คอนเสิร์ตจบ คนไม่จบ! รับมือ ‘Post Concert Depression’ อย่างไร ให้ไม่เฉาในวันทำงาน
“โลกที่ไม่มีเธอ เป็นโลกที่ฉันไม่เหลือใคร~”
ถึงแม้จะเป็นเนื้อเพลงที่สะท้อนภาพการจากลาในความสัมพันธ์ของคนสองคน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเนื้อเพลงแทนใจ ‘แฟนคลับ’ ที่มี ‘ศิลปิน’ ที่รักเป็นศูนย์กลางของการดำเนินชีวิตเช่นกัน
โดยปกติแล้ว แฟนคลับกับศิลปินจะเชื่อมโยงกันผ่านผลงานเพลงหรือบทสัมภาษณ์ในรายการต่างๆ ก่อนจะพัฒนาเป็นความสัมพันธ์แสนพิเศษที่แฟนคลับบางส่วนมีศิลปินคนโปรดเป็นโลกทั้งใบ และสิ่งที่ช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับศิลปินให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้นการชม ‘คอนเสิร์ต’
ยิ่งชมคอนเสิร์ตของศิลปินในดวงใจ หัวใจก็ยิ่งเต้นแรงและรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก อีกทั้งการแสดงสดยังช่วยสร้างโมเมนต์น่าจดจำที่ทำให้มีความสุขมากกว่าปกติ
แต่เมื่อการแสดงจบลง ความรู้สึกในใจกลับว่างเปล่า โลกทั้งใบพังทลายราวกับช่วงเวลาแห่งความฝันกำลังแตกสลาย และไม่พร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริง จนเกิดภาวะซึมเศร้าที่เรียกว่า ‘Post Concert Depression’ (PCD)
PCD คือภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากชมคอนเสิร์ต โดยร่างกายจะเริ่มหลั่งอะดรีนาลีนในช่วงเตรียมตัวไปคอนเสิร์ต และหลั่งออกมาจำนวนมากในขณะที่กำลังชมการแสดง
ดังนั้น ความรู้สึกเหี่ยวเฉาที่เกิดขึ้นหลังจากจบคอนเสิร์ต คือกลไกที่ร่างกายพยายามปรับสมดุลการหลั่งฮอร์โมน ถือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ โดยแต่ละคนจะใช้เวลาเยียวยาตัวเองจากภาวะซึมเศร้าประเภทนี้ต่างกันออกไป บางคนอาจใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือบางคนอาจใช้เวลาเป็นหลักเดือน
เมื่อหัวใจต้องการพบศิลปินคนโปรดและชมการแสดงคอนเสิร์ต แต่งานในความรับผิดชอบก็ยังต้องทำ ชาวออฟฟิศที่รักในเสียงดนตรีจะรับมือกับอาการ PCD ที่รบกวนวันทำงานอย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจในบทความนี้พร้อมๆ กัน
1. สร้าง ‘วันคั่น’ ระหว่างการชมคอนเสิร์ตและการทำงาน
การที่ต้องทำงานในสภาพที่เมื่อวานเพิ่งชมคอนเสิร์ตมาหมาดๆ ทำให้ร่างกายไม่มีเวลาปรับกลไกการหลั่งฮอร์โมนอย่างเหมาะสม อีกทั้งความเครียดจากการทำงานยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอลออกมาเพิ่ม ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหี่ยวเฉาและไม่มีแรงใจในการทำงานมากกว่าเดิม
แอนเดรีย บอเนียร์ (Andrea Bonior) นักจิตวิทยาคลินิกเจ้าของหนังสือขายดีจาก New York Times แนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองสร้าง ‘วันคั่น’ หรือวันหยุดที่ไม่ต้องทำกิจกรรมหนักๆ หลังชมคอนเสิร์ต เพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย และเตรียมพร้อมต่อการทำงานวันถัดไป
2. สร้างทัศนคติ ‘ความสนุกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา’
เทรซี โทมัส (Tracy Thomas) นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านอารมณ์ แนะนำว่า สิ่งที่จะช่วยให้ไม่รู้สึกเหี่ยวเฉาในวันทำงาน หลังจากทำกิจกรรมต่างๆ ในวันหยุด คือการทำให้กิจกรรมแสนพิเศษ เป็นความธรรมดาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้ จนสามารถควบคุมการทำงานของสารเคมีในสมอง เมื่อต้องทำกิจกรรมเหล่านั้นอีกครั้ง
ดังนั้น แนวคิดที่ว่า ‘การจบลงของคอนเสิร์ต ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความสนุก’ จะทำให้เกิดการเยียวยาจิตใจผ่านกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถช่วยลดความรู้สึกเหี่ยวเฉาหลังจบคอนเสิร์ตได้ เช่น การฟังเพลง การเต้น การร้องคาราโอเกะ เป็นต้น
3. ออกกำลังกาย
นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยให้สุขภาพกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพใจแข็งแรงอีกด้วย โดยการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลการหลั่งฮอร์โมน ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากความรู้สึกเหี่ยวเฉาจากการทำงานหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry เมื่อเดือนเมษายน 2022 ระบุว่า คนที่ทำกิจกรรมเทียบเท่ากับการเดินเร็ว 1.25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
ถึงแม้การชมคอนเสิร์ตจะเป็นวิธีที่ช่วยคลายเครียดจากการทำงานได้ แต่ถ้าเกิดอาการ PCD จนกระทบต่อการทำงานคงไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่
ดังนั้น การรับมือกับอาการ PCD จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เป็นคนที่ ‘win’ ในฐานะแฟนคลับที่รักศิลปินสุดหัวใจ และชาวออฟฟิศ Top Performance ที่สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัว
Sources: https://bit.ly/3JBZbdC