา และมักจะมีความเห็นที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อรู้แบบนี้ เขาก็เลยใช้วิธีการขอยืมหนังสือหายากจากศัตรู และแน่นอนว่า ศัตรูก็ส่งให้ จากนั้น ในสัปดาห์ถัดมา แฟรงคลินจึงส่งคืนพร้อมข้อความขอบคุณสุดซึ้ง โดยภายหลัง ศัตรูคนนั้นก็ได้กลายเป็นมิตรที่ดีต่อเขา และเป็นเพื่อนกันไปจนวันตาย
Benjamin Franklin Effect มีกลไกอย่างไร ทำไมถึงเปลี่ยนศัตรูได้สำเร็จ?
แท้จริงแล้ว กลไกที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้คือ ‘ภาวะการรับรู้ความไม่ลงรอยกันของปัญญา (Cognitive Dissonance)’ เกิดความย้อนแย้งภายในตัวเองว่า แม้ลึกๆ จะไม่ชอบหน้าอีกฝ่าย แต่ก็เต็มใจช่วยเหลือ หรือพูดง่ายๆ ว่า การกระทำนั้นสวนทางกับความคิด ความเชื่อ เมื่อรู้สึกอึดอัด สมองก็เลยเริ่มลดอคติลง และมองเห็นมุมดีๆ ของอีกฝ่ายมากขึ้น
เราจะนำ Benjamin Franklin Effect ไปปรับใช้อย่างไร?
แบร์รี ดาฟเรต (Barry Davret) นักเขียนบนเว็บไซต์มีเดียม (Medium) แนะนำการประยุกต์ใช้ Benjamin Franklin Effect กับชีวิตการทำงานเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. ทำความเข้าใจ และขอความช่วยเหลือศัตรูคนนั้น
อันดับแรก เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า คนคนนั้นเป็นใคร ชอบ และไม่ชอบเรื่องไหน มีเป้าหมายอะไร? เพื่อหาแนวทางเข้าหาหรือจูนกัน เช่น แฟรงคลินรู้ว่าศัตรูชอบอ่านหนังสือ เลยใช้หนังสือเป็นบันได เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่า ศัตรูชอบเที่ยว ก็อาจลองเข้าหาด้วยการขอความช่วยเหลือให้แนะนำที่เที่ยวให้ก็ได้
2. ลองขอบคุณแบบ ‘แซนด์วิช’
จริงๆ แล้ว การขอความช่วยเหลือนั้นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายชอบเรามากขึ้น มิหนำซ้ำอาจทำให้เกิดความไม่พอใจตามมา ฉะนั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว ก็ควรขอบคุณด้วยความจริงใจ แสดงให้พวกเขาเห็นว่า มันมีความหมาย และมีค่ากับเรามากเพียงใด?
โดยหลักการในการขอบคุณก็คล้ายกับขนมปังที่ประกบแซนด์วิช 2 ชั้น หรือการขอบคุณพวกเขา 2 ครั้ง เช่น การขอบคุณศัตรูในตอนต้น ต่อด้วยการบรรยายถึงความรู้สึกที่ได้รับ จากนั้น จึงปิดด้วยความซาบซึ้งในความช่วยเหลือ และคำขอบคุณอีกครั้ง
ในชีวิตจริง เวลาเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ เราไม่อาจกดปุ่มเปลี่ยนเหมือนการเปลี่ยนสินค้าหรือขอคืนเงินในเว็บไซต์ออนไลน์ได้ทันที แถมกดปฏิเสธไม่เอาก็ไม่ได้ด้วย ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนมุมมอง หาทางปรับจูนร่วมกัน เพื่อให้ทั้งเรา และเขาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
Sources: https://bit.ly/3WjxpG7