Type to search

ถอดกลยุทธ์ 29 ปี ‘โปเกมอน’ แฟรนไชส์มูลค่าสูงที่สุดในโลก

February 27, 2025 By Kim

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1996 Pokémon Red & Green เปิดตัวครั้งแรกบน Game Boy ในญี่ปุ่น มันคือเกม RPG ที่ให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นเทรนเนอร์ออกเดินทางเพื่อจับและฝึกฝนโปเกมอน โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเกมนี้จะจุดประกายกลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลก

ตลอดระยะเวลา 29 ปี Pokémon ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกม แต่มันกลายเป็นแฟรนไชส์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ครอบคลุมทุกสื่อ ตั้งแต่วิดีโอเกม การ์ตูน การ์ดเกม ภาพยนตร์ ไปจนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ แม้เวลาจะผ่านไป แต่ Pokémon ยังคงรักษาความนิยมไว้อย่างเหนียวแน่นและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
บทความนี้ Future Trends จะพาไปวิเคราะห์ กลยุทธ์การบริหารแบรนด์ของ Pokémon ที่ทำให้พวกเขากลายเป็น IP ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

[ จากเกม 8-bit สู่จักรวาลแห่งมูลค่า 5 ล้านล้านบาท ]

ในปี 1996… พวกเรากำลังตื่นเต้นกับการมาของ Pokémon Red & Green บนเครื่อง Game Boy เป็นเกมที่พัฒนาโดย Game Freak และเผยแพร่โดย Nintendo มันคือเกมแนว RPG ที่ให้เด็กๆ ได้สวมบทบาทเป็นโปเกมอนเทรนเนอร์ ออกเดินทาง จับโปเกมอน ฝึกฝน และต่อสู้เพื่อเป็น ‘โปเกมอนมาสเตอร์’

ไม่มีใครคาดคิดว่า เกมบนเครื่องพกพานี้จะเติบโตจนกลายเป็น Intellectual Property (IP) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่ารวมกว่า 147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงจาก Voronai – The World’s Top Media Franchises by All-Time Revenue (2024) ซึ่งมีมูลค่าแซงหน้าทุกแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น Mickey Mouse, Star Wars หรือแม้แต่ Marvel เองก็ตาม

แน่นอนว่าความสำเร็จของ Pokémon ไม่ได้มาจากโชคช่วย ทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากกลยุทธ์การบริหารแบรนด์ที่เฉียบคม และการทำตลาดที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร?

1️⃣ Multi-Platform Ecosystem – แบรนด์ที่มี ‘จักรวาล’ เป็นของตัวเอง

ถ้าคุณคิดว่า Pokémon เป็นแค่ ‘เกม’ คุณคิดผิด! Pokémon เป็น ระบบนิเวศของแบรนด์ (Brand Ecosystem) ที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกันทุกช่องทาง ทั้งเกม การ์ตูน สินค้า และภาพยนตร์ ทุกสิ่งเชื่อมต่อกันหมด!

ลองจินตนาการว่าคุณเป็นแฟนคลับ…

⭐ คุณเริ่มต้นด้วยการดู Pokémon Anime ในวัยเด็ก

⭐ โตขึ้นมา เล่นเกม Pokémon Scarlet & Violet บน Nintendo Switch

⭐ คุณสะสมการ์ด Pokémon TCG และซื้อฟิกเกอร์ของ Pikachu

⭐ เดินเล่นในสวนสาธารณะ พร้อมเปิด Pokémon GO จับโปเกมอน

⭐ ซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังที่จับมือกับ Pokémon

Multi-Platform Ecosystem ระบบนี้ช่วยให้แฟนๆ มีหลายทางเลือกในการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ทำให้ Pokémon เป็นแฟรนไชส์ที่เข้าถึงได้หลากช่องทางไม่เพียงแต่แค่เกมเท่านั้น

2️⃣ Nostalgia + New Audience – เล่นกับความคิดถึง แต่ไม่ทิ้งคนรุ่นใหม่

Pokémon มีแกนกลางที่แข็งแกร่งคือ ‘Nostalgia’ หรือ การเล่นกับความทรงจำในวัยเด็ก

คุณอาจเคยเห็นเด็กวัยรุ่นใส่เสื้อโปเกมอน หรือผู้ใหญ่ที่ยังเล่น Pokémon GO สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นกลยุทธ์ที่ออกแบบมาแล้ว Pokémon รู้ว่าคนรุ่นใหม่จะโตขึ้น และคนรุ่นเก่าจะยังจดจำมันได้ ดังนั้น…

⭐ พวกเขาออกแบบเกม Pokémon Let’s Go Pikachu! ที่นำเกมภาคแรกมาทำใหม่ เพื่อให้แฟนยุค 90s กลับมาเล่น แต่ก็โอบกอดระบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น

⭐ เปิดตัว การ์ดโปเกมอน 151 ที่เป็นโปเกมอนชุดแรก เพื่อให้แฟนคลับเก่าสะสม

⭐ ภาพยนตร์ Detective Pikachu สร้างขึ้นมาเพื่อตีตลาดใหม่ๆ

ผลลัพธ์คือ แฟนคลับไม่หายไปไหน แถมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

3️⃣ Innovation & Risk-Taking – ไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง

โปเกมอนไม่ใช่แบรนด์ที่ยึดติดกับ ‘สูตรเดิม’ แต่พวกเขา กล้าเสี่ยง และปรับตัวตลอดเวลา

ลองดู Pokémon GO …

⭐ ไม่มีใครคิดว่าเกม AR (Augmented Reality) จะทำให้คนทั่วโลกออกไปจับโปเกมอนได้ แต่ Pokémon ทำได้! ภายในปีแรก Pokémon GO ทำรายได้ไปมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จนถึงทุกวันนี้มันยังเป็นหนึ่งในเกมมือถือที่ทำเงิน และสร้างประสบการณ์เติมเต็มความฝันให้เด็กหนวดทุกคนเป็นโปเกมอนเทรนเนอร์ได้

หรือ Pokémon Sleep …

⭐ เกมที่ผสานการนอนหลับเข้าไว้กับการเล่นเกม นี่คือการบุกเบิกตลาดสุขภาพ ที่น่าสนใจมากสำหรับคนยุคใหม่ Pokémon กล้าคิดนอกกรอบ และพร้อมทดลองสิ่งใหม่เสมอ นี่คือเหตุผลที่แบรนด์ไม่เคยหยุดนิ่ง

4️⃣ Licensing & Collaborations – เปลี่ยนแบรนด์ให้เป็นไลฟ์สไตล์

Pokémon ไม่ใช่แค่เกม แต่เป็นสไตล์การใช้ชีวิต (Lifestyle Brand) พวกเขารู้ว่า แฟนๆ ไม่ได้แค่เล่นเกมโปเกมอน… แต่พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของมัน ดังนั้น Pokémon จึงเปิดให้แบรนด์อื่นๆ มาร่วมมือ เช่น

⭐ Uniqlo ทำเสื้อโปเกมอนลิมิเต็ด

⭐ McDonald’s แจกของเล่นโปเกมอน

⭐ Balmain ทำรองเท้าลายโปเกมอนสุดหรู

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ Pokémon เข้าถึงทุกกลุ่มคน ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่

5️⃣ Protecting the IP – ควบคุมและปกป้องลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด

โปเกมอนเข้าใจดีว่า ‘ชื่อเสียงของแบรนด์’ คือทุกสิ่ง ดังนั้น พวกเขาจึงเข้มงวดกับ การปกป้องลิขสิทธิ์ (IP Protection) มาก ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

⭐ ฟ้องร้องบริษัทจีนที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า

⭐ สั่งแบนเกมเลียนแบบ เช่น Palworld ที่ใช้แนวคิดใกล้เคียง

⭐ จัดการเรื่องลิขสิทธิ์ใน NFT เพื่อป้องกันการนำโปเกมอนไปใช้ผิดวิธี

การปกป้องแบรนด์ช่วยให้ Pokémon ยังคงมีคุณค่าและความน่าเชื่อถือเสมอ

6️⃣ Branding & Consistency – ทำให้ทุกคนจำได้ว่านี่คือโปเกมอน

Pokémon มี DNA ของแบรนด์ ที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งปรากฏออกมาในรูปแบบของ

⭐ โลโก้สีเหลืองกับฟอนต์เฉพาะตัว

⭐ มาสคอต Pikachu ที่กลายเป็นไอคอนระดับโลก

⭐ เพลงธีมหลัก เช่น Gotta Catch ‘Em All! ที่ติดหูทุกคน

ทุกองค์ประกอบของ Pokémon เชื่อมโยงกันหมด ทำให้แบรนด์นี้ไม่มีวันถูกลืม พร้อมทั้งการทำ Branding อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีปีไหนเลยที่โปเกมอนหยุดการอัปเดตไปเฉยๆ ดังนั้น ความสม่ำเสมอเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถครองใจคนได้ทั่วโลก

👑 Pokémon คือกรณีศึกษาของการบริหารแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จากเกมในเครื่อง Game Boy สู่แฟรนไชส์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก Pokémon พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้เก่งเพราะโชคช่วย แต่มันคือความสำเร็จจากกลยุทธ์และความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง

🎯 พวกเขาสร้าง Brand Ecosystem ที่ครอบคลุมทุกช่องทาง

🎯 ใช้ Nostalgia ดึงแฟนเก่ากลับมา พร้อมขยายไปยังคนรุ่นใหม่

🎯 กล้าที่จะ Innovate และ Risk-Taking เสมอ

🎯 จับมือกับแบรนด์ระดับโลก ทำให้ Pokémon เป็น Lifestyle

🎯 ปกป้องลิขสิทธิ์ เพื่อรักษามูลค่าแบรนด์

วันนี้ Pokémon ไม่ใช่แค่เกม แต่มันคือ ‘อาณาจักรแห่งความทรงจำ’ ที่คนทั่วโลกหลงรัก และนี่คือบทเรียนสำคัญของการบริหารแบรนด์ ที่ธุรกิจใดๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ 🔥

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์