ใช้งาน AI อย่างไรไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ในขณะที่กฎหมายควบคุมยังไม่สามารถออกแบบได้?
อย่างที่ผู้อ่านทุกคนทราบกันดีเรื่องราวของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในประจำวันของคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่ นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน นักธุรกิจ การใช้มันในฐานะของเครื่องมืออำนวยความสะดวก สร้างความน่าสนใจให้กับมันอย่างมาก แต่การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นตามมาด้วยปัญหาที่หลายคนกังวล
‘ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์’
อธิบายง่ายๆ สำหรับผู้อ่านที่ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การทำงานของพวกมันจะอ้างอิงจากการฝึกฝน ด้วยข้อมูลที่ผู้พัฒนาได้เตรียมไว้ ให้มันได้เรียนรู้และแสดงความสามารถออกมาได้ตามที่ได้รับการฝึกฝน ตัวอย่าง Generative AI ประเภทสร้างสรรค์รูปภาพจากคำสั่ง (Prompt) ขั้นตอนการพัฒนาจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลของรูปภาพกับปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้
‘ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่ารูปภาพเหล่านั้นใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือข้อมูลที่นำมาฝึกฝน ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่’
ต้องยอมรับว่าปัญญาประดิษฐ์ส่วนมากได้รับข้อมูลในการฝึกฝนจากแหล่งข้อมูลดิจิทัล ที่พวกมันไม่สนว่าข้อมูลที่เรียนรู้นั้นเป็นของใคร จึงเกิดเป็นปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นมา และไม่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะรูปภาพที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ อย่างในกรณีของ การประกวดวาดภาพในหมวดหมู่ ‘Digital Arts’ ของงาน ‘Colorado State Fair’ ที่ผู้ชนะได้ใช้รูปจาก Midjourney ในการส่งประกวด ทำให้เห็นได้ว่าการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่ผิดวิธีจะไม่ได้รับการยอมรับ
แต่ด้วยความที่ปัญญาประดิษฐ์พึ่งจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น การออกแบบกฎหมายเพื่องานควบคุมการใช้งานจึงยังไม่เกิดขึ้น จากงานสัมมนาทางด้านกฎหมายและจริยธรรม ‘The ACE Seminar’ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้กล่าวถึงประเด็นการออกแบบกฎหมายไว้ว่า
ในเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ การออกแบบกฎหมายเพื่อมาควบคุมการใช้งานปัญญาประดิษฐ์จะยังไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะมันคือสิ่งใหม่ที่พวกเรายังไม่รู้จักดีพอที่จะสร้างกฎหมายมาควบคุมการใช้งาน มันคือสิ่งที่จะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ แต่สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้คือออกจดหมายแนะนำการใช้งาน ที่สามารถไกด์ได้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ
ในส่วนของศิลปินที่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง สามารถป้องกันผลงานของตัวเองได้ 2 วิธีในปัจจุบัน คือ งดอัปโหลดงานในแพลตฟอร์มสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และใส่ลายน้ำในผลงานของตัวเองก่อนอัปโหลด ถึงแม้จะไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นวิธีการป้องกันที่สามารถทำได้ดี
สำหรับผู้คนที่ต้องการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นก็ไม่มีความผิดอะไร แต่ควรจะรู้ไว้ว่าเครื่องมือของคุณ อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ได้ ดังนั้นแล้วไม่ควรนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
อย่างที่กล่าวไปปัญญาประดิษฐ์มีทั้งตัวที่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ สำหรับตอนนี้เครื่อง มือที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะใช้งานรูปที่ได้รับการยินยอมในการฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ จะมี Getty Images AI ซึ่งใช้วิธีการฝึกฝนด้วยรูปที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทพวกเขาเอง ต่างจากปัญญาประดิษฐ์บางตัวที่ผู้พัฒนาเลือกที่จะให้พวกมันฝึกฝนจากแหล่งข้อมูลดิจิทัล
สุดท้ายนี้การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจจะต้องดูความเหมาะสมและจุดประสงค์ของการใช้งาน และต้องทำความเข้าใจว่าในปัจจุบันที่กฎหมายการควบคุมยังไม่ถูกออกแบบให้เกิดขึ้น พื้นที่ของานใช้งานปัญญาประดิษฐ์จะเป็นสีเทาเสมอ
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources:
ข้อมูลบางส่วนนำมาจากสัมมนากฎหมายและจริยธรรม ‘The ACE Seminar’ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
Art Made With Artificial Intelligence Wins at State Fair : https://www.smithsonianmag.com/smart-news/artificial-intelligence-art-wins-colorado-state-fair-180980703/
Getty Images promises its new AI contains no copyrighted art : https://www.technologyreview.com/2023/09/25/1080231/getty-images-promises-its-new-ai-doesnt-contain-copyrighted-art