‘mRNA’ จะไม่ใช่แค่วัคซีนโควิด แต่เป็น ‘ความหวังใหม่’ ของการรักษาหลากหลายโรคในอนาคต
‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต
ถึงแม้การระบาดของโควิด-19 จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่อาจประเมินมูลค่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการพัฒนาในวงการแพทย์อย่างรวดเร็ว และทำให้เทคโนโลยีการรักษาที่เคยอยู่ในเงามืดอย่าง ‘mRNA’ เฉิดฉายจนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครไม่รู้จัก
เมื่อพูดถึง mRNA ชื่อของ ‘Moderna’ และ ‘Pfizer’ คงปรากฏขึ้นมาในความคิดของหลายคนทันที เพราะเป็น 2 บริษัทยาที่ครองตลาดวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ทั้งสองบริษัทต้องเดินหน้าต่อ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดยาผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
แล้วในมิติของการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การต่อยอดประสิทธิภาพของ mRNA จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
‘mRNA’ ความหวังใหม่ของการรักษาในอนาคต
ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 จาก Moderna และ Pfizer เป็นสิ่งที่พิสูจน์ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี mRNA ได้อย่างดี ด้วยกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันที่เน้นให้ร่างกายจดจำ ‘อาวุธ’ ของเชื้อโรคมากกว่าจดจำลักษณะของเชื้อโรคแต่ละชนิด ทำให้ mRNA สามารถป้องกันเชื้อโรคกลายพันธุ์ได้มากกว่าวิธีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม
ดังนั้น นักวิจัยหลายคนจึงมองว่า mRNA เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจะเป็นเพียงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้ในปี 2023 บริษัทยาหลายแห่งวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ มากขึ้น
BioNTech พันธมิตรคนสำคัญของ Pfizer กำลังวางแผนทดลองวัคซีนมาลาเรียและวัณโรค เพื่อจัดการเชื้อโรคเก่าแก่ที่ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปีหลายล้านราย รวมถึงจับมือกับรัฐบาลอังกฤษในการวิจัยวัคซีนต้านมะเร็ง เพื่อนำวัคซีนชนิดนี้มาใช้กับผู้ป่วยจำนวน 10,000 ราย ภายในปี 2030
ส่วนทางฝั่ง Moderna ก็กำลังพัฒนาวัคซีนเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจและไข้หวัดใหญ่ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพประมาณ 39 เปอร์เซ็นต์ และถ้าการวิจัยประสบความสำเร็จ อาจทำให้ mRNA กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการผลิตวัคซีนก็เป็นได้
อุปสรรคสกัดดาวรุ่งการเติบโตของ ‘mRNA’
ถึงแม้การพัฒนาประสิทธิภาพ mRNA จะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่ก็ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้การเติบโตของ mRNA ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด
นักวิจัยบางส่วนมองว่า mRNA ยังมีข้อบกพร่อง และไม่ควรด่วนสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่แท้จริงจนกว่าจะมีผลวิจัยรองรับมากกว่านี้ เพราะยังเกิดผลข้างเคียงรุนแรงกับผู้รับวัคซีนบางส่วน โดยเฉพาะอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocarditis) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ซึ่งความเห็นเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA จะมีผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย และความเชื่อมั่นของคนทั่วไปมากน้อยแค่ไหน?
นอกจากนี้ อุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของ mRNA ไม่ได้มีแค่ประเด็นด้านการวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นด้านธุรกิจด้วย เพราะ Moderna กำลังวางแผนที่จะขึ้นราคาวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 400 เปอร์เซ็นต์ (จากโดสละ 26 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 110-130 ดอลลาร์สหรัฐ) หลังจาก Pfizer ประกาศปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้า
การปรับขึ้นราคาวัคซีนของทั้งสองบริษัท ทำให้หลายคนพยายามสำรวจประเด็นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ยุคขายวัคซีนเชิงพาณิชย์ การปรับราคาให้สอดคล้องกับคุณค่าของวัคซีน การแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัท และบทบาทของภาครัฐที่มีต่อบริษัทยา
ถึงแม้ประเด็นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการปรับขึ้นราคา จะไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพของ mRNA โดยตรง แต่ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างบริษัทยาและสถานพยาบาลที่เป็นหนึ่งในปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพของ mRNA ให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น
ต่อให้เส้นทางการใช้งาน mRNA ในอนาคต ยังไม่มีความแน่นอนในบางประการ แต่ต้องยอมรับว่า mRNA เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติวงการแพทย์ให้ก้าวหน้า และสร้างทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
Sources: https://bit.ly/3ZGz7V0
The WIRED World in 2023