ทั่วโลกพากันตื่นตระหนกเหตุการณ์ล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งลุกลามไปถึงยุโรปอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สัปดาห์เดียว
หลายคนเกรงว่า นี่อาจเป็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยืนยันว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องของอารมณ์และความแตกตื่นของนักลงทุน มากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเงินโลก
Future Trends จะพาไปย้อนดูเหตุการณ์ด้วยการเรียงลำดับช่วงเวลาของเรื่องราวและความวุ่นวาย เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปและเห็นภาพความวุ่นวายทางการเงินการลงทุนครั้งนี้ได้ง่ายขึ้น
– 8 มี.ค. 2023
สัญญาณความวุ่นวายเริ่มต้นขึ้นเมื่อธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (SVB) ในสหรัฐฯ ประกาศผลประกอบการขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ จากการขายหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage bonds) เพื่อนำเงินสดมาคืนลูกค้าบัญชีเงินฝาก
สาเหตุการขาดทุนหลักๆ มาจากการลงทุนที่ผิดพลาดในพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ท่ามกลางการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง (เฟด) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ไม่กี่ชั่วโมงหลัง SVB แถลงยอมรับสภาพขาดทุน บริษัทจัดอันดับ ‘มูดดี้ส์’ (Moody’s) ประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือของ SVB ทันที
– 9 มี.ค. 2023
เช้าวันต่อมา ราคาหุ้น SVB ร่วงหนักหลังเปิดตลาด ขณะหุ้น ‘บิ๊กโฟร์’ ของแบงก์อเมริกา ทั้งเจพีมอร์แกน เชส, แบงก์ออฟอเมริกา, เวลส์ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป ร่วงตามเพราะความตื่นตระหนก
ข่าวความวิตกที่แพร่ไปอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทร่วมลงทุน (VC) รวมถึงสตาร์ตอัปในเครือ เริ่มแห่ไปถอนเงินจาก SVB โดยมีรายงานว่า ในช่วงปิดทำการมียอดพยายามถอนเงินสูงถึง 42,000 ล้านดอลลาร์
– 10 มี.ค. 2023
SVB ไม่มีเงินสดพอจ่ายคืนลูกค้า ทำให้สถาบันประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ (FDIC) ประกาศเข้ามาควบคุมกิจการก่อนเปิดทำการ และ SVB กลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับสองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ล้มละลาย หลังจาก ‘วอชิงตัน มูชวล’ (Washington Mutual) ล้มไปก่อนหน้าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ‘แฮมเบอร์เกอร์’ ปี 2008
ตลาดหุ้นไทยเริ่มซึมซับข่าวร้าย ปิดตลาดลดลง 14.57 จุด (- 0.9%)
– 12 มี.ค. 2023
FDIC ตัดสินใจตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันคนแห่ถอนเงินลุกลามไปแบงก์อื่น ด้วยการประกาศมาตรการฉุกเฉินรับประกันเงินฝากทั้งหมดของลูกค้า SVB แม้เกินวงเงินที่รัฐค้ำประกัน 250,000 ดอลลาร์ต่อบัญชี
นอกจากนี้ FDIC ยังเข้าควบคุมกิจการธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ในนิวยอร์ก ทำให้ซิกเนเจอร์ กลายเป็นแบงก์ใหญ่อันดับสามในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ล้มละลาย หลังเพิ่งประกาศรับเงินฝากเป็นคริปโตเคอร์เรนซีได้ไม่นาน
– 13 มี.ค. 2023
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงยืนยัน ระบบธนาคารอเมริกันยังมั่นคง แต่ราคาหุ้นหลายแบงก์หลังเปิดทำการวันแรกของสัปดาห์ยังร่วงหนัก โดยธนาคารเฟิร์ส รีพับลิก (First Republic Bank) ร่วง 65% และชาร์ลส ชวาบ (Charles Schwab) แบงก์ใหญ่อันดับ 8 ของสหรัฐฯ ลดลง 11%
ตลาดหุ้นไทยร่วมวง ‘แพนิก’ ปิดลดลง 26.58 จุด (- 1.66%)
– 14 มี.ค. 2023
ตลาดหุ้นไทยปิดร่วงต่อ 49.18 จุด (- 3.13%) โดยหุ้นแบงก์ใหญ่ทั้ง Kbank (-1.17%) และ SCB (-2.26%) ถูกเทขายหนัก แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเปิดทีหลัง ราคาหุ้นแบงก์ขนาดกลางกลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางความหวังว่า วิกฤตรอบนี้อยู่ในการควบคุมแล้ว
– 15 มี.ค. 2023
สถานการณ์ในอเมริกาคลี่คลาย แต่ปัญหาลุกลามไปยุโรป เมื่อเครดิต สวิส (Credit Suisse) ธนาคารอันดับต้นๆ ของโลก ราคาหุ้นหล่นทำสถิติต่ำสุด (- 24%) เพราะความวิตกสืบเนื่องจาก SVB หลังแบงก์สวิสเจ้านี้ มีปัญหาความโปร่งใส และขาดทุนมาตลอดหลายปี
ราคาหุ้นธนาคารยุโรปอื่นๆ อย่างโซซิเอเต้ เจเนเรล (Société Générale), บีเอ็นพี พารีบาส์ (BNP Paribas) และดอยช์ แบงก์ (Deutsche Bank) ร่วงตาม
ส่วนหุ้นธนาคารภูมิภาคในอเมริกา กลับมาหล่นอีกครั้ง โดยบริษัทจัดเรตติ้งเอสแอนด์พี ลดความน่าเชื่อถือธนาคารเฟิร์ส รีพับลิก เหลือสถานะ ‘ขยะ’ เพราะความเสี่ยงคนแห่ถอนเงิน และความสามารถทำกำไรยังไม่น่าไว้ใจ
– 16 มี.ค. 2023
หุ้นเครดิต สวิส เปิดตลาดพุ่งขึ้น 40% สูงสุดเป็นสถิติใหม่ หลังประกาศจะกู้เงินจากแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ 50,000 ล้านฟรังก์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ช่วยลดความหวาดวิตกของลูกค้าและนักลงทุน
นั่นคือไทม์ไลน์ของความวุ่นวายล่าสุดในโลกการเงินการลงทุน นับตั้งแต่ SVB ล้มละลายได้แค่ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนธนาคารไทยแม้ส่วนใหญ่สถานะยังมั่นคง และไม่มีส่วนเชื่อมโยงโดยตรงกับวงจรปัญหานี้ แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า สถานการณ์ยังไม่อาจไว้วางใจ และต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: http://bit.ly/3yJ5MNq