‘วิธีรับมือกับความโกรธในใจ ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง’ ตามแบบฉบับ Anger management
ความโกรธ เป็นอารมณ์พื้นฐานและธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้อยู่บ่อยๆ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สภาพอากาศร้อน ความเครียดจากการทำงาน ความผิดหวังจากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คิด หรืออาจเกิดจากความอยุติธรรมในสังคม เป็นต้น
โดยความโกรธสามารถแสดงออกได้หลายระดับ เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกไม่พอใจไปจนถึงการทำลายสิ่งของหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น
เมื่อรู้สึก ‘โกรธ’ ร่างกายของเราจะมีการเปลี่ยนแปลง อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อหดเกร็ง อะดรีนาลีน (Adrenaline) จะถูกหลั่งออกมาเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมปะทะกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แม้ว่าการรู้สึกโกรธจะเป็นเรื่องปกติ แต่การแสดงออกของแต่ละบุคคลนั้นต่างกัน บางคนอาจจะควบคุมอารมณ์โกรธได้อย่างอยู่หมัดและมีวุฒิภาวะ แต่บางคนอาจจะควบคุมความโกรธไม่ได้จนต้องแสดงออกมาทางสีหน้าและร่างกาย
ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่แสดงออกมานั้นส่งผลกระทบได้อย่างหลากหลาย เริ่มจากการส่งผลต่อสุขภาพจิตของตัวเอง และในบางครั้งอาจลุกลามไปถึงสุขภาพทางกายได้ เช่น ส่งผลกระทบต่อหัวใจ ทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง และอาจแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้ว่าเราเป็นคนที่ก้าวร้าว ใจร้อน
ในบางครั้ง ความโกรธก็อาจจะเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม ในวันที่เราอารมณ์ดีออกจากบ้าน อาจจะมีใครสักคนขับรถปาดหน้าจนทำให้เราเกิดอารมณ์โกรธ หรือในวันที่เราแต่งตัวด้วยสวยหล่อเพื่อนัดเจอคนสำคัญในวันพิเศษ ฟ้าฝนก็อาจจะไม่ยินดีกับความสุขนั้น
‘ท้ายที่สุดแล้ว ฉันไม่สามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นๆ ทำได้ แต่ฉันสามารถเลือกที่จะควบคุมตัวเองและตอบสนองกับมันได้’ ประโยคดังกล่าวเป็นสิ่งที่ Jen Shah นักแสดงจาก Real Housewives of Salt Lake City เรียนรู้ที่จะจัดการกับความโกรธที่เกิดขึ้นขณะถูกจำขังในคดีฉ้อโกง
วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปเรียนรู้กับ ‘วิธีรับมือกับความโกรธในใจ ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง ตามแบบฉบับ Anger management’ ไปดูกันเลย
1. ยอมรับและทำความเข้าใจกับความโกรธที่เกิดขึ้น
อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเกี่ยวกับอารมณ์โกรธไว้ว่า ‘เหตุการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราโกรธ แต่ความคิดของเราเองต่างหากที่ทำให้เราโกรธ’
ดังนั้น การหาเหตุผลหรือปัจจัยอื่นๆ มารองรับความโกรธจะเพิ่มความโกรธให้มากขึ้น
แต่การยอมรับในตัวเองจะทำให้ความโกรธลดน้อยลง และมีสติที่จะเข้าใจกับสถานการณ์และความโกรธที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิม
2. ฝึกการหายใจ
การฝึกหายใจจะช่วยให้เราสามารถคลายความโกรธลงได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเรียกสติกลับมาให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นข้างหน้า
โดยเทคนิคในการหายใจมีหลายรูปแบบ แต่วันนี้จะขอแนะนำเทคนิคง่ายๆ อย่างการหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ 4 วินาที จากนั้นค้างไว้ 4 วินาทีเช่นกัน จากนั้นค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากเป็นเวลา 6 วินาที และทำซ้ำจกว่าเราจะสามารถสงบอารมณ์ได้
3. ปรับความคิด มองโลกในแง่บวกเข้าไว้
เมื่อความโกรธเกิดขึ้น สิ่งที่อยู่ในความคิดของเราจะมีแต่ความคิดแง่ลบ อย่างเช่น ‘ทำไมถึงเป็นแบบนี้ นิสัยไม่ดี ไม่มีใครเคยสอนเลยเหรอ’หรือ ‘ขับรถภาษาอะไร ซื้อใบขับขี่มาเหรอ’ เป็นต้น ซึ่งความคิดเชิงลบจะยิ่งทวีคูณความโกรธให้กับเรา
ให้ลองปรับความคิดและมุมอง ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นอาจจะมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง การที่คนๆ หนึ่งทำอะไรไม่ได้ดั่งใจเรา อาจจะเกิดจากอคติส่วนตัวของเราก็เป็นได้ การคิดแง่บวกจะช่วยลดความโกรธและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้
4. ออกกำลังกายให้เหงื่อออก
เอ็นโดรฟิน (Endorphins) เป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาหลังออกกำลังกายและทำกิจกรรมบางอย่าง และเป็นมือปราบความโกรธได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยคลายความโกรธของเราให้ลดลง ทั้งยังทำให้สุขภาพแข็งแรง
5. ใช้อารมณ์ขันเข้าช่วย
‘ตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ พูดแล้วดูง่าย แต่ก็ทำได้ค่อนข้างยาก กับการที่เราจะปรับอารมณ์โกรธให้เป็นอารมณ์ดี ให้ลองสังเกตรอบตัวดูว่ามีสิ่งใดที่ช่วยให้เราคลายความโกรธลงได้บ้าง บางทีคนในกระจกที่กำลังทำหน้าดำหน้าแดงก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้เราหลุดพ้นจากความโกรธก็ได้นะ
6. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากลองทำทุกวิธีแล้วแต่เราก็ยังไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ การพบผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร กลับเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความโกรธได้ในอีกรูปแบบเลยล่ะ
จะเห็นได้ว่าความโกรธเล็กๆ ที่เกิดขึ้นนั้น สามารถสร้างปัญหาให้เราได้ไม่น้อยเลยล่ะ ดังนั้น ความสามารถในการควบคุมความโกรธ (Anger Management) จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงมี เพื่อที่สุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี รวมไปถึงยังแสดงได้ถึงวุฒิภาวะ รวมไปถึงทักษะต่างๆ ที่เราสามารถรับมือได้อีกด้วย
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
Sources: