‘The Quiet Era’ กับการมาของ 5 แนวคิดการทำงานแห่งความเงียบ
ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คำศัพท์สุดคลาสสิกอย่าง “Quiet” หรือ “ความเงียบ” ถูกหยิบยกมาพูดถึงในแง่มุมของการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Quiet Quitting การลาออกของพนักงานแบบเงียบๆ ,Quiet Firing การบีบให้พนักงานลาออกแบบเงียบๆ ,Quiet Hiring การรัดเข็มขัด ลดต้นทุนแบบเงียบๆ ของบริษัท, Quiet Promotion การมอบหมายงานเพิ่ม แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม และ Quiet Thriving การปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้อยู่ร่วมกับงานอย่างมีความสุข
จนนาทีนี้ อาจเรียกได้ว่า นี่คือยุคสมัยแห่งความเงียบ หรือ The Quiet Era เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะไถฟีดไปทางไหน ก็มักจะเจอคำศัพท์ตระกูลนี้อยู่บ่อยๆ รวมไปถึงถ้าลองประเมินความน่าจะเป็นแล้ว ก็น่าจะมีคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย “Quiet” ออกมาอีกเรื่อยๆ ด้วย
แล้วแต่ละคำคืออะไร และมีแนวคิดอย่างไรบ้าง? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
‘Quiet Quitting’ เมื่อการทำงานหนักไม่ใช่คำตอบที่ใช่
แม้มนุษย์เงินเดือนกับการลาออกจะเป็นของคู่กัน เพราะต่อให้จะดีต่อกันมากสักเท่าไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว ยังไงซะในวันใดวันหนึ่ง พวกเขาก็ต้องเดินจากไปตามเส้นทางใหม่ๆ อยู่ดี
ตามปกติแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับการลาออกที่แท้จริง หรือการเดินไปยื่นซองขาวใบลาออกด้วยตัวเองทันที แต่จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต และกระแสการ Layoff พนักงานครั้งใหญ่ ส่งผลให้หลายๆ คนเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงการทำงานหนักอีกครั้งว่า สุดท้ายปลายทางแล้ว การทำงานหนักแบบถวายวิญญาณเช่นนี้ยังคงเป็นหัวใจสำคัญจริงหรือไม่?
Quiet Quitting คือแนวคิดการลาออกแบบเงียบๆ หรือการลาออกทิพย์ของพนักงานที่ทำงานแค่เท่าที่จำเป็น ตามหน้าที่ ตามเงินเดือนที่ได้รับ ไม่ทุ่มเททำงานเกินหน้าที่อีกต่อไป โดยลึกๆ แล้ว พวกเขาก็รู้สึกเหนื่อย และเครียด แต่ที่ไม่ลาออกจริงๆ สักที เนื่องจาก สถานการณ์ต่างๆ ไม่ค่อยสู้ดีทำให้ต้องอดทนก้มหน้าก้มตาทำต่อไป หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถึงจะเห็นกายหยาบทำงานอยู่ แต่ใจนั้นลอยออกไปนอกออฟฟิศแล้วนั่นเอง
‘Quiet Firing’ แอบบีบออกอยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย
นอกเหนือจาก Quiet Quitting แล้ว อีกแนวคิดที่เกิดขึ้นในฟากฝั่งของบริษัทก็คือ ‘Quiet Firing’ หรือการบีบให้ลาออกอย่างเงียบๆ
Quiet Firing คือคำศัพท์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของหัวหน้าหรือบริษัทที่พยายามทำให้พนักงานรู้สึกไร้ค่า ไร้ตัวตน จนเลือกลาออกไปเอง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการ Layoff ผ่านวิธีการกดดันทางอ้อมต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการลดบทบาท ลดหน้าที่ หรือแม้กระทั่งการไม่เชิญให้เข้าร่วมงานในโปรเจกต์สำคัญก็ด้วย
แน่นอนว่า หากพนักงานที่ถูกบีบให้ออกคนนั้นเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน ทำผลงานได้ดีมาตลอด แต่เพิ่งจะมาตกม้าตายช่วงหลัง จริงๆ แล้ว แนวคิดนี้ก็อาจจะไม่แฟร์สักเท่าไร ดังนั้น ถ้าไม่ตอบโจทย์กันแล้ว ก็ควรบอกกันดีๆ เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช้ความเงียบแก้ปัญหา เพราะเราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า โลกจะเหวี่ยงให้กลับมาทำงานด้วยกันอีกทีเมื่อไร
‘Quiet Hiring’ รัดเข็มขัด ลดต้นทุน ลดการจ้างงาน
ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด นี่จึงทำให้หลายๆ บริษัทเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงกลยุทธ์ที่ใช้อีกครั้งผ่านการ Quiet Hiring
Quiet Hiring คือการจ้างงานแบบเงียบๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ความคล่องตัวของบริษัท ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงิน และเวลาในการสรรหาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แถมยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ตามความสนใจด้วย โดยหลักๆ แล้ว เราแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. Internal Quiet Hiring
การโยกย้ายพนักงานเก่าไปทำอีกตำแหน่งในบริษัท เช่น สายการบินควอนตัส (Qantas) ที่ผู้บริหารแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานปี 2022 ด้วยการ Rotate พนักงานไปเป็นคนจัดสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้ และช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่า ลดโอกาสในการย้ายงานไปพร้อมๆ กัน
2. External Quiet Hiring
การจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลในส่วนงานที่มีความสำคัญที่สุดหรือเร่งด่วนที่สุด
‘Quiet Promotion’ อ้าวเฮ้ยไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า!
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทุกวันนี้ข่าวการ Layoff พนักงานที่เป็นเรื่องไม่ปกติแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติที่หลายๆ คนเห็นตามฟีดโลกโซเชียลกันเป็นประจำด้วยซ้ำ แต่พอจำนวนคนทำงานลด Workload งานยังคงเท่าเดิมอยู่ แน่นอนว่า Survivor ที่เหลืออยู่ก็ต้องเป็นผู้รับชะตากรรมดังกล่าว
Quiet Promotion คือการมอบหมายงาน หน้าที่รับผิดชอบที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานคนนั้นก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ได้รับเงินเดือนที่เท่าเดิม ไม่ได้ถูกโปรโมตหรือให้ค่าชดเชยไปพร้อมปริมาณงานอย่างสมเหตุสมผล โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวเป็นกิจจะลักษณะ
ตรงกันข้ามกับเนื้องานที่เคยตกลงในตอนแรกที่สมัคร เรียกได้ว่า แม้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ยังเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพจิต จนอาจทำให้บริษัทสูญเสียพนักงานฝีมือดีได้ด้วย
‘Quiet Thriving’ อยู่กับงานอย่างแฮปปี้ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการ
ถึง Quiet Quitting จะเป็นวิธีที่น่าสนใจที่ใช้เอาชีวิตรอดในโลกของการทำงาน แต่นอกเหนือจากแนวคิดนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดสุดคลาสสิกอย่าง Quiet Thriving ด้วย
Quiet Thriving คือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวิธีคิดให้รู้สึกดี มีส่วนร่วมมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้เราค่อยๆ เจริญเติบโตไปพร้อมกับงานอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสิ่งที่ชอบ, การ Craft งาน, การเก็บเกี่ยวมิตรภาพ หาเพื่อนสนิทในออฟฟิศ, การตั้งเป้าหมายเล็กๆ , การหากลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน, การพักเบรกสั้นๆ หรือแม้กระทั่งการลิสต์รายการสิ่งที่ทำสำเร็จก็เช่นกัน
Sources: https://wapo.st/3vfCxA1