‘แนะนำ 4 กลยุทธ์สำหรับเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของคุณ’ พร้อมกรณีศึกษาจาก ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของไทย
ความเป็นอยู่ที่ดีนั้นไม่ได้นิยามถึงแค่คุณภาพชีวิตในแต่ละวัน แต่ยังรวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอีกด้วย ในความคิดของพวกคุณ อะไรกันคือความหมายของความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน?
“การได้รับอาหารกลางวันฟรี มีขนมให้กินตลอดทั้งวัน มีห้องสำหรับสันทนาการ และพักผ่อนจากการทำงานอย่างหนักระหว่างวัน” ทั้งหมดที่เรากล่าวไปนั่นแหละคือความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน
วันนี้ Future Trends มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน’ มานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับฟังกันว่าปัจจุบันอะไรคือความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานกันแน่ แล้วมีกรณีศึกษาของไทยที่เห็นได้ชัดถึงมิติความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของพนักงานบ้างหรือเปล่า?
[ ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานคืออะไร? ]
คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานเป็นการผสมผสานระหว่างคุณภาพที่ดีของสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นได้ ประกอบไปด้วย อาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายเป็นประจำ การจัดการกับความเครียดสะสม การพักผ่อนที่เพียงพอ ความเข้าใจในตัวเอง และการเข้าสังคมในปริมาณที่เหมาะสม
ปัจจัยเหล่านั้นจะนำพาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงาน ซึ่งเป็นมุมมองแบบองค์รวมของสภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมของบุคคลในที่ทำงาน เมื่อองค์กรทำงานได้ดีตามกลยุทธ์ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน คนก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีขึ้น สร้างความสัมพันธ์เชิงบวกมากขึ้น รับมือกับภาระงานและทำงานอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
[ เหตุใดความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานจึงมีความสำคัญ? ]
การดูแลพนักงานของคุณมีประโยชน์มากมาย แต่เราจะคงไว้ซึ่งความเรียบง่าย แบบสำรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของ CIPD ระบุประโยชน์สูงสุด 3 ประการที่องค์กรเห็นเมื่อเพิ่มการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในที่ทำงาน
1.ขวัญกำลังใจและความผูกพันของพนักงานดีขึ้น
2.วัฒนธรรมที่ดีต่อสุขภาพและครอบคลุมมากขึ้น
3.อาการป่วยลดลง
สุขภาพจิตได้กลายเป็นจุดสนใจหลักสำหรับกลยุทธ์ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ นับจากก่อนเกิดโรคระบาด เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เรียบง่ายนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน
[ 4 ด้าน กลยุทธ์สำหรับความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของคุณ ]
เมื่อเราคิดถึงกลยุทธ์ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน เรามักจะคิดถึงสวัสดิการสุดคลาสสิกอย่าง ตรวจวัดสายตาฟรี ส่วนลดการเป็นสมาชิกโรงยิม หรือแม้แต่การมีชามผลไม้ในสำนักงาน ทั้งหมดล้วนไม่ใช่สิ่งที่พนักงานต้องการอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขาได้ดี
ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมแนวคิดในการสร้างกลยุทธ์สำหรับความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของคุณ สามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน
1.สุขภาพจิต
1.1 ผู้ปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิต เนื่องจากในปัจจุบันสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้องค์กรจึงควรที่จะมีกลยุทธ์สำหรับการรับมือกับสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้ของพนักงาน
1.2 ผู้จัดการฝึกอบรมให้มีการสนทนาที่ยากลำบาก การพูดคุยก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับทุกคนอย่าสร้างความลำบากใจให้กับพนักงาน จงหาผู้ที่เชี่ยวชาญมารับมือกับบทสนทนาที่ยากลำบากดีกว่า
1.3 โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน ปัญหาของพนักงานแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองทำแบบสอบถามดูไหมว่าตอนนี้ใครพบเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำมาต่อยอดเป็นโปรแกรมช่วยแก้ไขปัญหา เปรียบเสมือนการแสดงออกว่า “เรารับรู้ปัญหาของพวกคุณนะแล้วจะพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่”
2.สภาพแวดล้อมในการทำงาน
2.1 การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและครอบคลุม ความหลากหลายของวัฒนธรรมสำคัญต่อสังคมโลกอย่างไร บริบทการทำงานก็สำคัญเช่นนั้น สภาพแวดล้อมของการทำงานจึงควรที่จะเตรียมพร้อมกับความหลากหลายที่มีอยู่ และต้อนรับอย่างเข้าใจ
2.2 กิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมกลุ่ม – เข้าร่วมหรือไม่ก็ได้! สร้างสรรค์กิจกรรมให้ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม กินข้าว ปาร์ตี้ ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานที่ดี แต่! จงจำไว้เสมอว่ามันควรเป็นไปตามความสมัครใจ เพราะไม่ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะตีความคำว่าความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน ว่าต้องเข้าร่วมกิจกรรม
2.3 การรับรู้เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงิน หลายๆ องค์กรคงจะมีข้อห้ามในการเปิดเผยเงินเดือนในหมู่พนักงานด้วยกันเอง นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะการเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานมักจะไม่ค่อยชอบพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ เท่าไหร่นัก
3.หน้าที่ในที่ทำงาน
3.1 ตรวจสอบปริมาณงาน และการออกแบบงาน ว่าใครรับผิดชอบอะไร ถ้าคนไหนรับผิดชอบสิ่งที่เกินขอบเขตของงาน ควรที่จะหยุดทันที ก่อนที่จะเสียคนเหล่านั้นไปเพราะใช้งานหนัก
3.2 นำเสนอการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อปรับปรุงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน มันมีอยู่จริงนะคำว่าสมดลการทำงานและการพักผ่อน แต่มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าองค์กรไม่เห็นค่า
3.3 ปรับปรุงนโยบายวันหยุดและการลา การพักผ่อนถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ของการทำงาน เพราะมันช่วยรีเฟรชพนักงานให้สดใส นำไปสู่การทำงานได้ดีขึ้น ลองพิจารณาดูว่าวันหยุดของพนักงานเรานั้นน้อยเกินกว่าที่ควรหรือไม่?
4.การก้าวหน้าในอาชีพ
4.1 โปรแกรมการให้คำปรึกษา อารมณ์จะเหมือนการแนะแนวในตอนที่เราเป็นเด็กนักเรียน ถึงแม้มันจะดูเหมือนว่าเราเป็นเด็กน้อยต้องการที่ปรึกษา แต่ไม่เห็นว่ามันจะเสียหายอะไรเลย การก้าวหน้าในอาชีพก็ควรจะได้รับคำปรึกษาจากคนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน
4.2 แผนพัฒนาผลงาน ในจุดอิ่มตัวของพนักงานหากองค์กรไม่สามารถป้อนงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเขาได้มีโอกาสสูงที่จะเสียคนเก่งๆ ไป ดังนั้น วางแผนพัฒนาผลงานของพนักงานอยู่เสมอ หากมีโอกาสลองป้อนงานที่ยากๆ ให้พวกเขาลองทำดู มันจะช่วยพัฒนาศักยาภาพของพวกเขาได้ดีขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะช่วยให้องค์กรและพนักงานของคุณเข้าถึงได้กับ ‘คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงาน’ แต่ที่เรานำเสนอไปนั้นก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น แต่ละองค์กรก็มีการตีความคุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานได้อย่างต่างกัน ทาง Future Trends จึงอยากนำเสนอกรณีศึกษาที่ดีของ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานขององค์กรในประเทศไทยอย่าง ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของไทย
[ คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานขององค์กรในประเทศไทย กรณีศึกษา ‘ศรีจันทร์’ ]
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดกระแสการชื่มชมสวัสดิการแบบใหม่ของ ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของไทย ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานของพนักงาน โดยใจความหลักๆ ของสวัสดิการแบบใหม่ที่ถูกแพร่ออกมานั้น คือ
Maternity Leave ลาคลอดบุตรได้กว่า 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน
Parental Leave ลาเนื่องจากภรรยาตั้งครรภ์/คลอดบุตร 30 วัน
Medical Leave for Gender Reassignment Surgery ลาผ่าตัดแปลงเพศ ไม่เกิน 30 วันต่อปี
Bereavement Leave ลาพักใจไม่เกิน 10 วัน ในกรณีของการสูญเสียคนในครอบครัว(ร่วมสายโลหิต)
นอกเหนือจากสวัสดิการที่เรากล่าวไป ก็มีสวัสดิการที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น สิทธิ์ซื้อหนังสือ เดือนละ 1 เล่ม สมาชิกฟิตเนสฟรี วันหยุดพิเศษในเดือนเกิด สินค้าราคาพนักงาน ค่าแนะนำเพื่อนสมัครงานสูงสุด 15,000 บาท เป็นต้น
เราได้เห็นอะไรจากกรณีศึกษานี้
‘ความใส่ใจ’
ต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคน ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงในฐานะแม่ เพศชายในฐานะพ่อ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น หรือ พนักงานที่เกิดความสูญเสีย ถึงแม้ว่าสวัสดิการที่ออกมานั้นดูไม่คุ้มเสียเลยกับทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดแคลนไป แต่เพราะความใส่ใจในตัวของพนักงาน ทำให้ศรีจันทร์ ชั่งน้ำหนักได้ว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงาน’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเหนือสิ่งอื่นใด
กุญแจสำคัญที่เชื่อมโยงองค์กรและพนักงานเข้าด้วยกันอาจจะไม่ซับซ้อนเลยก็ได้ เพียงแค่ความเข้าใจในความต้องการของทั้งสองฝ่าย เราเชื่อว่ามีอีกหลายองค์กรที่คำนึงถึง และเอาใจใส่พนักงานของพวกเขา และหวังให้สถานที่ทำงานมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
[ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้องค์กรของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว? ]
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผู้อ่านทุกคนคงจะสงสัยกันว่ามันมีบรรทัดฐานที่เป็นเกณฑ์บอกไหมว่าตอนนี้พนักงานของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีเรียบร้อยแล้ว คำตอบคงต้องย้อนกลับไปข้างบนที่เรานำเสนอไป “มันไม่มีเกณฑ์เจาะจงหรอกว่าแบบไหนคือดีแล้ว” เพราะความต้องการของแต่ละองค์กรค่อนข้างต่างกัน มีปัจจัยยิบย่อยที่เปลี่ยนแปลงมาตรฐานเหล่านั้น
แต่เรามี 3 ข้อแนะนำอยากนำเสนอ เราคิดว่ามันเป็นคำแนะนำที่ดีในการพูดถึงพนักงาน องค์กร และความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน
คำแนะนำที่ 1: การสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน
ขั้นตอนง่ายๆ เห็นผลลัพธ์ชัดเจน คือการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน คุณสามารถเข้าถึงทุกคน เก็บข้อมูลเชิงลึกได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้พวกเขาเปิดเผยเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา นอกจากนี้การสำรวจความคิดเห็นยังสามารถตีกรอบนิยามของความเป็นอยู่ที่ดี ในบริบทขององค์กรได้อีกด้วยว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่จริงๆ แล้วในความต้องการของพนักงานเรา
คำแนะนำที่ 2: ถามผู้คนว่าพวกเขาต้องการอะไรจากกลยุทธ์ความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ
พนักงานของคุณรู้ดีกว่าใครแน่นอน ว่าอะไรจะช่วยปรับปรุงสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาได้ ดังนั้น อย่าลืมที่จะขอความคิดเห็นจากพวกเขา
คำแนะนำที่ 3: สื่อสารต่อไป
เมื่อคุณได้รวบรวมความคิดเห็นของพนักงานเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ความเป็นอยู่ที่ดีของคุณแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องทำเลย คือ การสื่อสาร ว่าคุณดำเนินการอย่างไรกับความคิดเห็นเหล่านั้น
ความเงียบไม่ใช้สัญญาณร้าย และไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักกับพนักงาน เพราะมันเหมือนกับว่าคุณเก็บข้อมูลไปเฉยๆ ไม่คิดที่จะปรับปรุงให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาในที่ทำงานดีขึ้นด้วยซ้ำ การสื่อสารจะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ ถึงแม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ขอแต่คุณก็แสดงออกว่ารับฟังพวกเขา
ท้ายที่สุดนี้ ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของพนักงานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าองค์กรไม่ใส่ใจ มองว่าพวกเขาเป็นเพียงแค่แรงงานที่หากเรื่องมากก็เพียงแค่เชิญออก และหาคนใหม่มาทำแทน ถ้าคุณอยู่ หรือคุณเป็นองค์กรแบบนั้น มันค่อนข้างยากที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานให้เกิดขึ้นมาได้
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources: https://www.hive.hr/blog/workplace-wellbeing-strategy/
https://www.facebook.com/srichandlife/photos/a.107149691393469/373228951452207/?type=3&ref=embed_post