Type to search

ยึดติดกับอดีตที่เป็น ‘ลูกน้อง’ เพราะเป็น ‘หัวหน้า’ มันไม่ง่าย 8 เทคนิคก้าวออกจาก ‘Comfort Zone’ ของผู้นำอายุน้อย

August 17, 2022 By Witchayaporn Wongsa
comfort-zone

98 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนบนโลกยังคงยึดติดใน ‘คอมฟอร์ตโซน’ (Comfort Zone) ของตัวเอง

แล้วคุณล่ะ เป็น 1 ใน 98 เปอร์เซ็นต์ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในคอมฟอร์ตโซน หรือเป็นอีก 2 เปอร์เซ็นต์ที่ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนได้สำเร็จแล้ว?

คำว่า ‘คอมฟอร์ตโซน’ (แปลอย่างตรงตัวก็หมายถึง ‘พื้นที่ปลอดภัย’) เป็นคำที่ได้ยินกันมานานแสนนาน สะท้อนถึงความรู้สึกปลอดภัยจากการทำสิ่งต่างๆ ที่มีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จนมีความชำนาญพอที่จะคาดเดาผลลัพธ์หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี

การมีคอมฟอร์ตโซนไม่ใช่เรื่องผิด แต่คอมฟอร์ตโซนกลับเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ทำให้เราไม่รู้จักการเติบโต ถึงแม้จะอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย แต่คอมฟอร์ตโซนคือกรอบที่ครอบความคิดของเราไว้ว่า ทำสิ่งนั้นแล้วจะดี ทำสิ่งนี้แล้วจะใช่ ถ้าหลุดออกจากกรอบนี้ไป หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้

ความรู้สึกกลัวที่จะออกมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และความยากลำบากในการรับมือกับผลลัพธ์เชิงลบที่เกิดจากการตัดสินใจของตัวเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนซึ่งถือเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะในขณะที่โลกหมุนตามความก้าวหน้าไปไกล แต่โลกของเรากลับเล็กลงทุกวัน

ถึงแม้ว่า หลายๆ คนจะสามารถก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองได้แล้ว แต่ก็ยังมีช่วงเวลาที่หวนนึกถึงอดีตที่เคยมีความสุข และต้องการกลับไปอยู่ในคอมฟอร์ตโซนดังเดิม เพราะผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจไม่ได้ดีอย่างที่คิด คล้ายๆ กับการที่หัวหน้ามือใหม่บางคนคิดถึงช่วงเวลาที่เคยเป็นพนักงานมากความสามารถ แต่พอเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลับทำงานไม่ดีเท่าเดิม จนเกิดคำถามในใจว่า ทำไมการเป็นหัวหน้าถึงได้ยากขนาดนี้?

บิล แฮร์ริสัน (Bill Harrison) อดีตผู้บริหารของ ‘เจพี มอร์แกน’ (J.P. Morgan) สถาบันทางการเงินระดับโลก เผยว่า “การที่คุณพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน จะทำให้คุณเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” ในอดีต แฮร์ริสันก็เป็นคนที่ติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซน เขาพอใจกับหน้าที่การงานของตัวเองอยู่แล้ว แต่เกิดการจับพลัดจับผลูจนได้ไปทำงานที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์หลายๆ อย่าง ถือเป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน

ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมการเป็นหัวหน้าถึงได้ยากขนาดนี้? อาจจะเป็นการที่ตัวหัวหน้าเองยังไม่สามารถพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนได้อย่างสมบูรณ์

เราจึงนำ 8 เทคนิคก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนจากผู้นำ 8 คน 8 สไตล์ที่เข้าร่วม Young Entrepreneur Council (YEC) คอมมูนิตี้ของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกตั้งแต่อายุยังน้อย มาฝากหัวหน้ามือใหม่ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในฐานะหัวหน้า แต่ยังลืมความสำเร็จในฐานะพนักงานมากความสามารถไม่ได้

comfort-zone

1. สร้างการมีส่วนร่วมในที่ประชุม

หัวหน้ามือใหม่จะรู้สึกว่า การนำการประชุมเป็นทักษะปราบเซียน เพราะการประชุมแบบที่ประชุมแล้วได้งานมีดีเทลมากมายที่ต้องใส่ใจ อย่างเวลาที่ใช้ในการประชุม การสื่อสารอย่างเข้าใจกัน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่คนเป็นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป เน้นที่ความเป็นธรรมชาติ แล้วค่อยๆ พัฒนาทักษะของตัวเองให้เก่งขึ้นดีกว่า

2. ยอมรับในความผิดพลาด

หัวหน้าต้องเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวก และมองโลกในแง่ดี กล่าวคือหัวหน้าต้องยอมรับว่า การทำงานเกิดข้อผิดพลาดได้เสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากตัวเอง ลูกทีม หรือปัจจัยอื่นใดก็ตาม เพื่อให้การทำงานในทีมเกิดความราบรื่นและลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้ง

3. กล้าเผชิญหน้ากับบทสนทนาที่ยาก

ถ้าเปรียบเทียบกับการเล่นกีฬา หัวหน้าก็คือโค้ชที่คอยอ่านเกมอยู่นอกสนาม ไม่ใช่คนที่ต้องลงสนามเอง แต่ต้องดึงประสิทธิภาพของนักกีฬาให้ออกมาได้มากที่สุด ดังนั้น ถ้าลูกทีมทำอะไรผิดพลาดก็สามารถตักเตือนหรือแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาได้เสมอ ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความเกรงใจ แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของทีม

4. กล้าที่จะตัดสินใจ

หลายๆ ครั้งการตัดสินใจก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเรากลัวว่า สิ่งที่ตัดสินใจลงไปจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดมากมาย ซึ่งเป็นความจริงอยู่แล้วที่เราต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง ในเมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็แก้ไขกันไป เพื่อเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ และในทางกลับกัน ถ้าเราเลือกที่จะไม่ตัดสินใจอะไรเลย นอกจากจะทำให้งานไม่คืบหน้าแล้ว ยังเป็นการตัดโอกาสในการเรียนรู้ของตัวเองด้วย

5. อย่าหยุดที่จะเรียนรู้

ด้วยความที่โลกหมุนตามก้าวหน้าไปไกล มีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในทุกวินาที สิ่งที่เคยถูกต้องในอดีตอาจจะไม่ถูกต้องแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น คนเป็นหัวหน้าต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอจากการเรียนเสริมทักษะ (Hard Skills & Soft Skills) การขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือเรียนรู้จากสิ่งที่ลูกทีมทำได้ดีกว่าเรา

6. ให้และรับฟีดแบ็กอย่างจริงใจ

ประสิทธิภาพการทำงานของทีมขึ้นอยู่กับการสื่อสารระหว่างกันด้วย หัวหน้ามีสิทธิ์ฟีดแบ็กการทำงานของลูกทีมฉันใด ลูกทีมก็มีสิทธิ์ฟีดแบ็กการทำงานของหัวหน้าฉันนั้น โดยหัวหน้าอาจจะใช้การพูดคุยแบบ 1 ต่อ 1 ในการรับฟีดแบ็กการทำงานของตัวเองอย่างเนียนๆ

7. อ่อนโยนแต่ไม่เปราะบาง

การเป็นหัวหน้าที่อ่อนโยนสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ (Empathy) ถ้าใครเป็นนักอ่านเจ้าประจำของ Future Trends คงทราบดีว่า เป็นที่ประเด็นที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ เพราะมีความสำคัญมากจริงๆ แต่ท้ายที่สุด คนเป็นหัวหน้าจะมีแต่ไม้อ่อนไม่ได้ ต้องมีไม้แข็งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองด้วย

8. มอบหมายงานที่ไม่ถนัดให้ลูกทีมทำ

การมอบหมายงานที่ไม่ถนัด คือการสร้างหมุดหมายใหม่ของการออกจากคอมฟอร์ตโซน เป็นการชาเลนจ์ให้ลูกทีมได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ รวมถึงหัวหน้าเองก็ได้พัฒนาทักษะผ่านการทำงานของลูกทีมด้วย แต่หัวหน้าไม่ควรมอบหมายงานที่ยากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการหมดไฟมากกว่าได้พัฒนาตัวเอง และเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

จริงๆ แล้ว พื้นฐานของการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนเสมอ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติและการตัดสินใจ หากการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเป็นเรื่องยาก ขอให้ลองปรับมุมมองว่า การออกไปทำสิ่งใหม่ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นการขยายคอมฟอร์ตโซนของเราให้กว้างขึ้นกว่าเดิมแทน

Sources: https://bit.ly/3AnGk1l

https://cnb.cx/3AmEjTk

https://bit.ly/3AoFUb2

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)