LOADING

Type to search

ปีแห่งการเริ่มเดาใจสายพันธุ์ ‘โควิด’ และตามหาวัคซีน ‘ครอบจักรวาล’

ปีแห่งการเริ่มเดาใจสายพันธุ์ ‘โควิด’ และตามหาวัคซีน ‘ครอบจักรวาล’
Share

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

หาก 2020 คือปีแห่งการปิดเมือง – ปิดประเทศ ส่วน 2021 คือปีแห่งการฉีดวัคซีน และ 2022 เป็นปีของการเปิดประเทศอีกครั้ง …ปี 2023 น่าจะเป็นปีแห่งการคาดการณ์สายพันธุ์โควิด-19 เนื่องจากไวรัสตัวนี้จะไม่หยุดกลายพันธุ์ และยังอยู่กับเราไปอีกนาน

นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ไวรัสชนิดนี้ไม่เคยหยุดวิวัฒนาการ กลายร่างเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา จนมาถึงโอมิครอน จากนั้นจึงแตกสายพันธุ์ย่อยอีกมากมาย โดยสายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ในอเมริกาตั้งแต่ปลายปี 2022 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2023 คือ XBB.1.5 ซึ่งได้ชื่อว่า ‘ติดเชื้อง่ายที่สุด’

หากวิวัฒนาการนี้ยังไม่หยุด รูปแบบวงจรการระบาดของโควิด-19 ในปี 2023 และปีต่อๆ ไป ก็จะไม่แตกต่างกัน คล้ายกับพลวัตของเชื้อโคโรนาไวรัสตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคระบาดมายาวนานหลายสิบปี

ปีท้าทายของนักพัฒนาวัคซีน

อดัม คูชาร์สกี (Adam Kucharski) อาจารย์ด้านระบาดวิทยาแห่งวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนและสุขอนามัยกรุงลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) ระบุว่า 2023 จะเป็นปีแห่งความท้าทายของผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19

เขาอ้างผลการศึกษาในปี 2021 ของศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัตชินสัน ที่พบว่า โคโรนาไวรัสเป็นเชื้อที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้น ภูมิคุ้มกันที่มีมาก่อนหน้าจะลดประสิทธิภาพลงเมื่อต้องเจอกับการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตวัคซีนจึงต้องคอยอัปเดตหัวเชื้อให้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนั้นได้ ทีมนักวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้องคาดการณ์ล่วงหน้าให้ได้ว่า เชื้อที่จะระบาดใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อตัวใดในปัจจุบัน เนื่องจากกระบวนการผลิตและกระจายวัคซีนต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน จึงสามารถอัปเดตวัคซีนใหม่มาใช้ได้ทันการณ์

ยกตัวอย่าง ในช่วงฤดูหนาวปลายปีมักเป็นช่วงที่มีเชื้อไวรัสแพร่ระบาดมากที่สุด แต่การผลิตวัคซีนเพื่อนำมาใช้ป้องกันการระบาด ณ ช่วงเวลานั้น ต้องเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่ครึ่งแรกของปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เชื้อจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร

คาดเดาเพื่อพัฒนาวัคซีนล่วงหน้า

ศาสตราจารย์คูชาร์สกี ยกตัวอย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้อัปเดตปีละ 2 ครั้ง แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตและกระจายวัคซีนต้องใช้เวลา ทำให้ผู้ผลิตต้องตัดสินใจล่วงหน้านานกว่า 6 เดือน เพื่อเลือกว่า วัคซีนที่จะผลิตออกมาควรมีหน้าตาอย่างไร

ในกรณีนี้ ทีมนักวิจัยจะใช้ข้อมูลอันหลากหลายมาทดสอบเพื่อมองหาสายพันธุ์ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง และน่าจะกลับมาระบาดใหม่ เปรียบเทียบกับภูมิคุ้มกันของประชากรในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากคนแต่ละกลุ่มหรือเชื้อชาติ อาจมีภูมิต้านทานแตกต่างกันไป ดังนั้น วัคซีนที่ใช้ในแต่ละประเทศ หรือภูมิภาคจึงอาจแตกต่างกัน

ปี 2023 การคาดเดาสายพันธุ์ไวรัสเพื่ออัปเดตวัคซีนใหม่จะเป็นความท้าทายของผู้ผลิตวัคซีนโควิด เนื่องจากกระบวนการผลิตและกระจายวัคซีนใช้เวลาไม่ต่างจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่

บางประเทศมีการอนุมัติวัคซีนโควิดเพื่อป้องกันสายพันธุ์ ‘โอมิครอน BA.1’ กันไปแล้ว แต่วัคซีนตัวใหม่นี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะสามารถป้องกันสายพันธุ์ XBB.1.5 ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ ที่จะมาในอนาคต

ตามหาวัคซีนครอบจักรวาล

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความแม่นยำของการเดาใจเชื้อไวรัส อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขนาดและความรุนแรงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ด้วย ยกตัวอย่าง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดตามฤดูกาลที่เคยระบาดหนักที่สุด ด้วยขนาดและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้วัคซีนที่ผลิตออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ศาสตราจารย์คูชาร์สกี บอกว่า คือการพยายามคิดค้นวัคซีน ‘ครอบจักรวาล’ ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้หลากหลายสายพันธุ์ในเข็มเดียว วิธีนี้จะช่วยทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องเสียเวลามาอัปเดตวัคซีนใหม่ทุกปี

อย่างไรก็ดี จากประวัติการพัฒนาวัคซีน เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่ผ่านมาพบว่า ความสำเร็จในการผลิตวัคซีน ‘ครอบจักรวาล’ ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าการันตี

ด้วยเหตุนี้ ปี 2023 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของเกมระยะยาวเพื่อหาคำตอบให้กับการคาดเดาสายพันธุ์โควิด รวมถึงการเดินหน้าค้นคว้าวัคซีน ‘ครอบจักรวาล’ และจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายวงการสาธารณสุขโลกมากที่สุดด้วยเช่นกัน

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: The WIRED World in 2023

Tags::

You Might also Like