“ฉันคือตัวละครหลักทุกคนต้องสนใจฉัน” พาไปรู้จักกับ ‘Main Character Syndrome’ อาการของความมั่นใจที่เป็นดาบสองคม
เมื่อการเข้ามาของเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตของตัวเองไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของใคร แต่ในปัจจุบันเรื่องราวต่างๆ ถูกเล่าออกไปสู่สาธารณะชน จากโนบอดี้ กลายเป็นซัมวันของสังคม มันเป็นเรื่องดีของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา แต่ในบางครั้งมันก็มาพร้อมกับอาการแปลกๆ ที่น่าตกใจ
วันนี้ Future Trends อยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘Main Character Syndrome’ หรือ ‘อาการของตัวละครหลัก’ อาการที่ไม่ใช่ภาวะทางจิตใจ แต่ว่ามีปัจจัยมาจากความมั่นใจที่มากจนกลายเป็นดาบสองคม
[ ‘Main Character Syndrome’ คืออะไร? ]
‘เบียว’ อาจจะเป็นคำนิยามที่คุณมอบให้กับอาการนี้
‘Main Character Syndrome’ หรือ ‘อาการของตัวละครหลัก’ ไม่ใช่อาการทางการแพทย์ หรือ อาการทางจิต แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นมาจากโลกออนไลน์ มีรากฐานมาจากภาพยนตร์ การ์ตูน หรือ สื่อที่มีเรื่องราว โดยผู้คนได้ดึงคำว่า Main Character มาใช้เป็นคำเรียกแทนอาการ
มันคือการมอง ‘ตัวเอง’ ให้เป็นตัวละครหลักในชีวิตจริง หากเข้าใจแค่นี้มันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ทุกๆ คนย่อมเป็นตัวละครเอกในชีวิตของตัวเองอยู่แล้ว ใช่มันควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่าอาการนี้กลับเป็นการมองว่าตัวเองคือตัวละครหลัก ส่วนผู้อื่นคือตัวละครสมทบไม่มีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง
ซึ่งมันเป็นทัศนคติที่ผู้คนเรียกว่า ‘พลังของตัวละครหลัก’ ทุกคนจะต้องสนใจคุณตลอดเวลา คุณคือจุดสนใจ สปอตไลท์ส่องลงมาที่คุณคนเดียว มันเป็นทัศนคติที่สร้างความน่ารำคาญให้กับสังคม
ตัวอย่างอาการของตัวละครหลัก จะแสดงออกให้เห็นได้ง่ายที่สุดผ่านการเล่าเรื่องราวของตนเอง ที่จะต้องเป็นคุณเท่านั้น ที่พบเจอเรื่องราว และคอนเทนต์ต่างๆ มากมาย เปรียบเสมือนว่าทุกๆ อีเวนต์จะต้องเกิดขึ้นกับตัวคุณ โดยน้ำเสียงและวิธีการเล่าเรื่องจะต้องผสมผสานไปด้วย ‘Exaggerate’ หรือ ‘เกินจริง’
เช่น วันนี้ฉันแต่งตัวด้วยลุคใหม่ และทุกๆ คนที่ผ่านไปมา จับจ้องมาที่ฉันอย่างกับถูกมนต์สะกดไว้ หรือ วันนี้ฉันไปซื้อของที่แบรนด์หรูแต่พนักงานชมฉันว่าสวยมากจนให้ส่วนลดสินค้าฟรี เป็นต้น ส่วนมากเรื่องราวจะมีจุดเชื่อมโยงกันคือต้องการความสนใจจากคนรอบตัว แสงจะต้องส่องที่ฉันคนเดียวเท่านั้น มุมมองการเล่าเรื่องจะต้องเหมือนบทละครที่เราเห็นได้ตามภาพยนตร์
มีข้อสันนิษฐานว่า อาการของตัวละครหลัก อาจจะมีสาเหตุมาจากความมั่นใจ ‘ที่มากจนเกินไป’ หรือ ‘ไม่มีความมั่นใจจนต้องสร้างมันขึ้นมาเอง’ ซึ่งทั้งสองสาเหตุเป็นสิ่งที่ไม่ดีนักกับการใช้ชีวิต เพราะมันมากเกินไปและน้อยเกินไป ขาดความสมดุล
นอกจากนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่า อาการของตัวละครหลักมีความเชื่อมโยงกับ ‘Narcissist’ หรือ ‘พฤติกรรมหลงตัวเอง’ แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของความมั่นคง กลุ่มอาการของตัวละครหลักอาจเป็นจุดสนใจชั่วคราวในชีวิตของใครบางคนเท่านั้น ในขณะที่พฤติกรรมหลงตัวเองมีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา มั่นหน้าอย่างไรก็มั่นหน้าอย่างนั้น
[ การทำงานของ ‘Main Character Syndrome’ ]
อาการของตัวละครหลักอาจเกิดจากความวิตกกังวล ความไม่มั่นคง และความมั่นใจในตนเองต่ำ ซึ่งมีสาเหตุที่มาจากหลายปัจจัย ทั้งการขายความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น หมกมุ่นอยู่แต่กับเพียงแค่ความสำเร็จของตนเอง มีกรอบความคิดที่ว่าตัวเองคือศูนย์กลางจักรวาล ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสร้างความเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ได้
จนเกิดเป็นกลไกการทำงานรับมือในช่วงเวลาที่มีความเครียดหรือความท้าทาย ซึ่งเป็นแนวทางในการรักษาเรื่องราวเชิงบวก การแสดงตนบนโซเชียลมีเดียอาจทำให้กลุ่มอาการของตัวละครหลักรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากการโพสต์และเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลามีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกเป็นที่สนใจ
[ ไม่อยากมีอาการของ ‘Main Character Syndrome’ ทำอย่างไรได้บ้าง? ]
ยอมรับความจริงว่าเราคือโนบอดี้ในสังคมแต่เป็นซัมวันในชีวิตตัวเอง
หยุดพักและปรับทัศนคติ
คิดถึงผู้อื่นนอกเหนือจากตัวเองบ้าง
ปรึกษานักบำบัดที่เชี่ยวชาญ
ห่างกันสักพัก…กับโซเชียลมีเดีย
โฟกัสบางสิ่งในชีวิตถึงแม้มันจะเล็กน้อยก็ตาม
“อาการของตัวละครหลักเปรียบเสมือนดาบสองคม อาจเป็นผลดีได้หากคำนึงถึงการเป็นโนบอดี้ในสังคม และรับบทซัมวันในชีวิตของตนเอง หรืออาจจะเป็นผลเสียได้ถ้าคุณเห็นตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล”
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Source: Cleveland Clinic – You’re the Star of the Show With Main Character Syndrome : https://health.clevelandclinic.org/what-to-know-about-main-character-syndrome