Type to search

จากโรงงานเป่าแก้ว สู่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก ‘Philips’ แบรนด์ที่ใช้ ‘การสังเกต’ เอาชนะทุกอุปสรรค

November 04, 2022 By Witchayaporn Wongsa
philips

‘ฟิลิปส์’ (Philips) คงเป็นชื่อแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และหากมองไปรอบๆ บ้านก็น่าจะมีผลิตภัณฑ์ของฟิลิปส์อย่างน้อย 1 ชิ้น โดยเฉพาะ ‘หลอดไฟ’ ผลิตภัณฑ์เรือธงของแบรนด์ที่สร้างชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รอย เจค็อบส์ (Roy Jacobs) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟิลิปส์ได้ออกมาเผยว่า บริษัทกำลังวางแผนปลดพนักงานทั่วโลกราว 4,000 คน เพื่อสู้พิษเศรษฐกิจและปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Crisis) ที่ทำให้บริษัทขาดทุนกว่า 1.3 พันล้านยูโร (ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาส 3 ปี 2022

ตัวเลขรายได้ที่ติดลบและการปลดพนักงานของฟิลิปส์สามารถสะท้อนก้าวต่อไปของแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง? Future Trends จะพาทุกคนไปสำรวจเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์กว่า 1 ศตวรรษ และถอดบทเรียนการบริหารงานที่น่าสนใจของ ‘ฟิลิปส์’ พร้อมๆ กัน

ก่อนหน้าที่ฟิลิปส์จะเข้าสู่ภาวะขาดทุนมากกว่า 1 พันล้านยูโร มีสัญญาณที่ส่อเค้าความซบเซาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และการขายกิจการบางส่วนให้กับบริษัทในจีน เพื่อปรับจุดยืนของแบรนด์ไปในทิศทางที่สร้างรายได้มากกว่าอย่าง ‘เทคโนโลยีทางการแพทย์’ หนึ่งในธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทที่น้อยคนจะทราบว่า ฟิลิปส์เป็นผู้เล่นในตลาดนี้ด้วย

ถึงแม้ภาพจำที่หลายๆ คนมีต่อ ‘ฟิลิปส์’ คือการเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก แต่ฟิลิปส์ต้องการสื่อสารกับลูกค้าด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว จึงบุกตลาด ‘สุขภาพ’ และพยายามปั้นแบรนด์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ในปัจจุบัน ฟิลิปส์มีบทบาทเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพมากกว่านั่นเอง

แต่การพาธุรกิจของตัวเองไปอยู่ในน่านน้ำใหม่ๆ หรือการบุกเบิกนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เพื่อสร้างความเหนือชั้นในวงการเทคโนโลยีให้กับแบรนด์ของตัวเอง ไม่ได้เป็นแนวทางการบริหารงานที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เป็นแนวทางที่แฝงอยู่มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อ 131 ปีก่อนแล้ว

Image on philips.com

ย้อนกลับไปในปี 1891 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ‘เฟเดอริก ฟิลิปส์’ (Frederik Philips) และ ‘เจอร์ราร์ด ฟิลิปส์’ (Gerard Philips) สองพ่อลูกจากตระกูลฟิลิปส์มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการที่ภาครัฐสนับสนุนให้หันมาใช้ ‘ไฟฟ้า’ ในการให้แสงสว่างแทน ‘เทียนไข’ และมีความคิดที่จะเปลี่ยนโรงงานเป่าแก้วที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ให้กลายเป็นโรงงานผลิตหลอดไฟ เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในอนาคต

การเปลี่ยนผ่านจากโรงงานเป่าแก้วมาเป็นโรงงานผลิตหลอดไฟ ถือเป็นการบุกเบิกนวัตกรรมชิ้นแรกของบริษัทที่สร้างความสำเร็จได้เป็นอย่างดี เพราะฟิลิปส์น่าจะเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่เข้ามาจับตลาดนี้ และ 10 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท ฟิลิปส์ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ที่มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน เลยทีเดียว

ช่วงที่บริษัทกำลังเติบโตและเริ่มขยายธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ อย่างมีดโกนหนวดไฟฟ้าและวิทยุ เป็นช่วงเวลาเดียวกับการมาของ ‘สงครามโลกครั้งที่ 1’ ที่สร้างความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ แต่ฟิลิปส์พยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และผลักดันสินค้าของตัวเองสู่ตลาดต่างประเทศ ในขณะที่สินค้าจากเยอรมนีถูกแบนจากประเทศฝั่งสัมพันธมิตร

แต่ช่วงเวลาแห่งการเชยชมความสำเร็จก็ไม่ได้อยู่กับฟิลิปส์นานอย่างที่คิด เมื่อ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ให้ผลลัพธ์ในทางตรงข้ามกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะประเทศฝั่งพันธมิตรใช้เครื่องบินระเบิดทำลายโรงงานผลิตวิทยุของฟิลิปส์ เพื่อขัดขวางไม่ให้เยอรมนีนำเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อเป็นอาวุธสงคราม

ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ฟิลิปส์ต้องย้ายฐานการผลิตไปที่สหรัฐอเมริกาและพื้นที่ปลอดสงคราม เพื่อก่อร่างสร้างแบรนด์ใหม่อีกครั้ง ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการบริหารงานของฟิลิปส์เลยก็ว่าได้

Image on thebrandhopper.com

หลังจากที่บริษัทฟื้นตัวจากภาวะสงคราม ผู้บริหารในยุคนั้นจึงเริ่มมองหาโอกาสในการทำธุรกิจ และพบว่า อุตสาหกรรมเพลงกำลังได้รับความนิยม ทำให้ฟิลิปส์กลายเป็นผู้คิดค้นเทปคาสเซ็ตต์เจ้าแรก และต่อมาก็ได้จับมือกับโซนี (Sony) ในการพัฒนาแผ่นซีดี จนสองสิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการเพลงไปโดยสิ้นเชิง

แต่ตลอดเวลาของการทำธุรกิจ ฟิลิปส์ไม่เคยหยุดนิ่งที่ธุรกิจใดเพียงธุรกิจหนึ่ง และมีการขายธุรกิจย่อยๆ ของบริษัท เพื่อเข้าไปซื้อธุรกิจใหม่ๆ หรือขยายธุรกิจเดิมของตัวเองที่ผู้บริหารมองว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทแม่ในอนาคต อย่างการขายธุรกิจค่ายเพลง แล้วนำเงินมาลงทุนในธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้ผู้คนมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้น

เรื่องราวตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ของฟิลิปส์สะท้อนให้เห็นว่า ฟิลิปส์มีไดนามิกไหลไปตามเวลา ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับวิกฤตต่างๆ อยู่เสมอ และหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฟิลิปส์มาโดยตลอดคือ ‘การสังเกต’

ถ้าสองพ่อลูกตระกูลฟิลิปส์ไม่สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐ หลอดไฟฟิลิปส์คงไม่มีทางเกิดขึ้น หรือถ้าผู้บริหารในยุคสงครามโลกไม่สังเกตโอกาสในการทำธุรกิจและกระแสที่เปลี่ยนไป ความเป็นแบรนด์ระดับโลกของฟิลิปส์คงไม่มีทางเกิดขึ้น และทำให้เราได้เรียนรู้ว่า โอกาสที่เข้ามาถึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาจากที่ไหนไกล บางทีแค่การสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว อาจจะทำให้เราพบโอกาสที่รอคอยอยู่ก็เป็นได้

ส่วนทิศทางในอนาคตของ ‘ฟิลิปส์’ หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อว่า ผู้บริหารคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 2 สัปดาห์ จะมีสายตาแห่งการสังเกตเฉียบคม และพาบริษัทก้าวไปในทิศทางที่ปลอดภัยได้หรือเปล่า?

Sources: https://bloom.bg/3fcuNdx

https://philips.to/3SKRu6z

https://bit.ly/3Ncv0tT

https://bit.ly/3DFd5J2

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)