‘Apple’ ทำยังไงให้ ‘iPhone’ เอาชนะเงินเฟ้อได้ ในวันที่ธุรกิจอื่นซบเซา
เงินเฟ้อ = วิกฤตเศรษฐกิจที่ได้ยินบ่อยที่สุดในปี 2022
ภาวะเงินเฟ้อ เป็นวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ของโลกที่ตั้งแต่เข้าปี 2022 มา เราก็ได้ยินคำนี้ตามสื่อต่างๆ อยู่ตลอด และดูเหมือนว่า จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย เพราะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาสูงถึง 9.1 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงไม่ต่างกัน
เมื่อแต่ละประเทศต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง สิ่งที่ตามมาก็คือการเข้าสู่ ‘ยุคข้าวยากหมากแพง’ ราคาสินค้าพุ่งสูงแต่รายได้ไม่ขยับขึ้นตาม ทำให้คนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยลดลง จนภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ มียอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตลาดสมาร์ตโฟนที่ดูจะซบเซามากกว่าใครเพื่อน
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ยอดขายสมาร์ตโฟนทั่วโลกในไตรมาสสองของปี 2022 ลดลงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตทุกรายที่ได้รับผลกระทบจากการถูกพิษเงินเฟ้อกดดันให้ตลาดซบเซา เพราะ ‘แอปเปิล’ สามารถทำให้ ‘ไอโฟน’ (iPhone) มียอดขายสูงขึ้นแซงหน้าคู่แข่งจากฝั่งแอนดรอยด์ (Android) และสามารถถือครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 17 เปอร์เซ็นต์ จากที่แต่เดิมถือครองอยู่เพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
‘แอปเปิล’ ทำให้ ‘ไอโฟน’ เอาชนะตลาดที่ซบเซาจากพิษเงินเฟ้อได้อย่างไร? เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
แต่ก่อนที่จะไปหาคำตอบเกี่ยวกับกลยุทธ์ของแอปเปิล เราจะพาทุกคนไปสำรวจผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อที่มีต่ออุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนกันก่อน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านบทความนี้ให้สนุกมากขึ้น
พิษเงินเฟ้อภาคประชาชนว่าหนักแล้ว พิษเงินเฟ้อภาคธุรกิจหนักกว่าหลายเท่า
เริ่มกันที่ในมุมของผู้บริโภค ยามที่ราคาของสินค้าทุกประเภทพากันปรับตัวสูงขึ้น เราก็ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการซื้อสินค้าเหล่านั้นในปริมาณเท่าเดิม โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีความสำคัญกับเรื่องปากท้อง และการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ทำให้หลายๆ คนต้องรัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อความอยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้
อีกทั้งในสายตาของผู้บริโภค สินค้าด้านเทคโนโลยีจะถูกเปลี่ยนจาก ‘สินค้าจำเป็น’ เป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ทันที จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดขายในตลาดสมาร์ตโฟนลดลง โดยในมุมของผู้ผลิต ไม่ได้รับผลกระทบแค่เรื่องรายได้ที่น้อยลงเท่านั้น แต่ยังประสบปัญหาจากการที่ต้นทุนการผลิตอย่างค่าขนส่งและราคาชิปปรับตัวสูงขึ้นด้วย
เนื่องจาก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในปีนี้ คือการที่โควิด-19 ฝากรอยแผลขนาดใหญ่เอาไว้ด้วยการทำให้ซัพพลายเชน (Supply Chain) ของโลกถูกตัดขาด จนวัตถุดิบขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการผลิตให้ทันต่อความต้องการ มิหนำซ้ำ ยังมีวิกฤตใหญ่ของโลก ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการใช้นโยบายซีโร่ โควิด (Zero COVID) ของจีน มาตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาด้านซัพพลายเชนให้รุนแรงมากขึ้นอีก
และการที่ยอดขายสมาร์ตโฟนมีแต่จะปรับตัวลดลง บริษัทผู้ผลิตคงต้องออกมาแก้เกมอย่างหนัก เพื่อระบายสต็อกที่ยังคงค้างอยู่ในคลังสินค้า ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการจัดโปรโมชันสุดโหดอย่างการตัดราคาลงกว่าครึ่ง หรือการผ่อนชำระ 0 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาที่นานขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าไอทีและสมาร์ตโฟนในช่วงนี้ได้ประโยชน์มากขึ้น จากการแก้เกมของบริษัทผู้ผลิต
กลยุทธ์ของ ‘แอปเปิล’ ที่ทำให้ ‘ไอโฟน’ ยืนหนึ่งท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อรุนแรงคืออะไร?
การทำธุรกิจในยุคที่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แอปเปิลก็สามารถทำให้สินค้าเรือธงของตัวเองที่มีราคาสูงมากๆ อย่าง ‘ไอโฟน’ เอาชนะสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้ได้ โดยที่เราจะมาวิเคราะห์กลยุทธ์ที่แอปเปิลใช้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1. พลิกวิกฤตจากนโยบาย ‘ซีโร่ โควิด’ ให้เป็นโอกาส
การที่รัฐบาลจีนบังคับใช้นโยบายซีโร่ โควิดอย่างเข้มงวด ถือเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับธุรกิจที่มีฐานการผลิตในจีน โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งแอปเปิลก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และได้รับผลกระทบด้านการผลิตอย่างหนัก จนทำให้รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2022 ลดลงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่แอปเปิลก็ไหวตัวทัน และย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามแทน ทำให้บริษัทค่อยๆ ฟื้นจากวิกฤตด้านการผลิตขึ้นมาได้ ในขณะที่คู่แข่งจากฝั่งแอนดรอยด์สัญชาติจีนอย่างเสียวหมี่ (Xiaomi) ออปโป (Oppo) และวีโว่ (Vivo) ยังไม่สามารถฟื้นจากวิกฤตได้ เพราะมีฐานการผลิตหลักในจีน
และถ้าต้องการตีเหล็กก็ต้องตีตอนที่ยังร้อน ช่วงเวลาที่คู่แข่งกำลังอ่อนแอ คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะถือครองความได้เปรียบในตลาด ซึ่งแอปเปิลก็คงคิดเช่นนั้น ทำให้ในช่วงที่มีการจัดงาน WWDC เป็นประจำของทุกปี แอปเปิลได้เปิดตัวไอโฟน 13 สีเขียว เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกค้า และช่วงชิงพื้นที่สื่อของตัวเอง
2. ช่วงชิงพื้นที่สื่อเก่งไม่เป็นสองรองใคร
ด้วยความที่แอปเปิล เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่โลดแล่นในวงการธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งแคแรกเตอร์ของผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง ‘สตีฟ จ็อบส์’ (Steve Jobs) ก็ยังฉายชัดอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ว่า แอปเปิลจะทำอะไร หรือเปิดตัวสินค้าชิ้นไหนออกมาก็เป็นที่พูดถึงได้เสมอ
อีกทั้งตารางการจัดอีเวนต์ใหญ่ เพื่อเปิดตัวสินค้าและเทคโนโลยีสุดล้ำของแอปเปิลที่มี 3 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ต้นปี กลางปี และปลายปี ทำให้ตลอดทั้งปี แอปเปิลมีสิ่งที่ทำให้เป็นที่พูดถึงบนพื้นที่สื่ออยู่ตลอด เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อาจจะมีการจัดอีเวนต์ใหญ่เพียง 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น
3. ‘Apple Ecosystem’ หมัดฮุกเอาชนะใจผู้บริโภค
Apple Ecosystem ที่สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ทั้งหมดของแอปเปิลที่เรามีไว้ด้วยบัญชีไอคลาวด์ (iCloud) เพียงบัญชีเดียว และ ‘แอร์ดรอป’ (Airdrop) ระบบการส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานอุปกรณ์ของแอปเปิล ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้แอปเปิลเหนือคู่แข่งมาโดยตลอด เพราะความสะดวกและรวดเร็วในการส่งข้อมูลตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจริงๆ
ทำให้หลายๆ คนที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยใช้ไอโฟนมาก่อน แต่กำลังใช้สินค้าเรือธงอื่นๆ ของแอปเปิลอย่างแม็กบุ๊ก (Macbook) และไอแพด (iPad) อยู่ อาจจะเริ่มตัดสินใจเปลี่ยนมือถือที่ใช้งานอยู่มาเป็นไอโฟนสักเครื่อง เพราะคำถึงการใช้ Apple Ecosystem ในระยะยาวด้วย
และกว่าที่กลยุทธ์เหล่านี้ จะพาให้แอปเปิลมาถึงความสำเร็จได้ ต้องเกิดการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่เราเชื่อว่า กลยุทธ์ที่แอปเปิลใช้ เพื่อเอาชนะภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา คงเป็นบทเรียนธุรกิจที่มีประโยชน์กับใครหลายๆ คนอย่างแน่นอน
แล้วทุกคนคิดว่า กลยุทธ์ของ ‘แอปเปิล’ ที่ทำให้ ‘ไอโฟน’ สามารถยืนหนึ่งในวงการสมาร์ตโฟนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อรุนแรงยังมีอะไรอีกบ้าง?
Sources: https://cnb.cx/3PIrkA8
https://bit.ly/3RQvVSF
https://bit.ly/3cyhfaJ
https://bit.ly/3cB3RCM