LOADING

Type to search

เมื่อ AI รับรู้ความรู้สึกจากเสียงที่ได้ยิน? นักจิตวิทยาชี้ AI อาจเป็นผู้ช่วยใหม่ในการวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์

เมื่อ AI รับรู้ความรู้สึกจากเสียงที่ได้ยิน? นักจิตวิทยาชี้ AI อาจเป็นผู้ช่วยใหม่ในการวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์
Share

เคยไหมที่รู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิต แต่ต้องอดทนจนปลงได้เอง เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร?

เคยไหมที่เวลาส่องกระจกในตอนเช้า ต้องแสร้งยิ้มให้ตัวเอง เพื่อเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป?

เคยไหมที่ก่อนนอน ความคิดในหัวตีกันยุ่งเหยิงไปหมด แถมจิตใจยังว้าวุ่น จนนอนไม่หลับ?

ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ทั้งสามข้อนี้มาก่อน หรือแม้แต่ในตอนนี้เอง ก็กำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่ เราอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านมันไปด้วยกัน ถึงแม้ว่า มันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง ทุกคนจะเป็น ‘คนเก่ง’ ที่เอาชนะมันได้อย่างแน่นอน

จิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากแท้หยั่งถึง มันเป็นสิ่งที่มีความผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์ชีวิต และการทำงานของสารเคมีในสมอง สองสิ่งนี้ ได้หลอมรวมกันจนเกิดเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในชีวิตท่ามกลางตัวเลือกมากมาย

ในสภาวะปกติ จิตใจของมนุษย์มีความซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลายๆ ครั้ง มักจะมีเหตุการณ์ที่ความรู้สึกจริงๆ กับการตัดสินใจ มันสวนทางกัน หรือบางทีตัวเราเองก็ตามอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไม่ทัน จนต้องกลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ แล้ว ตอนนี้ เรากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่?

ยิ่งมีแรงกดดันทางสังคม ความเครียด ความคาดหวัง และอื่นๆ อีกมากมาย เข้ามาสั่นคลอนความมั่นคงในจิตใจ ความซับซ้อนเหล่านั้น ได้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความพัง’ อย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ในช่วงแรก เราอาจจะรับมือกับมันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้ จะเข้าไปสะสมอยู่ภายในใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น ‘ความพังขั้นสุด’ ที่ยากจะเยียวยาให้ดีเหมือนเดิม

‘เมื่อสภาพจิตใจมาถึงจุดที่ตัวเองแบกรับต่อไปไม่ไหว ก็ต้องได้รับการเยียวยา เพื่อไม่ให้มันพังไปเสียก่อน’

หนึ่งในวิธีการเยียวยาสภาพจิตใจที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนวัยทำงาน ก็คือ ‘การเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยา’ ซึ่งเป็นวิธีที่อาศัยการสนทนาระหว่างนักจิตวิทยากับผู้เข้ารับการปรึกษา เพื่อทำความเข้าใจที่มาของอารมณ์ลบที่อยู่ภายในใจ และช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาได้ค้นหาวิธีการรับมือกับปัญหาของตนเองอย่างเหมาะสม

มาเรีย เอสปิโนลา (Maria Espinola) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซินซินนาติ (University of Cincinnati College) และนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษากับผู้คนมามากมาย กล่าวว่า “การทำงานของนักจิตวิทยา ไม่ใช่แค่รับฟังสิ่งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาพูด แต่ยังต้องฟังวิธีการพูดและน้ำเสียงที่พวกเขาใช้ด้วย”

การที่นักจิตวิทยาต้องฟังวิธีการพูดและน้ำเสียงด้วยนั้น เป็นเพราะว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้พูดในทุกสิ่งที่เป็นปัญหาของตนเองจริงๆ วิธีการพูดและน้ำเสียงจะช่วยให้นักจิตวิทยาเข้าใจความรู้สึกของผู้เข้ารับการปรึกษามากขึ้น อย่างคนที่รู้สึกหดหู่ จะใช้น้ำเสียงแบบโมโนโทน (monotone) พูดเสียงเบา และเว้นจังหวะในการพูดแต่ละประโยคนาน ส่วนคนที่มีความวิตกกังวล จะพูดเร็ว จนบางครั้งถึงกับหายใจไม่ทัน

และด้วยความแตกต่างนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เคต เบนต์ลีย์ (Kate Bentley) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และนักจิตวิทยา ได้นำ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์ผ่านวิธีการพูดและน้ำเสียงที่พวกเขาใช้

เคต กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว การวิเคราะห์สภาพจิตใจ จะดูจากประสิทธิภาพการนอนหลับ และการใช้โซเชียลมีเดียของผู้เข้ารับการปรึกษา ส่วนการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ด้วย ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ฉันเชื่อมั่นว่า ด้วยพื้นฐานของเทคโนโลยี AI ที่สามารถตรวจจับเสียงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จะเข้ามาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ฉันไม่ได้ยินจากผู้เข้ารับการปรึกษา”

แต่น่าเสียดายที่ความสามารถของ AI ยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะจากการทดสอบในเบื้องต้น ผลการวิเคราะห์ของผู้เข้ารับการปรึกษาตัวจริง กับตัวปลอมที่ลอกเลียนวิธีการพูดมาจากผู้เข้ารับการปรึกษาตัวจริงอีกทีหนึ่ง ไม่ได้ต่างกันมากนัก นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาความสามารถของ AI ให้มีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังมีกำแพงความไม่เชื่อใจใน AI ที่ก่อตัวสูงขึ้นในใจของผู้เข้ารับการปรึกษา ทำให้การทำงานของเคตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

จริงๆ แล้ว การนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์ ก็เป็นแนวคิดที่ฟังดูแล้วน่าสนใจดี เพราะถ้าทำได้สำเร็จ นักจิตวิทยาอาจจะมีผู้ช่วยมือดีในการรับมือกับผู้เข้ารับการปรึกษา หรือเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นได้

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังมีสิ่งที่น่ากังวลใจอยู่ดี และเราต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จะมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต ทั้งความแม่นยำในการวิเคราะห์ที่ต่อให้ได้รับการพัฒนาแล้ว จะแม่นยำได้มากขึ้นแค่ไหน? ผู้เข้ารับการปรึกษาจะเปิดใจกับ AI ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่? แล้วถ้า AI ฉลาดจนอ่านใจได้ มันจะมาแทนที่นักจิตวิทยาเลยหรือเปล่า?

Sources: https://nyti.ms/3OjjrRR

https://bit.ly/3rDxN5T

Tags::

You Might also Like