Type to search

“ในมุมมองขององค์กร จะทำอย่างไรให้พนักงานไม่หมดไฟ” 3 กุญแจสำคัญป้องกันการเกิด ‘Burnout Syndrome’ ในพนักงาน

August 09, 2023 By Thanapon Hussakornrus

Future Trends ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะภาวะความหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ของผู้คนไปหลายครั้งแล้ว เรามักจะบอกเคล็ดลับแนวคิด วิธีการ แก้ไข และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นกับพวกคุณ แต่วันนี้เราจะไม่ได้มานำเสนอแก่คนทั่วไป เราจะพูดถึงในบริบทขององค์กร ว่าคุณจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานของคุณพบเจอกับ ภาวะความหมดไฟ 

คุณจะป้องกันภาวะความหมดไฟ ในการทำงานของพนักงานได้อย่างไร?

มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า พนักงานของคุณสามารถรักษาสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะความหมดไฟได้ด้วยกุญแจสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

[ กุญแจ 3 ประการ สำหรับองค์กรในการป้องกัน Burnout Syndrome ]

1. ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นอันดับแรก

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ด้านบน “ด้านบนในที่นี้หมายถึง ผู้นำ” การมีผู้นำที่ส่งเสริมความสมดุลในชีวิตการทำงานด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด เช่น นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น มันส่งผลดีอย่างมากต่อสภาพจิตใจ และความเครียดของพนักงาน 

ประกอบกับผลการศึกษาของ งานวิจัยโดย Society of Human Resource Management พบว่า 89 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล รายงานว่า พนักงานมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากการทำงานที่ยืดหยุ่น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพการ และสุขภาพจิต รวมทั้งป้องกันการเกิดความเครียดสะสมอีกด้วย

สุขภาพจิตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราจัดการกับความเครียดได้ดี นอกเหนือจากนี้ผลการวิจัยยังกล่าวอีกว่า “พนักงาน 60 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกมีแรงจูงใจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะแนะนำองค์กรของตนเองว่าเป็นสถานที่ทำงานที่ดี เป็นผลมาจากการเอาใจใส่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นอันดับแรก

คำแนะนำสำหรับองค์กร คุณควรทดลองทำแบบสำรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อให้คุณเก็บข้อมูล และทำความเข้าใจ ว่าคนของคุณต้องการความช่วยเหลือด้านใด?

2. ความสบายใจในการ ‘พูด’ ในที่ทำงาน

พนักงานบางคนมีความรู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะน่าอาย มองว่ามันเป็นการยอมรับความอ่อนแอ หรือคิดว่ามันจะมีผลต่อเราในการประเมินบุคคลในครั้งต่อไป หาก ‘พูด’ อะไรที่มันดูพุ่งเป้าจนเกินไป ภาวะนี้เรียกว่า ‘การขาดความปลอดภัยทางจิตใจ’ เป็นผลมาจากการที่สังคมในที่ทำงานไม่ได้ให้ความรู้สึกว่า ‘ปลอดภัย’ หากพูดบางสิ่งออกไป  

ดังนั้น มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องปัดเป่าข้อกังวลที่อาจเป็นพิษเหล่านี้ออกไป ด้วยการจัดการกับปัญหาโดยตรงในการสื่อสาร และสนับสนุนความปลอดภัยทางจิตใจทั่วทั้งองค์กร กุญแจสำคัญในการสื่อสารคือ “ไม่มีใครได้ประโยชน์ถ้าหากเราต้องทนทุกข์ทรมานในความเงียบ” สื่อสารให้รู้ว่าการพูดข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องที่ผิด และคุณจะปลอดภัยแน่นอน

ในฐานะขององค์กรคุณต้องสร้างความมั่นในในวิธีการของการสื่อสารด้วย การไปหาผู้จัดการสายงานโดยตรงอาจดูเป็นช่องทางที่ง่าย แต่มันก็ดาบสองคมบางที “ผู้จัดการสายงานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย” ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ที่มาของ ‘การร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยตัวตน’ ผู้รับผิดชอบงานส่วนนี้ควรเป็นแผนกทรัพยากรบุคคล 

เพราะ หน้าที่ของแผนกนี้ควรที่จะรักษาผลประโยชน์ให้ทั้งกับบริษัท และพนักงาน หากเลือกรักษาผลประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมนัก เป็นเหตุที่แผนกนี้สมควรแก่การรับเรื่อง ‘ร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยตัวตน’

3. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นในการทำงาน

การสนับสนุนมีได้หลายรูปแบบ และทุกบทบาทจะต้องมีบางอย่างที่แตกต่างกันเล็กน้อย นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้จัดการเป็น กุญแจสำคัญ ในการทำให้แน่ใจว่าทีมของพวกเขามีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโต องค์ประกอบสำคัญ คือการทำให้ทีมของคุณรู้ว่า “มีคุณที่คอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอ” ความกังวลในความผิดพลาดจะน้อยลง และไม่สะสมเป็นความเครียด

นอกจากการแสดงให้เห็นว่ามีคุณคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง คุณควรที่จะคอยหมั่นเช็คความต้องการของแต่ละคนในทีมว่าตอนนี้ เขาอยากได้รับการสนับสนุนในเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ พูดให้เข้าใจง่ายคือ ‘ความใส่ใจ’ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานในทีมของคุณได้รับความรู้สึกสบายใจและยากต่อการหมดไฟในการทำงาน

ท้ายที่สุดนี้

ในบริบทขององค์กรการให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานดูไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นอะไรนัก ลองสละความไม่จำเป็นด้านอื่นๆ และโฟกัสมาที่จุดนี้บางทีภาวะหมดไฟของพนักงานในองค์กรอาจจะหายไปเลยก็ได้

และที่สำคัญหากคุณพร้อมที่จะป้องกันอาการหมดไฟของพนักงาน คุณจำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดว่าพนักงานของคุณต้องการการสนับสนุนด้านใด มองให้ถูกจุดว่าอะไรคือปัญหา พร้อมรับมือแก้ไข เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน นำไปสู่การทำงานอย่างมีความสุข ป้องกันอาการหมดไฟ

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Source: https://www.hive.hr/blog/prevent-employee-burnout/.