Type to search

ทีมหมดไฟ ไม่มีแรงใจทำงาน หัวหน้าจะสร้าง ‘Well-Being’ เพื่อรักษาใจทีมงานอย่างไร?

February 28, 2023 By Future Trends
leader-well-being

หลังผ่านสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้แต่ละบริษัทต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน จนเป็นความท้าทายในการสร้างสภาพการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีต่อสุขภาพจิตไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และต้องใช้การมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อสร้างขึ้นมา จนกลายเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องทำความเข้าใจและรับรู้ความต้องการของพนักงานแต่ละคนที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ (Well-Being) ที่ช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข

ความเป็นอยู่ที่ดี เป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานผ่านการควบคุมสมดุลชีวิต หากสภาพการทำงานเอื้อต่อการรักษาสมดุล จะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และแรงกระตุ้นในการทำงาน แต่ถ้างานเต็มไปด้วยความกดดันจนกระทบต่อสมดุลชีวิต ก็จะทำให้พนักงานเกิดความเครียดและหมดไฟ

แล้วหัวหน้าหรือผู้บริหารควรออกแบบวิธีทำงานให้รักษา ‘หัวใจ’ ของพนักงานอย่างไร? Future Trends ขอแนะนำ 6 วิธีส่งเสริม ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ในองค์กรที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าทำงานมากขึ้นมาให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

Well-Being
Image by tirachardz on Freepik

1. ระบุความคาดหวังให้ชัดเจน

ในขณะที่โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ หัวหน้าต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความชัดเจนในการทำงาน เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในองค์กร โดยหัวหน้าจะต้องอธิบายข้อเท็จจริงและกำหนดขอบเขตสำหรับสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี และลดโอกาสเกิดปัญหาที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดตามมา

2. ให้สวัสดิการด้านสุขภาพตามความต้องการของพนักงาน

สถานการณ์โรคระบาดที่ค่อยๆ ซาลง ทำให้พนักงานเริ่มตระหนักถึงสวัสดิการมากขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงควรคำนึงถึง เพราะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานและรักษาคนไว้กับองค์กร ถ้าไม่แน่ใจว่า พนักงานต้องการอะไร สามารถถามแบบตัวต่อตัวหรือทำแบบสำรวจในองค์กรเพื่อรับรู้ความต้องการของพนักงานได้

3. ลดความเครียดเท่าที่ทำได้

ความเป็นอยู่ที่ดี เป็นมากกว่ากิจกรรมบำบัดทั่วไป บางครั้งคือการลดภาระทางจิตใจ แม้หลายคนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ไม่สามารถหลีกหนีความกังวลในชีวิตประจำวันที่บั่นทอนจิตใจได้ เช่น การพิชิตเป้าหมายของงาน การประชุมที่ลากยาว ปัญหาการจราจร หรือรายจ่ายในแต่ละวัน

ดังนั้น ผู้บริหารควรคิดถึงประโยชน์ด้านสุขภาพในมุมกว้างมากขึ้นและยึดความต้องการของพนักงาน เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาในออฟฟิศต่อไป

4. สร้างพื้นที่ทางกายภาพให้เอื้อต่อการทำงานอย่างเต็มที่

งานที่ทำไม่สำเร็จ อาจเกิดจากการขาดแรงกระตุ้นที่ดีในการทำงาน ถึงจะมีหลายวิธีที่ช่วยให้ทำงานได้สำเร็จแนะนำบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือในหนังสือพัฒนาตัวเอง แต่สุดท้ายผลกระทบที่มากที่สุด คือ อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน

เสียง จอมอนิเตอร์ โต๊ะทำงาน และสิ่งที่อยู่นอกกระจกเป็นองค์ประกอบในออฟฟิศที่ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีในบริษัทได้ การให้รางวัลแก่ทีมเมื่อทำงานได้ตามเป้าหมายก็ช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดีและสนับสนุนการทำงานเป็นทีมของพนักงาน

5. พิจารณาเวลาการทำงาน

การที่พนักงานต้องเข้าออฟฟิศตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ การมอบหมายงานและต้องทำให้เสร็จภายในเวลากระชั้นชิด หรือวัฒนธรรมการทำงานเข้า 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น ยังคงจำเป็นกับบริษัทของคุณหรือไม่?

จากข่าวสารมากมายเกี่ยวกับการทำงาน และระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หัวหน้าควรกลับมาพิจารณาเวลาทำงานใหม่ อาจเป็นเวลาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของพนักงาน เพื่อให้พวกเขาได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง มีเวลาอยู่กับครอบครัว ออกไปข้างนอก พบปะผู้คน หรือทบทวนตัวเองในแต่ละสัปดาห์

6. พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำตลอดเวลา

หัวหน้าควรพัฒนาทักษะของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารและการบริหารทีม เพื่อหาจุดเชื่อมโยงในการทำงาน เข้าใจเป้าหมายของทีม และทำความรู้จักตัวตนของลูกทีมอย่างลึกซึ้ง โดยหัวหน้าอาจจัดการประชุมแบบตัวต่อตัว เพื่อรับฟังปัญหาและสำรวจสภาพจิตใจของลูกทีมแต่ละคน

ความเป็นอยู่ที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประสิทธิภาพขององค์กรในระยะยาว ฉะนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานควรคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน เพราะพนักงานเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป

Sources: https://bit.ly/3jCeclR

http://bit.ly/3YBE8fU