Type to search

‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ 4 สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเลื่อนตำแหน่ง สู่การเป็นนักบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จ

June 16, 2023 By Phoothit Arunphoon

เมื่อก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีม ผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้นำ มีหลายสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นยิ่งขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยความกดดันและความท้าทาย ผู้ที่เพิ่งรับตำแหน่งจำเป็นต้องมีตัวช่วย เป็นคำแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างไม่ยากนัก

ต่อไปนี้ คือคำแนะนำของ เอ็มมา เดอ วิตา (Emma De Vita) บรรณาธิการนิตยสาร Management Today นิตยสารรายสัปดาห์และเว็บไซต์ธุรกิจชั้นนำของสหราชอาณาจักร โดยส่วนแรกที่ต้องรู้จะเกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคุณ’ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่านิยมส่วนบุคคบและทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นนักบริหารจัดการที่ดี ดังต่อไปนี้

อย่างที่รู้ ไม่มีใครเกิดมาเป็นนักบริหารจัดการตั้งแต่แรก การจะสามารถทำได้นั้นต้องเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งคุณจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวกับตัวคุณไปด้วย

เป็นตัวจริง

คุณต้องตระหนักกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ที่จะทำทุกอย่างได้อย่างถูกต้องทั้งหมดตลอดเวลา อย่ากลัวที่จะเป็นตัวเอง ทีมงานจะยอมรับในตัวคุณมากขึ้น เมื่อพวกเขาพบว่า คุณมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพวกเขา เช่นกัน พวกเขาจะหมดความเชื่อถือในตัวคุณ ถ้าเห็นว่าคุณพยายามสร้างตัวคุณเองให้เป็นคนอื่น

คุณต้องเป็น ‘ตัวจริง’ (Authenticity) ของตัวคุณเอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตระหนักในตนเองในระดับที่มากพอที่คุณ่จะรู้ว่า อะไรคือ จุดแข็ง และจะสามารถใช้จุดแข็งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร อะไรคือ จุดอ่อน และจะสามารถเปิดเผยจุดอ่อนได้อย่างชาญฉลาดอย่างไร หรือจะแก้ไขได้อย่างไร

วิธีการเป็นตัวจริง

  1. ‘นำเสนอความแตกต่างของคุณ’ การเป็นตัวจริงไม่ใช่แค่รู้จักตนเอง แต่หมายรวมถึงวิธีการที่สื่อสารความเป็นตัวเองดังกล่าวไปยังผู้อื่นด้วย
  2. ‘ไม่ลืมรากของตนเอง’ รู้ว่าตัวเองมีที่มาที่ไปอย่างไร สิ่งที่ทำให้คุณคิดและเป็นนั้น เป็นผลกระทบมาจากอะไร
  3. ‘ฉีกกฎ’ ให้คุณหาหนทางหรือวิธีการของคุณเอง ไม่ใช่วิธีตามหลักสูตรหรือคำแนะนำของคนดัง (อาจนำหลายอย่างที่คุณได้เรียนรู้มาสร้างเป็นแนวทางของคุณ)
  4. ‘กล้านอกกรอบ’ ต้องฝึกปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยที่คงความเป็นตัวเองเอาไว้
  5. ‘รักษาคำพูด’ คุณจะไม่มีวันได้รับความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง หากไม่ทำตามสิ่งที่ตนเองกล่าวได้

มีความมั่นใจระดับที่เหมาะสม

การเป็นตัวจริงต้องอาศัยความกล้า คุณจะต้องมีความมั่นใจในตัวเองที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ลองตรวจสอบตัวเองว่าคุณ ‘มั่นใจในตัวเองน้อยเกินไป’ หรือไม่ หากมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เชื่อว่าคนทุกคนฉลาดมากกว่าตนเอง
  • ชอบกระซิบมากกว่าพูดเสียงดัง
  • เลี่ยงการสบตาระหว่างพูดคุย
  • พยายามรับผิดชอบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • เชื่อว่าความเห็นของตนไม่มีความหมาย
  • ไม่รู้ว่าตนมีความสามารถด้านใดเพิ่มขึ้น

วิธีการที่ต้องแก้ไขคือ

  • แสดงท่าทางของความมั่นใจ
  • เพิ่มระดับเสียงพูดให้ดังขึ้น
  • สบตาระหว่างพูดและหยุดเมื่อจบประโยค
  • เลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่แน่ชัด เช่น บางที อาจจะ น่าจะ ให้เป็นคำเชิงบวกเช่น แน่นอน จะต้อง เป็นต้น
  • ตรวจสอบความสามารถของตัวคุณ
  • เมื่อรับมือกับสถานการณ์ที่น่าหวั่นใจได้สำเร็จ ให้กล่าวชมตัวเองและจำเป็นประสบการณ์
  • จำไว้ว่า คนที่มีความมั่นใจสูงก็รู้สึกหวั่นใจได้ในบางกรณีเป็นเรื่องปกติ

ลองตรวจสอบตัวเองว่าคุณ ‘มั่นใจในตัวเองมากเกินไป’ หรือไม่ หากมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เชื่อว่าคุณฉลาดกว่าทุกคน
  • วางท่าทางแสดงอำนาจในที่ทำงาน
  • เชื่อความรู้สึกตนเองตลอดเวลา
  • ชอบฟังเสียงของตัวเอง
  • คิดเสมอว่าคนอื่นสนใจในตัวคุณ
  • ไม่ฟังเสียงผู้อื่น
  • ไม่พลาดโอกาสที่จะเป็นจุดสนใจหรือจุดเด่น
  • อ้างว่าความาคิดเห็นเชิงลบเป็นคำโจมตีของคู่แข่งเพียงเท่านั้น

วิธีการที่ต้องแก้ไขคือ

  • ปรับภาษาที่ใช้ให้นุ่มนวลลงรับฟังอย่างตั้งใจ
  • ไม่ขัดจังหวะ
  • หยุดก่อนจะพูดอะไร คิดก่อนพูด
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือสนับสนุนสิ่งที่คุณคิด
  • ลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
  • ยอมรับความผิดพลาดของตน
  • ยิ้มแย้มเพื่อให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย

มีความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ คือ สัญลักษณ์ที่เป็นภาพรวมทั้งหมดของทักษะระหว่างบุคคลและการตอบสนองที่ก่อให้เกิดเป็นบุคลิกภาพของคน บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะแสดงออกซึ่งความห่วงใย ความละเอียดอ่อน พร้อมกับมีความตระหนักในตนเอง และสามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในโลกที่เต็มไปด้วยแรงกดดันและก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ สามารถดูเรื่องความฉลาดทางอารมณ์อย่างละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ 5 ข้อ ‘ผู้นำที่ดีต้องมี’ที่ลิงก์นี้

เป็นนักสื่อสารที่ดี

ในการเป็นนักบริหารจัดการคือการทำให้ผู้อื่นทำสิ่งต่างๆ ให้กับคุณ ซึ่งย่อมไม่มีทางทำได้สำเร็จ หากไม่มีการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งการเป็นนักบริหารจัดการที่ดีนั้น จะมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการส่งข้อความให้ผู้อื่นด้วยการลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน

การติดต่อสื่อสารเป็นกระบวนการสองทาง แต่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการฟังน้อยเกินไป ทั้งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการฟังอย่างมาก

การรักษาบทสนทนาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพูดหรือส่งสาร แต่ทักษะในการฟัง รวมถึงการสนทนาแบบตัวต่อตัวกลับน้อยลง ต่อไปนี้คือ 10 วิธี ที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น

  1. หาเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการพูดคุย
  2. เปิดใจให้กว้าง
  3. เอาใจใส่อย่างเต็มที่
  4. ไม่ขัดจังหวะผู้อื่น
  5. ถามความหมายของสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
  6. พิจารณาภาษากาย
  7. เก็บความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้
  8. ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้อื่นมีความรู้สึกอย่างไร
  9. ทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา
  10. กล่าวทวนสิ่งที่คุณได้ฟัง

ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดีจะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วยการค้นหาความสนใจร่วม ทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษ ค้นหาเสน่ห์ของพวกเขา และแสดงความเป็นตัวคุณร่วมกันไปด้วยในการสนทนาแต่ละครั้ง

สรุป

ในการเริ่มต้นเป็นนักบริหารจัดการที่ดีนั้น ต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เรียกว่าเป็น ‘ตัวจริง’ ไม่เสแสร้งหรือแสดงว่าเป็นคนอื่นเพื่อให้ได้รับความยอมรับและเชื่อถือจากคนอื่นๆจากนั้นต้องเป็นคนที่มี ‘ความมั่นใจที่เหมาะสม’ มากพอที่จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่มากหรือน้อยเกินไป

ไม่ลืมที่จะมี ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการตระหนักรู้ในตนเอง ความคุมอารมณ์ความรู้สึกตนเอง เข้าอกเข้าในผู้อื่น และมีแรงจูงใจที่ดี รวมถึงเป็นคนที่มีการ ‘สื่อสารที่ดี’ โดยเฉพาะการฟังที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติและทักษะเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับตัวของคุณเอง จะช่วยให้เป็นบันไดไปสู่การเป็นนักบริหารจัดการที่ ไม่ว่าคุณจะทำงานระดับตำแหน่งใด

ทั้งหมดดังที่กล่าวไป เป็นตอนแรกของบทความชุดการบริหารจัดการซึ่ง Future Trends ได้สรุปสาระสำคัญจากคำแนะนำของ เอ็มมา เดอ วิตา (Emma De Vita) บรรณาธิการนิตยสาร Management Today มานำเสนอเป็นตอนๆ จะช่วยให้คุณนำไปปรับใช้ในการทำงานบริหารจัดการเพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จและเติบโตในการทำงานต่อไป ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ให้ติดตามอีกหลายตอน โปรดติดตาม

เรียบเรียงโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘ศิลปะการบริหารจัดการ’ (The Management Masterclass) เขียนโดย Emma De Vita แปลโดย ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์ สำนักพิมพ์ Expernetbooks