‘Wolf Culture’ ความเข้มข้นในการทำงานที่แลกแม้กระทั่งวิญญาณของคุณ ‘กรณีศึกษา Huawei’
นอกเหนือจากภาพจำของการเป็นผู้นำ ‘หมาป่า’ ยังถูกยึดโยงกับวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย โดยมาจากความดุร้ายของพวกมัน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศจีนหลายๆ แห่ง นิยามคำว่า ‘Wolf Culture’ หรือ ‘วัฒนธรรมหมาป่า’ ขึ้นมา เป็นคุณสมบัติที่ผู้ประสบความสำเร็จต้องมี
องค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง ‘Huawei’ ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีแนวคิดวัฒนธรรมองค์กรแบบหมาป่า แล้ว Wolf Culture แท้จริงแล้วมันมีลักษณะแบบใดกันแน่ แค่ความดุร้ายอย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้หรอก
[ Wolf Culture คืออะไร? ]
หากผู้อ่านยังจำกันได้ Future Trends เคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำแบบหมาป่า ตัววัฒนธรรมหมาป่าจะคล้ายคลึงกัน คือ การทำงานที่ทุกคนมีหน้าที่ ทุกตำแหน่งสำคัญ ขาดตำแหน่งไหนไปไม่ได้ เปรียบเทียบกับฝูงหมาป่าที่ผู้นำจะอยู่ข้างหลัง คอยจัดแจงว่าหมาป่าตัวไหนต้องทำเช่นไร และปล่อยให้พวกมันทำหน้าที่กันไป
วัฒนธรรมหมาป่า คือการทำงานรูปแบบนั้น ‘ความเข้มข้น’ เป็นกุญแจของวัฒนธรรมนี้ แต่ในบางครั้งความเข้มข้นในงานที่มากจนเกินไปกลายเป็นความกดดันที่พนักงานต้องพบเจอ และทำงานภายใต้แรงกดดันเหล่านี้ ในอีกแง่มุมหนึ่งมันถูกเรียกว่า ‘วัฒนธรรมความบ้าคลั่ง’ ที่พร้อมจะทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ภายใต้มันทั้งสิ้น
องค์กรที่ใช้งานวัฒนธรรมหมาป่า ที่ผู้คนรู้จักกันดีคือ ‘Huawei’ ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นองค์กรผู้ริเริ่มวัฒนธรรมนี้เลยก็ว่าได้ เพราะ เหริน เจิ้งเฟย(Ren Zhengfei) CEO ขององค์กรเคยเป็น ‘ทหาร’ มาก่อน ความเชื่อของเขาจึงเป็นการมีระเบียบวินัย การฝึกฝนอย่างเข้มข้น การทำผลงาน ความโดดเด่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่แปลกเลยที่วัฒนธรรมหมาป่าจะถูกใช้งานกับ ‘Huawei’
จากบทสัมภาษณ์อดีตพนังงานของ Huawei “วัฒนธรรมหมาป่า มันไม่มีอะไรซับซ้อน มันคือการแก่งแย่งชิงดีในทีม ใครมีแสงมากก็ได้อยู่ต่อ ใครมีแสงน้อยก็ออกไป ใครไม่ทำตามก็ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แค่นั้น” ดูเหมือนว่าคนที่เคยอยู่ในวัฒนธรรม และองค์กรนี้ จะไม่ค่อยปลื้มกับแนวคิดนี้เท่าไหร่
เราไปดูกันดีกว่าว่า Huawei ได้รับผลประโยชน์ใดบ้างจากการผสมผสานองค์กรเข้ากับวัฒนธรรมหมาป่า
[ Wolf Culture กรณีศึกษา ‘Huawei’ ]
“การเสียสละคือหน้าที่ของทหาร และชัยชนะคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
ถึงแม้วัฒนธรรมหมาป่าจะดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับกรมแรงงานเท่าไหร่นัก แต่ Huawei ได้ออกแบบให้ลักษณะงานเหมาะสมกับคนที่ ‘หิวโหย’ ต้องการที่จะทำงานหนักเพื่อการเติบโตในหน้าที่การงาน มีการกล่าวอ้างว่าพนักงานขององค์กรทำงานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อแลกกับ ‘เงิน’ ที่มากพอกับค่าเหนื่อย และการเลื่อนตำแหน่งสำหรับผู้ที่ทำผลงานได้ดี
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ CEO ของ Huawei สนทนากับผู้บริหารระดับสูงเรื่องความจำเป็นในการย้ายที่ทำงาน “ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งมีครอบครัวอยู่ที่เมืองปักกิ่ง เขาต้องการย้ายไปประจำที่นั่นเพื่ออยู่กับครอบครัว CEO เหริน จึงถามเขาว่าครอบครัวคุณย้ายมาไม่ได้หรอ ถ้าเป็นเช่นนั้นจงหย่าซะ” เป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีข้อเท็จจริงให้พิสูจน์แต่มันก็ถูกเล่าต่อกันมา
แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ Huawei ต้องการความจงรักภักดีต่อองค์กรมากที่สุด ถ้าคุณต้องการผลประโยชน์ที่มากพอจะเลี้ยงชีวิตคุณได้ ทัศนคตินี้พนักงานจะได้รับจากการเข้าร่วม ‘Huawei University’ สถานที่ที่เมื่อพนักงานเข้ามาทำงานจะได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวขององค์กรทั้งหมด โดยในโรงเรียนนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับ ‘ค่ายทหาร’
ผู้ที่เข้ามาต้องทำตามคำสั่ง มีระเบียบที่ชัดเจน เช่น การตื่นมาออกกำลังกายในเช้าตรู่ และเข้าห้องเรียนเพื่อจดจำเรื่องราวขององค์กรและสินค้า นอกจากนี้ยังมีการลงนามในสัญญาที่ว่าด้วย “พนักงานจะยอมสละสิทธิ์ในการขอลาหยุดประจำปี และค่าล่วงเวลาโดยสมัครใจ” เพื่อแลกมากับการทำงานในองค์กรที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หน้าที่การงานดี และรับประกันรายได้ที่เปรียบได้กับการขายวิญญาณ
ทำให้เห็นภาพของวัฒนธรรมหมาป่า ที่เข้มข้น จนจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมอดีตพนักงานถึงเรียกมันว่าความบ้าคลั่ง มันเหมือนกับการทำงานที่ใช้วิญญาณแลกความสำเร็จ เป็นอีกหนทางหนึ่งของความสำเร็จ เพราะในหมู่ผู้บริหารระดับสูงประมาณ 20 คน มีคนที่ทำงานอยู่กับองค์กรมากว่า 20 ปี ไปแล้ว 17 คน ความจงรักภักดี และความคาดหวังในพนักงานของ Huawei จึงตอบแทนด้วยค่าจ้างที่หนัก ถึงแม้จะต้องแลกด้วยวิญญาณของพนักงานก็ตาม
“บริษัทจีน วิถีแบบจีน”
ถึงแม้ว่า Huawei จะโด่งดังไปทั่วโลกแต่การทำงานก็ยังคงใช้วัฒนธรรมหมาป่าในทุกๆ ประเทศ ในกรณีของฝั่งยุโรปจะเห็นได้ชัดถึง “บริษัทจีน วิถีแบบจีน” เพราะมีข่าวการออกมาให้ข้อมูลว่าองค์กรไม่ต้อนรับคนต่างชาติทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศของเขา พนักงานระดับร่างจะเป็นคนต่างชาติ แต่พนักงานกว่า 99 เปอร์เซ็นต์เป็นคนจีนทั้งสิ้น ทำให้ต้องออกมาแก้ข่าวว่า “Huawei เปิดรับพนักงานต่างชาติเสมอ โดยมีพนักงานจีนเพียงแค่ 59 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
Huawei เองก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้เป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับพนักงาน แต่มันเป็นข้อตกลงกันมากกว่าคุณทำงานให้เราคุณได้รับผลตอบแทนที่มาก ถึงแม้การทำงานจะเข้มข้นเปรียบได้กับการขายวิญญาณแต่มันก็เป็นทางเลือกของคุณ ว่าอยากเติบโตในองค์กรที่ให้เงินดีกับคุณแต่ต้องแลกด้วยเวลา หรืออยากไปอยู่องค์กรอื่นเราก็ไม่เสียหาย เพราะเราต้องการคนที่หิวโหยอยู่แล้ว
ข้อดีของ Huawei อีกหนึ่งอย่างคือการถือหุ้นของพนักงาน สวัสดิการนี้ทำให้รายได้ของพนักงานมีมากขึ้นไปอีก โดยมันก็ยังยึดโยงกับความจงรักภักดี เพราะยิ่งคุณอยุ่กับองค์กรไปนานๆ หุ้นส่วนของคุณจะมากขึ้น เงินปันผลของคุณก็มากขึ้นตาม ตัวอย่าง พนักงานระดับสูงที่ทำงานมา 1 ปี กับพนักงานระดับกลางที่ทำงานมา 2 ปี เงินสุทธิที่พนักงานระดับกลางได้รับมีโอกาสมากกว่าพนักงานระดับสูงอีก
เป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันว่า Huawei เป็นองค์กรแบบหมาป่า ที่เข้มข้น ให้ความสำคัญกับการทำงาน หน้าที่ของใครของมัน ทำหน้าที่ได้ดีรับรางวัลไป โฟกัสเพียงแค่เรื่องของตัวเอง แล้วคุณจะประสบความสำเร็จถึงแม้คุณจะต้องขายวิญญาณให้องค์กรก็ตาม
[ บทส่งท้าย ]
เป็นอย่างไรกับบ้างกับ ‘Wolf Culture’ ‘วัฒนธรรมหมาป่า’ ที่ Huawei ใช้กับการทำงานขององค์กร มันเต็มไปด้วยข้อดี และข้อเสีย ถ้าคุณเห็นข้อดีของมันก็จะทนอยู่ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มเห็นข้อดีมากกว่าข้อเสียคุณก็จะออกมาจากองค์กร ในมุมมองของ Huawei มันสร้างคนงานที่ทำงานอย่างจงรักภักดี แต่ในมุมมองขององค์กรอื่น มันอาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ แล้วผู้อ่านล่ะ คิดเห็นว่าอย่างไร?
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources: https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/huawei-way