“จากร้านริมถนนสู่แฟรนไชส์ระดับโลก” พาไปดู Business Strategy กลยุทธ์พลิกดินสู่ดาว ของ ‘Mixue’
จุดเริ่มต้นของแบรนด์มนุษย์หิมะที่เรารู้จักกันในนามของ ‘Mixue’ แบรนด์ที่มาแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนในประเทศไทยเราจะสามารถพบเห็น Mixue ได้ตามแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นแต่ตอนนี้เราสามารถพบเห็นมันได้เกือบจะทั่วทุกหัวมุมถนน
ความสำเร็จของ Mixue ในประเทศไทยถือว่าน่าประทับใจจากราคาที่จับต้องได้เป็นสินค้าประเภท Mass ที่ใครต่างก็อยากทดลอง วันนี้ Future Trends จะพาผู้อ่านทุกคนไปดูความสำเร็จของแบรนด์ที่แต่เดิมเป็นเพียงแค่ร้านริมถนน
[ Business Strategy กลยุทธ์พลิกดินสู่ดาว ของ ‘Mixue’ ]
ปี 1997 ช่วงฤดูร้อน Zhang Hongchao สร้างสรรค์แบรนด์ที่ชื่อว่า ‘Mixue’ ด้วยเงินเพียงแค่ 3,000 หยวน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากแต่นำพาไปสู่การสร้างอาณาจักรของมนุษย์หิมะตัวน้อย
Zhang Hongchao และน้องชายของเขา Zhang Hongfu สร้างแบรนด์เครื่องดื่มและไอศกรีมนี้ด้วยการพัฒนาจากแผงขายริมถนนในเมืองเจิ้งโจว ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน
การต่อสู้ของพวกเขาในช่วงแรงนั้นเต็มไปด้วยความผิดหวังจากกิจการที่ไม่ประสบความสำเร็จก่อนๆ แต่เมื่อมาถึงคราว Mixue เขาเลือกที่จะวางแผนธุรกิจให้มีความรอบครอบมีกลยุทธ์ไม่เพียงแต่ใช้ใจในการทำงาน ประชากรในเมืองเจิ้งโจวมีมากกว่า 10 ล้านคน พวกเขาเลือกใช้ข้อมูลทางด้านประชากรในจุดนี้มาปรับเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม ด้วยการนำเสนอเมนูที่หลากหลายให้โดนใจคนท้องถิ่น และกลายมาเป็นร้านริมถนนที่คนในเมืองต้องมากิน
ในปี 1999 ก่อนจะถึง Y2K น้องชายของเขา Zhang Hongfu เสนอกลยุทธ์ใหม่เกี่ยวกับการตั้งราคาที่จับต้องได้และขยายสาขาไปยังเมืองระดับสามและสี่ที่ไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าริมถนนของพวกเขาได้ กลุ่มเป้าหมายหลักในช่วงเวลานี้คือนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มคนทำงานวัยหนุ่มสาว
เพื่อความครอบคลุมของความหลากหลายพวกเขาเลือกที่จะสร้างสรรค์เมนูใหม่ขึ้นมาโดยคราวนี้เป็นของคาว ส่งผลให้ Mixue ได้รับชื่อว่าเป็นร้านที่ขายทั้งของคาวและของหวานในร้านเดียวกัน
“ราคาต่ำ ปริมาณสูง กลยุทธ์แห่งความสำเร็จ”
ราคาของ Mixue ถือเป็นกลยุทธ์ชั้นเลิศมันเอื้อมถึงมากขนาดไหนกัน? ลองนึกภาพ แฮมเบอร์เกอร์ราคา 3 หยวน เฟรนช์ฟรายส์ราคา 1 หยวน และข้าวผัดหยางโจวราคา 2 หยวน ดูสิราคาแบบนี้มีเหตุผลอะไรกันที่จะทำให้ไม่มีคนซื้อ ประกอบกับปริมาณที่มากมายจากการคำนวณต้นทุนอย่างพิถีพิถันถึงแม้จะได้กำไรเล็กน้อยแต่ก็สามารถขายได้ในราคาถูกและมีกำไรอยู่ดี
จุดเปลี่ยนของพวกเขาคือ 2006 ในปีนี้มีไอศกรีมที่เป็นนิยมอย่างมากในราคา 18 หยวน เมื่อพวกเขาเห็นเช่นนั้น จึงเริ่มต้นการพัฒนาเมนูใหม่ทันที ออกมาเป็นไอศกรีมราคา 1 หยวน!!! ซึ่งกลายมาเป็นสินค้ายอดนิยมในทันที ราคาที่ถูกของไอศกรีมนี้ส่งผลให้มียอดขายกว่า 5,000 ยูนิตต่อวัน
หลังจากนั้นไม่นานในปี 2010 Mixue ได้มีผู้ถือหุ้นส่วนรายใหม่อีกสองรายแต่ว่าความรวมมือนี้ก็กินระยะเวลาไม่นานประมาณ 3 ปีเท่านั้น ก่อนที่สองพี่น้อง Zhang จะกลับมาเป็นผู้บริหารเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง และพาแบรนด์สู่ตลาดสากล ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนร้านกว่า 18,000 ร้านทั่วโลกในปี 2020
เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจกับการสร้างสรรค์แบรนด์ของสองพี่น้อง จะเห็นได้ถึงกลยุทธ์ที่มีความเป็น Mass Product ขายมากชิ้นในราคาถูกแต่สามารถคงคุณภาพให้เหมาะสมกับราคาได้ แต่เพราะอะไรกันที่ Mixue สามารถชนะในกลุ่มตลาดที่มีความเป็น Mass สูงได้
[ ‘Mixue’ ผู้ชนะใน ‘Mass Market’ ]
Mixue ชนะได้ด้วยกลยุทธ์ Mass Market Low Cost / Low Price Strategy กลยุทธ์นี้จะมีหัวใจสำคัญหลักๆ อยู่ 4 อย่าง
1.Large Number จำนวนของสินค้าต้องมาก ด้วยการจัดหา จัดซื้อวัตถุดิบที่มีราคาถูกมากกว่าเจ้าอื่น
2.In-house Supply Chain Factory, Logistic Centers มีระบบภายในที่ดีครอบคลุมทุกบริการ ลดต้อนทุนได้
3.Lower Price ราคาถูก ทำอย่างไรก็ได้ให้แน่ใจว่าราคาเราถูกกว่าคู่แข่ง เพื่อสร้างลูกค้าที่มากขึ้น
4.More Franchisees สร้างแฟรนไชส์ให้มากยิ่งขึ้น แล้วจัดการให้ดี
เพียงแค่แนวคิด กลยุทธ์ 4 อย่างนี้ อ่านดูแล้วเหมือนจะง่ายแต่มันเต็มไปด้วยการวางแผนที่สั่งสมมาเป็นเวลานานกว่าหลายสิบปี เพื่อจะสร้างหัวใจของความสำเร็จให้กับแบรนด์ได้
กรณีของ Mixue เป็นตัวอย่างที่ดีของการวางแผนทางธุรกิจและวางกลยุทธ์อย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่มที่มองกลุ่มลูกค้าเป็นหลักนการสร้างสรรค์กลยุทธ์ และสั่งสมประสบการณ์การสร้างแบรนด์ การขยายกิจการ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะบริหารด้วยพี่น้องแค่ 2 คนก็ตาม
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources: https://kr-asia.com/from-roadside-stand-to-a-global-franchise-the-rise-of-mixue-bingcheng