Type to search

ถึงจะเก่า แต่ยังเก๋าอยู่ ส่อง 3 แกดเจ็ต ‘Y2K’ ขวัญใจชาว ‘Gen Z’

January 21, 2023 By Witchayaporn Wongsa
gen-z-and-y2k-gadget

แต่งตัวแบบ Y2K ถ่ายรูปแบบ Y2K ใช้ชีวิตแบบ Y2K

ไม่ว่าจะเข้าโซเชียลมีเดียสักกี่แอปฯ ก็ต้องเห็นคำว่า ‘Y2K’ (Year 2000) ตลอด เพราะเป็นเทรนด์สุดร้อนแรงที่สะท้อนถึง ‘ความฮิป’ และ ‘ความคูล’ ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างดี ด้วยความที่ Y2K คือยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ปี 2000 รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มมองไปที่ ‘อนาคต’ เพราะกลัวว่าระบบคอมพิวเตอร์จะเกิดบั๊กจากการประมวลผลด้วยเลขปี 2000 ทำให้สไตล์ของ Y2K มีการผสมผสานความเป็นอนาคตอย่างลงตัว และยังไม่ล้าสมัยแม้จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

สิ่งที่ทำให้ลมอันเงียบสงบของ Y2K กลับมาพัดหวนจนกลายเป็นเทรนด์ใหญ่อีกครั้งคือ ‘พลังของ Gen Z’ เพราะชาว Gen Z มีพื้นฐานเป็นคนชอบแสดงออกและกล้าลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น พวกเขาจึงเปิดใจให้กับ Y2K และเริ่มสรรหาไอเท็มสไตล์ Y2K มาสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นชุดวอร์มกำมะหยี่ เครื่องประดับแวววาว และกางเกงยีนส์เอวต่ำ จนเกิดแฮชแท็ก #y2kaesthetic ที่เหล่าวัยรุ่นมาแบ่งปันสไตล์การแต่งตัวของตัวเองบน TikTok

แต่ความนิยมสไตล์ Y2K ไม่ได้จบลงแค่ในวงการแฟชั่น เพราะชาว Gen Z เริ่มสรรหาแกดเจ็ตยุค Y2K มาใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งชาว Gen Z บางส่วนถึงกับบอกว่า ชื่นชอบแกดเจ็ตยุค Y2K มากกว่าแกดเจ็ตที่ใช้ในปัจจุบันด้วยซ้ำ

แล้วแกดเจ็ตยุค Y2K ที่ชาว Gen Z ออกตามหาจนกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งมีอะไรบ้าง? Future Trends จะพาไปสำรวจพร้อมๆ กัน ไม่แน่ว่า บทความนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่ที่เคยใช้แกดเจ็ตเหล่านี้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตและความทรงจำช่วงวัยรุ่นของตัวเองด้วย

90s-phone

โทรศัพท์ฝาพับ – โทรศัพท์ปุ่มกด – โทรศัพท์สไลด์

โทรศัพท์เครื่องแรกในชีวิตของวัยรุ่นยุค 90 หลายคน คงหนีไม่พ้นหนึ่งในสามประเภทที่เรากำลังพูดถึง เพราะเป็นโทรศัพท์ดีไซน์กิ๊บเก๋ที่เริ่มมีฟังก์ชันหลากหลาย ขนาดเล็ก และพกพาสะดวก อีกทั้งยังเป็นไอเท็มแห่งความทรงจำที่มีเรื่องราวในอดีตผูกติดอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นที่ห้อยโทรศัพท์ สติกเกอร์ตกแต่ง และเกมงูในตำนานของ Nokia

แต่เมื่อโทรศัพท์ไร้ปุ่มหรือสมาร์ตโฟนที่เราคุ้นเคยและใช้งานกันทั่วไปในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น กาลอวสานของโทรศัพท์ทั้งสามประเภทก็มาถึง และต้องออกจากตลาดไปตามกาลเวลา ก่อนที่พลังของชาว Gen Z จะทำให้โทรศัพท์เหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี 2022

แซมมี่ พาลาซโซโล (Sammy Palazzolo) นักศึกษาวัย 18 ปี จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ (University of Illinois Urbana-Champaign) ตัดสินใจใช้โทรศัพท์ฝาพับเวลาที่ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ แทนสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ เพราะเธอรู้สึกว่า ความวินเทจของโทรศัพท์ฝาพับสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่ทำให้เธอได้รู้จักคนใหม่ๆ จากการไปปาร์ตี้แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ แซมมี่ยังเป็น TikToker ที่ปลุกกระแสความนิยมของโทรศัพท์ฝาพับผ่านแฮชแท็ก #BRINGBACKFLIPPHONES ซึ่งวีดิโอของเธอมียอดรับชมมากกว่า 14 ล้านครั้ง เธอให้เหตุผลว่า โทรศัพท์ฝาพับช่วยให้จดจ่อกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น และยังสามารถพาเธอออกจากโลกโซเชียลอันแสนโหดร้ายได้อีกด้วย

ความเป็นพิษของโลกโซเชียลไม่ได้มีผลกับแซมมี่เพียงคนเดียว แต่ยังมีชาว Gen Z อีกหลายคนที่หันมาใช้โทรศัพท์ยุค 90 ด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน

digital-camera

กล้องดิจิทัลแบบ Point & Shoot

ต้องยอมรับว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่เติบโตท่ามกลางความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยี แกดเจ็ตหลายอย่างเป็นระบบดิจิทัลที่สามารถประมวลผลได้ในพริบตา โดยเฉพาะกล้องถ่ายรูปคุณภาพสูงที่กลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของสมาร์ตโฟนทุกเครื่องไปแล้ว

แต่การที่ทุกคนสามารถหยิบสมาร์ตโฟนมาถ่ายรูปได้ทุกเมื่อ อาจทำให้บางคนต้องการสร้างความสนุกและสีสันการเล่าเรื่องผ่านรูปถ่ายด้วยอุปกรณ์ที่ต่างออกไป

แอนโทนี ทาบาเรซ (Anthony Tabarez) นักศึกษาวัย 18 ปี เป็นคนหนึ่งที่นำกล้องดิจิทัลของคุณแม่มาใช้ถ่ายรูปเพื่อนๆ และบรรยากาศในงานพรอม เพราะต้องการสร้างความตื่นเต้นผ่านการถ่ายรูปโดยใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นนอกจากสมาร์ตโฟนที่เขาคุ้นเคย จนในที่สุด Olympus FE-230 กล้องดิจิทัลสีเงินที่คุณแม่เคยใช้ได้กลายเป็นกล้องคู่ใจของเขาไปโดยปริยาย

และไม่ได้มีแอนโทนีเพียงคนเดียวที่หันมาใช้กล้องดิจิทัลในการถ่ายรูป เพราะชาว Gen Z อีกมากมายต่างพากันมาอวดผลงานรูปถ่ายจากกล้องดิจิทัลของตัวเองบน TikTok และ Instagram ผ่านแฮชแท็ก #digitalcamera ที่มียอดรับชมบน TikTok มากกว่า 184 ล้านครั้ง

การที่ชาว Gen Z หลายคนเปิดใจให้กับกล้องดิจิทัลไม่ได้เป็นผลมาจากเทรนด์ Y2K เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยจากอิทธิพลของคนดังอย่างไคลี่ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) และเบลลา ฮาดิด (Bella Hadid) ที่โพสต์รูปถ่ายในสไตล์ของยุค 2000 ตอนต้นผ่าน Instagram ส่วนตัว รวมถึงเป็นความต้องการของชาว Gen Z ที่จะพักชีวิตอันแสนวุ่นวายในโลกโซเชียล และออกไปทำงานอดิเรกตามที่หัวใจเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัลที่อยู่ในกรุของพ่อแม่นั่นเอง

เครื่องเล่นซีดีแบบพกพา (Portable CD Player) และหูฟังมีสาย

ถึงแม้หูฟังไร้สายจะเป็นแกดเจ็ตที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถทำลายข้อจำกัดของหูฟังมีสาย ด้วยความสามารถในการเชื่อมต่อระยะไกลและดีไซน์สุดคูลที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของผู้ใช้งาน แต่ปัจจัยเหล่านี้ กลับไม่ได้ทำให้หูฟังมีสายเสื่อมคลายมนต์เสน่ห์เลยแม้แต่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากคนดังอย่างเบลลา ฮาดิด และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ที่ใช้หูฟังมีสายออกสื่อ ความขบถต่อกระแสนิยมของ Gen Z พลังแห่ง Y2K และราคาที่ถูกกว่าหูฟังไร้สาย ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชาว Gen Z หลายคนเลือกใช้หูฟังมีสาย เพื่อแสดงตัวตนและแนวคิดผ่านการเป็นไอเท็มแฟชั่นชิ้นหนึ่งนอกเหนือจากการใช้งานทั่วไป

และเมื่อเราพูดถึงหูฟังมีสาย ความทรงจำของหลายคนอาจเชื่อมต่อกับอีกหนึ่งแกดเจ็ตที่ใช้คู่กันโดยอัตโนมัติ นั่นคือเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาที่วัยรุ่นยุค 90 ต้องพกติดตัวตลอดเวลาพร้อมกับหูฟังคู่ใจของตัวเอง

แต่หลังจากการกำเนิดของ iPod และการเข้ามาครองตลาดของแอปสตรีมมิง ซีดีก็มีความสำคัญต่อการออกผลงานของศิลปินน้อยลง ศิลปินหลายคนเลือกที่จะออกผลงานในรูปแบบซิงเกิลแทนอัลบั้ม เพื่อปรับตัวตามเทรนด์ของตลาดและพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความนิยมของซีดีจะลดลงไปตามกาลเวลา ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นโดมิโนตัวแรกที่ทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องล้มทับไปตามๆ กัน และเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาก็เป็นหนึ่งในโดมิโนที่ล้มลงจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมดนตรี

แต่พลังแห่ง Y2K และการหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีต (Nostalgia) ทำให้ซีดีกลับมามีบทบาทในวงการเพลงอีกครั้ง โดยข้อมูลจาก RIAA ระบุว่า ยอดขายซีดีในปี 2021 เท่ากับ 46.6 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี

ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมซีดี อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้หลายคนตัดสินใจสะสมเครื่องเล่นซีดียุคเก่าด้วย เช่น แซม ฮีนีย์ (Sam Heeney) ยูทูบเบอร์ Gen Z ได้แสดงความประทับใจต่อเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาดีไซน์สุดน่ารักที่เธอซื้อมาจาก Facebook Marketplace ในราคา 6 ปอนด์ ผ่านวีดิโอที่เผยแพร่ในช่องของเธอ เป็นต้น

Source: http://bit.ly/3Xk3IpD

http://bit.ly/3XzNCbk

http://bit.ly/3ZA9Z1Y

http://bit.ly/3krGgbG

https://bit.ly/3WknVu0

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)