“ไม่มีใคร ‘สมบูรณ์แบบ’ ไปทุกอย่าง” การเป็น ‘ไม้บรรทัด’ วัดความสำเร็จคนอื่นอาจไม่ใช่คำตอบในการนำทีม
‘ความสมบูรณ์แบบ’ กลายเป็นมาตรวัด ‘ความสำเร็จ’ ของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดัน และมีภาพความสำเร็จแบบสำเร็จรูปเสิร์ฟรอให้ทำตามอยู่แล้ว เช่น
หน้าที่การงานต้องเติบโต มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือแมเนเจอร์ก่อนอายุย่างเข้าเลข 3
ทำงานไปแล้ว 2-3 ปี ต้องมีบ้านและรถของตัวเอง เพื่อเติมเต็มความสุขให้กับคนในครอบครัว
ต้องโตไปเป็น ‘เจ้าคนนายคน’ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ภาพความสำเร็จเหล่านี้ กลายเป็น ‘บาร์’ กำหนดเพดานการใช้ชีวิต เมื่อทำอย่างหนึ่งสำเร็จ ก็ต้องดันบาร์ให้สูงขึ้นไปอย่างไม่รู้จบ เพื่ออัปเดตความสำเร็จใหม่ๆ บนหน้าโปรไฟล์ เปรียบเสมือนการประดับเข็มกล้าหาญในวิชาลูกเสือ ยิ่งใครมีเข็มประดับอยู่บนอกเสื้อเยอะๆ ยิ่งสะท้อนถึงความเป็น ‘หัวกะทิ’ ในการเรียนตามหลักสูตรได้อย่างดี
หรือต่อให้ไม่มองตามภาพความสำเร็จที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งต่อมาให้คนรุ่นลูก สังคมการทำงานก็เป็นหนึ่งในสังคมที่จำลองการใช้ ‘บาร์ความสำเร็จ’ ในรูปแบบของการตั้งเป้าหมายผ่าน KPI หรือ OKR มาเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์แบบในการทำงาน โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเป้าหมายเหล่านี้ คือ ‘ความคาดหวัง’ ของหัวหน้าและผู้บริหารนั่นเอง
หากทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จ คนทำงานจะต้องรับความกดดันจากหัวหน้าของตัวเอง จนนำไปสู่การรีด Output หรือเค้นความสามารถจนถึงขีดสุด เพื่อนำความสำเร็จมาสู่ทีม แต่ถ้าโชคร้ายเจอหัวหน้าที่โฟกัสแต่ตัวเอง สิ่งที่คนทำงานต้องเจออาจไม่ได้มีเพียงความกดดันจากเป้าหมายตรงหน้า แต่เป็นการนำความสำเร็จในอดีตมากดทับ จนกลายเป็นความกดดันซ้ำซ้อนที่ตามหลอกหลอนในทุกวัน
นอกจากตัวเลข KPI หรือ OKR จะเป็นบาร์ความสำเร็จที่ต้องเอาชนะให้ได้แล้ว ความสำเร็จของเพื่อนร่วมงานก็เป็น ‘บาร์ล่องหน’ ที่สร้างความกดดันไม่แพ้กัน ยิ่งเพื่อนร่วมงานมีผลงานโดดเด่นมากเท่าไร คนทำงานก็ยิ่งกลับมามองที่ผลงานของตัวเอง จนตกอยู่ในวังวนความคิดว่า ‘วันของเราจะมาถึงเมื่อไร?’
ถึงแม้บาร์ความสำเร็จจากภายนอกจะมีอิทธิพลต่อคนทำงานมากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่เท่ากับบาร์ความสำเร็จที่เป็นหมุดหมายในใจอยู่ดี เพราะแต่ละคนย่อมมีเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง อย่างการเติบโตตาม career path ที่ใฝ่ฝัน หรือการครองตำแหน่งพนักงาน ‘Top Performance’ ในองค์กร
ดังนั้น มาตรวัดความสมบูรณ์แบบในการทำงาน ไม่ได้มีเพียงเป้าหมายอย่างตัวเลข KPI หรือ OKR เท่านั้น แต่ยังมี ‘ไม้บรรทัด’ ของหัวหน้าที่วัดความสำเร็จของลูกทีมแต่ละคน ผลงานของเพื่อนร่วมงานที่โดดเด่นจนน่าจับตา และความคาดหวังของตัวเองที่ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคนทำงานสามารถเอาชนะมาตรวัดความสมบูรณ์แบบได้ โดยไม่ต้องเผชิญกับความกดดัน และสูญเสีย self-esteem หรือความภูมิใจในตัวเองไปเสียก่อน
รอน คารูชชี (Ron Carucci) ผู้ร่วมก่อตั้ง Navalent องค์กรให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับ mindset และปล่อยวางความกดดันจากเป้าหมายที่รออยู่ตรงหน้า ดังนี้
1. ปรับเกณฑ์การพิจารณา ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ของตัวเอง
ความกดดันจากการทำทุกอย่างให้สำเร็จ อาจเกิดจากการตั้งมาตรวัดความสมบูรณ์แบบเกินกว่าที่ตัวเองจะรับไหว บางทีมาตรวัดเหล่านั้น อาจมาจากเกณฑ์ของคนอื่น หรือความสำเร็จแบบสำเร็จรูปที่ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพียงแค่ลองปรับ mindset และออกแบบมาตรวัดให้เหมาะสมกับขีดความสามารถ ความกดดันที่มีอยู่จะค่อยๆ คลี่คลายไปอย่างแน่นอน
หรือในมุมของหัวหน้า การหยุดใช้ไม้บรรทัดหรือมาตรวัดของตัวเองตัดสินความสำเร็จของทีม จะช่วยให้หัวหน้าดึงความสามารถของทีมออกมาได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเอาชนะเป้าหมายอย่างรวดเร็ว เพราะทีมจะไม่รู้สึกว่า เป้าหมายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ต้องเร่งทำลาย แต่จะค่อยๆ คิดอย่างใจเย็น จนสามารถหาวิธีทำลายกำแพงได้ในครั้งเดียว
2. เปลี่ยน ‘การเปรียบเทียบ’ ให้เป็น ‘แรงผลักดัน’
ความโดดเด่นของเพื่อนร่วมงาน และความสำเร็จในอดีตของหัวหน้า เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความกดดันในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ เพื่อข้ามผ่านความคิดที่ทำให้คุณติดบั๊กอยู่ที่เดิม
ดังนั้น ให้ลองปรับ mindset และใช้ความสำเร็จเหล่านั้น เป็นแรงผลักดันในการสร้างผลงาน รวมถึงนำวิธีการทำงานของเพื่อนร่วมงานมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบความสามารถระหว่างคนทำงาน ยังเป็นตัวการร้ายที่บั่นทอนความเป็นทีม ซึ่งหัวหน้าต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้ และใช้วาทศิลป์ในการพูดคุยกับลูกทีมทุกคน เพื่อรักษาความเป็นทีมให้มากที่สุด แม้จะมีคนในทีมสร้างผลงานโดดเด่นกว่าคนอื่นก็ตาม
หากคุณกำลังเหนื่อยล้ากับการไล่ตาม ‘ความสมบูรณ์แบบ’ และต้องการหยุดพักเพื่อทบทวนเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ขอให้รู้ไว้ว่า ‘Nobody is perfect.’ แม้จะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนสามารถเติบโตเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมได้เสมอ
ดังนั้น อย่ารู้สึกผิดที่ไล่ตามความสมบูรณ์แบบ (อย่างที่คาดหวัง) ไม่สำเร็จ เพราะการเติบโตในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมอาจเป็นความสมบูรณ์แบบที่เหมาะกับคุณมากกว่าก็ได้
Sources: http://bit.ly/3XUQpwi