‘เปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นชัยชนะ’ ด้วยเทคนิค MTO กับการตั้งเป้าหมายให้สำเร็จได้จริง ผ่านการแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับ!

เชื่อว่าในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงคาดหวังถึงการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ให้กับตัวเองในปีต่อๆ ไป ไม่มากก็น้อย อย่างเช่น ออกกำลังกายทุกวัน อ่านหนังสือให้ได้เดือนละเล่ม หรือลงทุนให้มากขึ้น
แต่ทว่า เมื่อเดือนมกราคมมาถึง ความเป็นจริงกลับปลุกเราออกจากความฝัน! ทั้งงานที่ยุ่งเกินบรรยาย สภาพอากาศที่ไม่ค่อยเป็นใจ หรือจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจในประเทศก็ตาม จนสุดท้าย เราก็ยอมแพ้ให้กับเป้าหมายที่เคยวาดฝันไว้
แล้วถ้าอยากตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ต้องไม่ทำให้รู้สึกผิดเมื่อไม่สามารถทำได้ 100% ล่ะ จะเป็นไปได้ไหมนะ? ถ้าอยากรู้คำตอบล่ะก็ ลองใช้ ‘เทคนิค MTO’ พิสูจน์ดูสิ
นักวิจัยด้านการจัดการพบว่า การตั้งเป้าหมายแบบเดิมๆ อาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดให้กับเราได้ เช่น
– ทำให้โฟกัสอยู่แค่เป้าหมายจนละเลยด้านอื่นของชีวิต
– กดดันตัวเองจนสูญเสียความสุข
– ลดแรงจูงใจจากภายในเพราะมัวแต่ไล่ตามเป้าหมายที่ดูเป็นรูปธรรมเกินไป
ตัวอย่างง่ายๆ คือ การตั้งเป้าว่าจะออกกำลังกายทุกวัน แต่เมื่อวันไหนพลาดไปหนึ่งครั้ง เรากลับรู้สึกผิดและท้อ จนสุดท้ายก็เลือกที่จะล้มเลิกความตั้งใจทั้งหมด ซึ่งนี่คือกับดักของ The Dreaded Binary หรือการมองเป้าหมายแค่ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’ เท่านั้น
เรย์มอนด์ แอรอน (Raymond Aaron) โค้ชและนักเขียนชื่อดัง ได้นำเสนอแนวคิด MTO ซึ่งช่วยให้การตั้งเป้าหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดความกดดันลง โดยการแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. Minimum (ขั้นต่ำสุดที่ทำได้)
สิ่งที่สามารถทำได้อย่างแน่นอนตามพฤติกรรมเดิมๆ ของตัวเอง เช่น หากเราเป็นนักขายที่ปกติขายได้ 7 ชิ้นต่อเดือน เป้าหมายขั้นต่ำของเราอาจเป็นการรักษายอดขายระดับนี้เอาไว้
2. Target (เป้าหมายหลักที่ท้าทายขึ้นเล็กน้อย)
สิ่งที่สูงกว่าขั้นต่ำเล็กน้อย แต่ยังสามารถเอื้อมถึงได้ เช่น นักขายคนเดิมตั้งเป้าให้ขายได้ 9 ชิ้นในเดือนนี้
3. Outrageous (เป้าหมายสุดโต่งที่ดูเกินจริง)
สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่หากทำได้จะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เช่น การกลายเป็นเซลส์ที่มียอดขายสูงสุดในบริษัท
[ ทำไม MTO ถึงได้ผล? ]
ไม่กดดันเกินไป – เป้าหมายขั้นต่ำทำให้เรารู้สึกว่ามีความก้าวหน้าเสมอ
สร้างแรงผลักดัน – เมื่อเราใกล้ถึงเป้าหมาย Target เราจะพยายามให้ถึง Outrageous โดยอัตโนมัติ
ช่วยเสริมความมั่นใจ – ไม่ว่าจะไปถึงระดับไหน ก็ถือเป็นความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Oliver Burkeman นักเขียนชื่อดังที่ตั้งเป้าให้ตัวเองเริ่มเขียนตอน 10 โมงเช้าทุกวัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้ง่ายมาก แต่เมื่อเขาทำสำเร็จแล้ว เขารู้สึกมีพลังงานบวก และมักจะเขียนได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้
การตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปอาจทำให้เราท้อ และล้มเลิกความพยายามกลางทาง แต่ MTO Technique จะเปลี่ยนวิธีคิดของเราใหม่ โดยให้เป้าหมายเป็นเรื่องของ ‘ความก้าวหน้า’ แทนที่จะเป็นแค่ ‘สำเร็จหรือล้มเหลว’
หากใครที่กำลังรู้สึกท้อแท้กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี ลองเปลี่ยนมาใช้ MTO ดูสิ ไม่แน่ เราอาจจะพบว่า ความสำเร็จอยู่ใกล้กว่าที่คิดก็ได้นะ!
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkAndLife
Source:
How to Set Goals You’ll Stick With: The MTO Technique