LOADING

Type to search

AIS เข้าซื้อ 3BB TRUE ควบรวม DTAC ว่าด้วยภาพสะท้อน ‘Duopoly’ ตลาด (เกือบ) ผูกขาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

AIS เข้าซื้อ 3BB TRUE ควบรวม DTAC ว่าด้วยภาพสะท้อน ‘Duopoly’ ตลาด (เกือบ) ผูกขาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
Share

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 กรกฎาคม) มีรายงานข่าวออกมาว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ‘เอไอเอส’ (AIS) ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทยประกาศเข้าซื้อหุ้นและหน่วยลงทุนในเครือของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการเน็ตบ้าน ‘ทรีบรอดแบนด์’ (3BB) ด้วยมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

ถึงแม้ว่า ดีลการเข้าซื้อกิจการระหว่าง 2 บริษัทนี้ จะต้องผ่านตัวกลางอย่างคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คอยกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารภายในประเทศเสียก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ดีลนี้ผ่านฉลุยแน่นอน

หลังจากที่มีรายงานข่าวออกมา ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสนับสนุนและตรงข้ามตามมามากมาย แต่หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจ ก็คือดีลนี้เป็นกลยุทธ์แก้เกมการควบรวมกิจการระหว่าง ‘ทรู’ (TRUE) และ ‘ดีแทค’ (DTAC) คู่แข่งคนสำคัญของเอไอเอสหรือเปล่า?

จริงๆ แล้ว การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติในโลกของการทำธุรกิจ บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจมีฐานลูกค้ามากขึ้น บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในสนามการแข่งขันอันดุเดือด แต่สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยก็มีความเป็น ‘ตลาดผู้ขายน้อยราย’ (Oligopoly) อยู่แล้ว ยิ่งควบรวมกัน ยิ่งจะกลายเป็นการผูกขาดตลาดมากขึ้นหรือเปล่า?

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้นิยามของ ‘การผูกขาด’ ไว้ว่า ‘การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป’ แต่เมื่อเทียบเคียงกับสภาพตลาดหลังดีลการเข้าซื้อหรือควบรวมของทั้งสองฝั่งเสร็จสิ้น จะทำให้ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยเข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า ‘Duopoly’ มากกว่าตลาดผูกขาดแบบ ‘Monopoly’ ที่เราคุ้นเคยกัน

วันนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Duopoly และชวนวิเคราะห์แนวโน้มการทำธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเราๆ มีอะไรบ้าง?

Duopoly คืออะไร?

Duopoly คือสถานการณ์ที่ในตลาดมีผู้ขายสินค้าประเภทเดียวกัน หรือเป็นสินค้าที่คล้ายคลึงกันเพียงสองราย ซึ่งมีอยู่ในทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น เป๊ปซี่ (Pepsi) กับโคคา-โคล่า (Cola-Cola) รายใหญ่ของธุรกิจเครื่องดื่มอัดลม แอร์บัส (Airbus) กับโบอิ้ง (Boeing) รายใหญ่ของธุรกิจประกอบเครื่องบิน บีทีเอส (BTS) กับบีอีเอ็ม (BEM) รายใหญ่ของธุรกิจรถไฟฟ้าในไทย เป็นต้น

ภาพของความเป็น Duopoly ทำให้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่การทำธุรกิจผูกขาดสไตล์ ‘กินรวบ’ ที่มีเจ้าเดียว รวยคนเดียว ไม่แบ่งใคร เพราะอย่างน้อยก็ยังมีการแข่งขันในตลาดอยู่ แต่จริงๆ แล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ผู้เล่นรายใหญ่ทั้งสองถืออยู่ มีมากจนไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นรายเล็กแทรกเข้ามาแข่งขันด้วยได้ สุดท้ายแล้วก็มีความผูกขาดในตัวอยู่ดี

มีความเห็นมากมายที่ชี้ว่า การเข้าซื้อกิจการของเอไอเอสไม่ได้ทำให้เกิดตลาดแบบ Duopoly เพราะยังมีผู้เล่นรัฐวิสาหกิจอีกรายอย่าง ‘โทรคมนาคมแห่งชาติ’ หรือ ‘เอ็นที’ (NT) แต่เมื่อดูการแข่งขันของกลุ่มค่ายมือถือในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 เอ็นทีถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 3.59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีอำนาจในตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับเอไอเอสและทรูที่ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 44.29 และ 32.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ถึงแม้ว่า การแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย จะไม่เข้าข่ายลักษณะของ Duopoly ตามตำรา แต่หากดีลการเข้าซื้อและควบรวมของทั้งสองฝั่งเสร็จสิ้น การแข่งขันแบบ Duopoly ในชีวิตจริงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในมิติของการทำธุรกิจและผลกระทบต่อผู้บริโภค

1. ‘เอไอเอส’ ถือไพ่เหนือกว่า ‘ทรู’ ในธุรกิจ ‘เน็ตบ้าน’

บริษัทที่เอไอเอสเข้าซื้อกิจการอย่างทรีบรอดแบนด์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านอยู่แล้ว ทำให้เอไอเอสสามารถขยายธุรกิจเน็ตบ้านของตัวเองได้ทันที โดยไม่ต้องทุ่มงบในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทขาดทุนจากเทคโนโลยีที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้

นอกจากที่จะได้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจมาอยู่ในมือแล้ว ยังได้ฐานลูกค้าจากทรีบรอดแบนด์ที่เป็นเบอร์สองของธุรกิจเน็ตบ้านในขณะนี้มาด้วย จากที่แต่เดิมเอไอเอส ไฟเบอร์ (AIS Fibre) สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้เพียงบางส่วน ทำให้การเข้าซื้อกิจการเป็นเหมือนการเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น

2. ‘ทรู’ ถือไพ่เหนือกว่า ‘เอไอเอส’ ในธุรกิจ ‘เน็ตมือถือ’

จริงๆ แล้ว ข้อนี้มีความคล้ายคลึงกับข้อแรก เพราะพันธมิตรที่ทรูจะทำการควบรวมกิจการด้วย คือดีแทคที่ทำธุรกิจด้านการสื่อสาร และให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือมาอย่างยาวนาน ถือเป็นยักษ์ใหญ่อีกเจ้าที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 19.76 เปอร์เซ็นต์ หากทั้งสองบริษัทควบรวมธุรกิจกันสำเร็จ จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มค่ายมือถือมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และนี่คงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เอไอเอสต้องงัดไม้เด็ดมาสู้ให้ได้

3. ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในช่วงแรก แต่ถูกผูกขาดในช่วงหลัง

ผู้บริโภค คือตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดว่า ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันแบบ Duopoly เพราะเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองรายในตลาด ก็ต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ในช่วงแรก เราอาจได้เห็นการฟาดฟันกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อย่างโปรโมชันการตัดราคาสุดโหดที่จูงใจให้เข้ามาเป็นลูกค้าของตัวเอง

แต่เมื่อช่วงโปรโมชันหมดลง ความใส่ใจในผู้บริโภคและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะลดลงไปด้วย เพราะผู้เล่นแต่ละราย จะหันไปโฟกัสกับการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจมากกว่าสร้างฐานลูกค้าใหม่แทน และต่อให้ผู้บริโภคต้องการจะเปลี่ยนใจ ก็มีตัวเลือกไม่มาก หนีไปก็เจอปัญหาเช่นเดิม ไม่ต่างอะไรกับการหนีเสือปะจระเข้เลยสักนิด

ถึงแม้ว่า ภายหลังการเข้าซื้อหรือควบรวมธุรกิจของผู้เล่นรายใหญ่แต่ละราย จะมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งนี้ก็ไม่อาจการันตีถึงความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีปัจจัยจากผู้บริโภค และความกดดันของตลาดที่ต้องแข่งกันเป็นเบอร์หนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แล้วทุกคนคิดว่า หลังจากที่ดีลการเข้าซื้อของเอไอเอส และการควบรวมธุรกิจของทรูกับดีแทคเสร็จสิ้น การทำธุรกิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด?

Sources: https://bit.ly/3RebiPZ

https://bit.ly/3RbX02q

https://bit.ly/3Rgeqek

https://bit.ly/3bMRT8x

https://bit.ly/3aicO2V

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1